ความต้องการแร่ลิเทียมในตลาดโลกเติบโตต่อเนื่อง ตามตลาดยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในภาคไฟฟ้าพลังงานสะอาด
จากคุณสมบัติของลิเทียมที่สามารถถ่ายโอนประจุไฟได้ดีและน้ำหนักเบา จึงทำให้ลิเทียมเป็นตัวเลือกที่ต้องนำมาใช้ผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการแพร่หลายมากขึ้นของความต้องการแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและการกักเก็บพลังงานในภาคไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยขยายตัวถึงราว 60% ต่อปีในช่วงปี 2020-2023 มาอยู่ที่ราว 1 ล้านตันในปี 2023 และคาดว่าจะยังมีความต้องการมากขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ราว 3.5 ล้านตันในปี 2030 สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ของโลกโดยรวมที่จะมีความต้องการแบตเตอรี่ไม่น้อยกว่า 18,000 GWh
ห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่ประเทศ
หากพิจารณาผู้เล่นหลักในตลาดเอเชียแปซิฟิก (APAC) จะพบคู่แข่งสำคัญ 3 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลียผลิตเหมืองลิเทียมเป็นอันดับหนึ่ง และกำลังฝ่าข้อจำกัดของอุตสาหกรรมแปรรูป จีนครอบงำห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่ โดยการเป็นผู้นำด้านการแปรรูปลิเทียมและการสร้างความร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ทั้งในส่วนของทรัพยากรลิเทียมและส่วนผู้ผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีจุดเด่นเรื่องของทรัพยากรแร่นิกเกิลและโคบอลต์ ซึ่งเป็นแร่สำคัญนอกเหนือจากลิเทียม ที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่
แม้ว่าความต้องการลิเทียมจะเติบโตสูง แต่ภาวะอุปทานส่วนเกินส่งผลให้ราคาลิเทียมปรับตัวลดลงในปี 2023 และทรงตัวในระดับต่ำในช่วงปี 2024-2026
สภาวะตลาดลิเทียมที่มีการเร่งผลิตและอุปทานแร่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมากในปี 2022 ส่งผลให้ราคาลิเทียมคาร์บอเนตลดลงอย่างรวดเร็วจาก 70,000-80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เหลือราว 13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วงปลายปี 2023 และคาดว่าระดับราคาเฉลี่ยในปี 2024-2026 จะอยู่ที่ราว 12,000-13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากแรงกดดันของตลาดที่ยังคงมีอุปทานส่วนเกินเหลืออยู่ (Excess supply)
สำหรับโอกาสทางธุรกิจในไทย SCB EIC ประเมินว่าความคุ้มค่าในการลงทุนเหมืองไปจนถึงการแปรรูปลิเทียมในเชิงธุรกิจในแหล่งทรัพยากรแร่ของไทยยังไม่น่าสนใจในปัจจุบัน ทั้งจากราคาลิเทียมคาร์บอเนตที่อยู่ในระดับต่ำ ประเด็นเรื่อง ESG และการแข่งขันจากใน APAC
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไทยได้มีการค้นพบทรัพยากรแร่ 14.8 ล้านตัน ประกอบไปด้วยลิเทียมออกไซด์ราว 6.6 หมื่นตัน ซึ่งสามารถผลิตลิเทียมคาร์บอนเนตได้ราว 1.64 แสนตัน การค้นพบนี้นับเป็นโอกาสต่ออุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทย อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายที่ต้องพิจารณาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความคุ้มค่าในการลงทุนเหมืองลิเทียมจนถึงแปรรูปเป็นลิเทียมคาร์บอเนตซึ่งยังมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน (คาดว่า IRR จะอยู่ที่ราว 7% ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินที่ราว 8%) จากราคาลิเทียมคาร์บอเนตที่อยู่ในระดับต่ำที่ราว 13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน กอปรกับประเด็นเรื่อง ESG ที่การทำเหมืองจะกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยยังต้องศึกษาถึงผลกระทบในเชิงลึกก่อนตัดสินใจลงทุนอีกมาก รวมไปถึงประเด็นการแข่งขันกับคู่แข่งหลักในตลาด APAC ที่มีความได้เปรียบทางการค้าค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามเรื่องความคุ้มค่าทางการเงินและต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม และภาวะการแข่งขันของตลาดลิเทียมในระดับสากล การลงทุนโครงการเหมืองแร่ลิเทียมในไทยอาจมีความน่าสนใจขึ้น หากภาครัฐต้องการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ขึ้นมาในประเทศไทย หรือผู้ประกอบการที่ผลิตแบตเตอรี่ในไทยต้องการเสริมความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานของตน หรือมีการค้นพบแร่หายากและแร่มีค่าอื่น ๆ ในแหล่งแร่ลิเทียมด้วย ซึ่งต้องอาศัยมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ มาตรการทางภาษี และมาตรการสนับสนุนทางการเงิน
ทำไมแร่ลิเทียมถึงมีความสำคัญ?
การพัฒนาแบตเตอรี่ตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถูกขับเคลื่อนจากความต้องการแบตเตอรี่ประเภทที่มีประสิทธิภาพสูงในการจ่ายไฟฟ้าสำหรับใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและภาคการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ ตลาดยังต้องการแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักเบาและขนาดเล็กด้วย ซึ่งก็หนีไม่พ้นการเลือกใช้แร่ธาตุที่มีคุณสมบัติการถ่ายโอนประจุไฟฟ้าได้ดีและต้องมีน้ำหนักเบา โดยลิเทียมมีคุณสมบัติดังกล่าวอยู่ในลำดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับแร่อื่น ๆ และส่งผลให้แบตเตอรี่ที่ใช้ส่วนประกอบของลิเทียม อย่างลิเทียมไอออนแบตเตอรี่จะมีประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้าสูง นอกจากนี้ ความสามารถในการเก็บพลังงานก็ทำได้นาน จากคุณสมบัติเฉพาะของลิเทียมที่ช่วยให้การสูญเสียพลังงานอัตโนมัติของแบตเตอรี่ต่ำ (Very-low self-discharge) ทั้งนี้คุณสมบัติการถ่ายโอนอิเล็กตรอนสูงของลิเทียมเหมาะสมที่จะเป็นขั้วลบ (Cathode) ในแบตเตอรี่ ดังแสดงในรูปที่ 1 โดยลิเทียมจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบของสารประกอบลิเทียมคาร์บอเนต หรือสารประกอบลิเทียมไฮดรอกไซด์มาผสมและประกอบเป็นขั้วลบ (Cathode) ของแบตเตอรี่ และในอนาคตหากมีการพัฒนา Solid state battery ได้ในเชิงพาณิชย์ ลิเทียมจะเป็นส่วนสำคัญเพิ่มเติมในองค์ประกอบของแบตเตอรี่ที่เป็นขั้วบวก (Anode) ด้วย โดยเทคโนโลยีปัจจุบัน สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพการจ่ายไฟที่ 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จำเป็นต้องใช้ ลิเทียมคาร์บอเนต หรือ Lithium Carbonate equivalence (LCE) ราว 1.6-4 กิโลกรัม
จากคุณสมบัติการกักเก็บไฟฟ้าได้นานและการจ่ายไฟฟ้าได้ดี ทำให้ลิเทียมไอออนแบตเตอรี่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเป็นระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ในภาคการผลิตไฟฟ้า ทำให้ความต้องการในแร่ลิเทียมจึงเติบโตตามความต้องการลิเทียมไอออนแบตเตอรี่ ที่ได้อานิสงส์จากตลาด EV และ ESS ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน In focus : แบตเตอรี่ Game changer ของพลังงานสะอาด...ไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร?) ทั้งนี้ในปี 2030 คาดว่าความต้องการลิเทียมของโลกอาจมีมากถึง 2.3 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีไม่ถึงหนึ่งล้านตัน (รูปที่ 2)
นอกเหนือจากคุณสมบัติของแร่ลิเทียมที่มีความสำคัญต่อการผลิตแบตเตอรี่แล้ว ในแง่ของต้นทุน จะพบว่าต้นทุนของลิเทียมคาร์บอเนตมีสัดส่วนสูงกว่าแร่ธาตุอื่น ๆ ในการผลิตแบตเตอรี่ เนื่องจากแร่ลิเทียมจัดเป็นแร่หายากที่จะมีสัดส่วน
ส่วนในแหล่งแร่ธรรมชาติน้อยเมื่อเทียบกับแร่ธาตุอื่นที่มักพบได้มากกว่า ดังรูปที่ 3 (คาดการณ์ว่าในช่วงที่ราคาลิเทียมคาร์บอเนตผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ในปี 2024-2030 ลิเทียมก็ยังคงมีสัดส่วนต้นทุนสูงที่สุด ราว 13-18%)
ใครมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของแร่ลิเทียมจนถึงการผลิตแบตเตอรี่?
จีนเป็นผู้ที่มีบทบาทเป็นอย่างมากตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ทั้งในอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ การแปรรูป การผลิตส่วนประกอบของแบตเตอรี่ และการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ขณะที่ประเทศอย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำ ยังคงต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมต้นน้ำจากประเทศอื่น เช่น จีน ชิลี อาร์เจนตินา
ห่วงโซ่อุปทานสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำ และส่วนปลายน้ำ โดยส่วนต้นน้ำจะให้ความสำคัญกับการทำเหมืองแร่เพื่อสกัดแร่ธาตุและการแปรรูปแร่ธาตุที่องค์ประกอบของแบตเตอรี่ ส่วนกลางน้ำจะเกี่ยวข้องกับการผลิตส่วนประกอบของแบตเตอรี่ ได้แก่ ขั้วลบ (Cathode) ขั้วบวก (Anode) อิเล็กโทรไลต์ และตัวแยก/แผ่นกันประจุ ส่วนปลายน้ำจะเป็นขั้นตอนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่
ในการพิจารณาศักยภาพของการเป็นผู้ผลิตต้นน้ำ สำหรับแร่ลิเทียมจะดูจากปริมาณของแร่ใน 2 มิติ คือ 1. ปริมาณทรัพยากรลิเทียม (Lithium resource) คือ ปริมาณแร่ลิเทียมที่มีอยู่ (โดยประมาณ) และ 2. ปริมาณลิเทียมสำรอง (Lithium reserve) คือ ปริมาณแร่ลิเทียมที่สามารถสกัดได้และพิจารณาแล้วว่าคุ้มค่าที่จะสกัดออกมาในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในมิติหลังนี้ มักจะนำมาใช้พิจารณาศักยภาพในการผลิตแร่ลิเทียมมากกกว่า
ทั้งนี้ปริมาณลิเทียมสำรองทั่วโลกในปี 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 28 ล้านตัน โดยชิลีจะเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดที่มีปริมาณลิเทียมสำรองมากถึง 9.3 ล้านตัน หรือ 34% ของปริมาณทั่วโลก (โดยส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะสารประกอบของเกลือลิเทียม) อันดับสอง คือ ออสเตรเลีย ซึ่งมีสัดส่วนราว 22% (โดยลิเทียมของออสเตรเลียจะถูกสกัดมาจากหินแร่ ทำให้สามารถส่งออกแร่ลิเทียมได้ง่าย) อันดับรองลงมา คือ อาร์เจนตินา จีน และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ (รายละเอียดตามรูปที่ 5)
จากปริมาณลิเทียมสำรองข้างต้น ทำให้เกือบ 90% ของการผลิตของเหมืองลิเทียมทั่วโลกกระจุกตัวอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ชิลี และจีน โดยการผลิตเหมืองลิเทียมในปี 2023 อยู่ที่ 180,000 ตัน เพิ่มขึ้นราว 90% จากในปี 2018 ที่ 95,000 ตัน (+14% CAGR) ซึ่งออสเตรเลียมีส่วนแบ่งการผลิตไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของการผลิตทั่วโลก3
สำหรับการแปรรูปลิเทียม หรือการแปลงแร่ลิเทียมเป็นลิเทียมคาร์บอเนต/ลิเทียมไฮดรอกไซด์ ก็มีการกระจุกตัวอยู่ในบางประเทศเช่นกัน โดยในปี 2022 จีน ชิลี และอาร์เจนตินามีการแปรรูปฯ รวมคิดเป็น 96% ของการแปรรูปฯ ทั่วโลก ซึ่งสัดส่วนที่สูงของจีนเกิดจากการนำเข้าแร่ลิเทียมจากออสเตรเลียเข้ามาแปรรูปนั่นเอง
สำหรับกิจกรรมกลาง-ปลายน้ำของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ จีนถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีประสิทธิ ภาพที่ดีที่สุดสำหรับการผลิตส่วนประกอบและเซลล์แบตเตอรี่ อันดับรองลงมาคือเกาหลีใต้ ส่วนญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาได้อันดับที่สามร่วมกัน
ภูมิทัศน์การแข่งขันของตลาดแร่สำหรับแบตเตอรี่
ในตลาด APAC ผู้เล่นที่โดดเด่นในการแข่งขันในการผลิตแร่สำหรับแบตเตอรี่นั้น คือ ออสเตรเลีย จีน และอินโดนีเซีย โดยออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตเหมืองลิเทียมรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่มีข้อจำกัดในการแปรรูปลิเทียม โดยปัจจุบันออสเตรเลียพยายามที่จะพัฒนาความสามารถในการแปรรูปลิเทียมในประเทศ ขณะที่จีนมีการครองห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่ โดยการเป็นผู้นำด้านการแปรรูปลิเทียมและสร้างความร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ทั้งส่วนต้นน้ำ (ทรัพยากรลิเทียม) และปลายน้ำ (แบตเตอรี่และผู้ผลิตรถยนต์) ส่วนอินโดนีเซียตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดเด่นด้านการผลิตนิกเกิลและโคบอลต์ซึ่งเป็นแร่อีกประเภทหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่
ออสเตรเลีย : ความต้องการที่จะมีบทบาทที่มากขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน
แม้ว่าออสเตรเลียจะเป็นผู้ผลิตเหมืองลิเทียมรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่ออสเตรเลีย ก็ยังเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ประมาณ 0.5% ของมูลค่าสูงสุดของตลาดลิเทียมเท่านั้น ซึ่งมูลค่าอีก 99.5% ของลิเทียมถูกจ่ายให้กับคู่ค้าของออสเตรเลียในการเพิ่มมูลค่าให้กับแร่ลิเทียม โดยเฉพาะจีน (ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของออสเตรเลีย โดยในปี 2022-2023 ออสเตรเลียส่งออกแร่ลิเทียมไปจีนสูงถึง 98% ของปริมาณแร่ลิเทียมทั้งหมดของออสเตรเลีย4) ผ่านการแปรรูปลิเทียมจนนำไปสู่การผลิตส่วนประกอบและเซลล์แบตเตอรี่
ขีดความสามารถที่จำกัดในการแปรรูปลิเทียมของออสเตรเลีย มาจากปัจจัยหลักสองประการ คือ 1. ต้นทุนการผลิตที่สูง อันเกิดจากทั้งค่าแรงและต้นทุนการก่อสร้างโรงงานแปรรูปลิเทียมไฮดรอกไซด์ในออสเตรเลียที่ยังสูง โดยสูงกว่าจีนถึงราว 2.5 เท่า และ 2. ตลาดภายในประเทศที่มีขนาดเล็กสำหรับผลิตภัณฑ์ขั้นปลายอย่าง EV โดยตลาดที่เล็ก ทำให้ปริมาณการผลิตต่ำ ยังผลให้ต้นทุนต่อหน่วยยิ่งสูง (Diseconomies of scale) ยิ่งกว่านั้น จากปัจจุบันที่มีการแข่งขันและการกีดกันในต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ที่มีการเสนอเครดิตภาษีเงินคืนสำหรับการซื้อ EV ที่ผลิตในแหล่งท้องถิ่น ทำให้ฐานการผลิตรถ EV กลับไปสู่สหรัฐฯ ดังเห็นได้จากฟอร์ด จีเอ็ม (โฮลเดน) และโตโยต้ามีการปิดฐานการผลิตในออสเตรเลียไปแล้ว
จากความท้าทายดังกล่าว รัฐบาลออสเตรเลียจึงได้พัฒนายุทธศาสตร์แร่ธาตุที่สำคัญปี 2023-2030 เพื่อยกระดับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแปรรูปและการผลิตแร่ธาตุที่สำคัญ โดยเริ่มจากผลักดันโรงงานแปรรูปลิเทียมไฮดรอกไซด์ 3 แห่งใหม่ ซึ่งกำลังดำเนินการหรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะผลิตลิเทียมไฮดรอกไซด์ที่แปรรูปแล้วได้สูงถึง 89 กิโลตันภายในปี 2024-20254 ซึ่งถ้าออสเตรเลียทำได้ตามแผนก็จะสามารถควบรวมการทำเหมืองเข้ากับการแปรรูปได้สำเร็จ และจะมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนที่แข็งแกร่งในสายตาของผู้ผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ EV มากขึ้น
จีน : การควบรวมแนวดิ่ง (Vertical integration) และการครอบงำห่วงโซ่อุปทาน
แม้ปริมาณลิเทียมสำรองของจีนจะมีสัดส่วนเพียงแค่ 11% ของโลก (กอปรกับลิเทียมที่สกัดในจีนส่วนใหญ่มาจากสารประกอบของเกลือลิเทียมและบางส่วนจากหินแร่ ซึ่งมักจะมีคุณภาพต่ำ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในการทำเหมืองแร่กับออสเตรเลียและชิลีได้) แต่จีนยังคงครองส่วนแบ่งตลาดในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน โดยผู้ผลิตจีนได้สร้างความร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ทั้งส่วนต้นน้ำต่อเนื่องจนถึงปลายน้ำ
ในส่วนของอุตสาหกรรมต้นน้ำ บริษัทจีนได้ลงทุนและเข้าซื้อกิจการบริษัททรัพยากรลิเทียมทั่วโลก อีกทั้ง ยังลงนามในสัญญาจัดหาวัตถุดิบตั้งต้นลิเทียมไว้อีกด้วย โดยในปี 2025 จีนคาดว่าจะพึ่งพาแหล่งแร่ลิเทียมจากการนำเข้าราว 60% (นำเข้าจากออสเตรเลียและลาตินอเมริกา) และแหล่งในประเทศ 40% สำหรับกำลังการผลิตลิเทียมคาร์บอเนตทั้งหมด ส่งผลให้จีนมีวัตถุดิบในการแปรรูปลิเทียมได้จำนวนมาก และกลายเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในแง่ของการแปรรูปลิเทียมในปัจจุบัน โดยมีส่วนแบ่งตลาดที่ราว 70% ของกำลังการผลิตทั่วโลก (ข้อมูล ณ ปี 2020 จีนมีกำลังการผลิตสูงถึง 370,000 ตัน)
สำหรับอุตสาหกรรมปลายน้ำ ผู้ผลิตแบตเตอรี่และผู้ผลิตรถยนต์ของจีนปกติแล้วจะลงนามในสัญญาการจัดหาเป็นระยะเวลา 3-5 ปีกับผู้แปรรูปลิเทียม นอกจากนี้ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ บางรายยังมีการซื้อบริษัทผลิตวัตถุดิบด้วย เช่น CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV มีการถือหุ้นในบริษัทผู้ผลิตลิเทียมทั้งหมดสามราย เช่น North American Lithium
ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังมีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (ประมาณการส่วนแบ่งตลาด 45% ของอุปสงค์ทั่วโลกในปี 2025 ) ดังนั้น แม้ว่าจะมีอุปสรรคทางการค้าที่ทำให้จีนไม่สามารถส่งออกได้ (เช่น การส่งออกไปยุโรปและอเมริกาเหนือที่มักถูกกีดกันทางการค้าจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม) แต่ความต้องการภายในประเทศก็มีมากเพียงพอที่จะสร้างความได้เปรียบทางการผลิตของห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่
อินโดนีเซีย : เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ในการผลิตแบตเตอรี่ แร่ที่สำคัญนอกเหนือจากลิเทียม คือ แร่นิกเกิลและโคบอลต์ ซึ่งแม้ว่าอินโดนีเซียจะไม่มีเหมืองลิเทียมเป็นของตัวเอง แต่อินโดนีเซียเป็นแหล่งแร่นิกเกิลและโคบอลต์ที่สำคัญของโลก ซึ่งถือว่าเป็นจุดดึงดูดห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่และ EV โดยอินโดนีเซียมีปริมาณแร่นิกเกิลสำรองและการผลิตเหมืองนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดของโลก อยู่ที่ 1.8 ล้านตัน คิดเป็นครึ่งหนึ่งของการผลิตนิกเกิลทั่วโลก3) และมีปริมาณการทำเหมืองโคบอลต์เป็นอันดับสอง ที่ 17,000 ตัน (รองจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งเป็นอันดับหนึ่งที่ 170,000 ตัน3)
ทั้งนี้อินโดนีเซียเคยเป็นผู้ส่งออกนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่รัฐบาลได้สั่งห้ามการส่งออกนิกเกิลที่ยังไม่แปรรูปในปี 2020 เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ นอกจากนี้ อินโดนีเซียกำลังสร้างโรงงานแปรรูปลิเทียมและโรงงานผลิต Anode เพื่อรองรับระบบนิเวศสำหรับการผลิตแบตเตอรี่อีกด้วย โดยโรงงานลิเทียมไฮดรอกไซด์ที่ถูกสร้างขึ้นจะมีกำลังการผลิตที่ 60,000 ตัน และโรงงานผลิต Anode จะมีกำลังการผลิต 80,000 ตัน ทั้งนี้อินโดนีเซียตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ 140 GWh ในปี 2030 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการตั้งเป้าหมายจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 1 ล้านคันภายในปี 2035
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของอินโดนีเซีย คือ การเติบโตของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยความต้องการแบตเตอรี่ในอินโดนีเซียยังต่ำเช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาค เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ายังคงมีราคาแพงสำหรับประชากรโดยส่วนใหญ่ แม้รัฐบาลได้ออกนโยบายทางภาษีเพื่อจูงใจแล้วก็ตาม
แนวโน้มตลาดแร่ลิเทียมและทิศทางราคาจะเป็นอย่างไร?
การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผู้เล่นที่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่องทำให้ปัจจุบันลิเทียมอยู่ในภาวะ Excess supply เนื่องจากแร่ลิเทียมที่ผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการลิเทียบมคาร์บอเนตในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มเติบโตในอัตราเร่งที่ลดลง และคาดว่าจะภาวะ Excess supply ของตลาดลิเทียมจะยังคงอยู่เป็นเวลาหลายปี โดยคาดว่าราคาลิเทียมคาร์บอเนตในปี 2024-2026 จะเริ่มกลับมาทรงตัวในกรอบ 12,000-13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงจากในช่วงที่เคยแตะระดับสูงสุดที่ 70,000-80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2022
ทั้งนี้ในช่วงก่อนหน้า ราคาเฉลี่ยของลิเทียมระหว่างปี 2018 – 2021 จะอยู่ราว 13,000-14,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากนั้นในปี 2022 ความต้องการแบตเตอรี่ในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ราคาของลิเทียมคาร์บอเนตพุ่งสูงขึ้นไปถึงระดับ 70,000-80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ด้วยราคาที่พุ่งขึ้นสูงทำให้ผู้พัฒนาเหมืองเร่งผลิตแร่ลิเทียมเข้าสู่ตลาดมากขึ้น อีกทั้ง ยังมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการสำรวจแร่ลิเทียม รวมถึงการเพิ่มและขยายโครงการเหมืองแร่ จนในปี 2023 ความต้องการลิเทียมคาร์บอเนตเริ่มเติบโตในอัตราเร่งที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณลิเทียมที่เร่งผลิตออกมาก่อนหน้านี้มีปริมาณเกินความต้องการของตลาด จึงเกิด Excess supply จากความต้องการลิเทียมที่อยู่ราว 9 แสนตัน ในขณะที่อุปทานอยู่ที่ 1.149 ล้านตัน ดังแสดงในรูปที่ 7 ผู้พัฒนาเหมืองแร่ลิเทียมบางส่วนจึงมีการทยอยขายแร่ในสต็อก (Destocking) และลดกำลังการผลิตลง ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยทั้งปี 2023 ของลิเทียมคาร์บอเนตลดลงเหลือประมาณ 33,892 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
จากสภาพตลาดในปัจจุบันที่อยู่ในภาวะ Excess supply และคาดว่าจะกระทบต่อราคาลิเทียมในอนาคตเช่นกัน โดยราคาของทั้งลิเทียมคาร์บอเนตและลิเทียมไฮดรอกไซด์ในช่วงปี 2024-2026 คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับในช่วงปลายปี 2023 ที่ราว 12,000-13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ดังแสดงในรูปที่ 8
SCB EIC ประเมินว่ามูลค่าตลาดลิเทียมคาร์บอเนตจะมีแนวโน้มที่ต่ำกว่าในอดีต จากในปี 2023 ที่มีมูลค่าตลาดลิเทียมสูงถึง 3.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากราคาเฉลี่ยของลิเทียมคาร์บอเนตที่สูงราว 33,892 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทว่าในปี 2024-2026 SCB EIC คาดว่าราคาลิเทียมจะถูกกดดันให้อยู่ในระดับต่ำที่เฉลี่ยราว 12,000-13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทำให้ในปี 2024 มูลค่าตลาดจะลดลงมากกว่า 50% มาอยู่ที่ระดับ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่มูลค่าตลาดของลิเทียมคาร์บอเนตจะทยอยเพิ่มขึ้นในปี 2025-2026 ดังแสดงในรูปที่ 9
ดังนั้น ผู้พัฒนาเหมืองลิเทียมโดยเฉพาะผู้พัฒนาแหล่งแร่ใหม่ต้องประเมินความคุ้มค่าของการลงทุน โดยคำนึงถึงทิศทางราคาที่มีแนวโน้มต่ำลงหากมีการผลิตในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ขณะที่ผู้ผลิตเดิมที่เคยผ่านช่วงราคาสูงสุดในปี 2022 มาแล้ว ควรต้องกลับมาพิจารณา Margin เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเพิ่มหรือลดกำลังการผลิตลง
หนึ่งโอกาสกับหลากหลายความท้าทายที่ต้องทบทวนของอุตสาหกรรมลิเทียมไทย
การค้นพบทรัพยากรลิเทียม (Lithium resource) ประมาณ 66,000 ตัน นับเป็นโอกาสในการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบส่วนต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
จากข้อมูลการเผยแพร่ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้แจ้งข่าวการค้นพบแหล่งทรัพยากรแร่ในไทยล่าสุดคาดว่าจะมีปริมาณแร่ถึง 14.8 ล้านตัน ซึ่งเป็นทรัพยากรแร่เลพิไดโลท์ที่มีลิเทียมอยู่ราว 0.45% หรือลิเทียมออกไซด์อยู่ราว 6.6 หมื่นตัน โดยหากไทยนำมาสกัดและแปรรูป ไทยจะสามารถผลิตลิเทียมคาร์บอนเนตได้ราว 1.64 แสนตัน หรือสามารถนำมาเป็นองค์ประกอบในการผลิตแบตเตอรี่ได้ราว 40-100 GWh (หรือเทียบเท่ากับการนำแบตเตอรี่ไปผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ราว 6 แสนคัน-1.6 ล้านคัน และหากไปผลิต Energy Storage System (ESS) สำหรับการผลิตไฟฟ้าจะสามารถสำรองพลังงานเพื่อจ่ายไฟฟ้าได้ 40-100 GWh)
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางโอกาส ยังมีความท้าทายในการลงทุนอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะ 1. ประเด็นในแง่ความคุ้มค่าในการลงทุน จากแรงกดดันของราคาลิเทียมคาร์บอเนตที่อยู่ในกรอบต่ำที่ 12,000-14,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน กอปรกับการลงทุนใหม่ต้องใช้เทคโนโลยีราคาสูงในการทำเหมืองแร่และแปรรูปที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสสูงที่ผลตอบแทนจากการลงทุนจะอยู่ในระดับต่ำ (การประเมิน IRR เบื้องต้นของโครงการใหม่อาจอยู่ที่เพียง 7% ) 2. ประเด็นด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อพัฒนาโครงการ ทำให้ยังดูไม่คุ้มค่าในการลงทุน และ 3. ประเด็นด้านการแข่งขันและความได้เปรียบเชิงการค้าของไทย ที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งในทุกห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยเฉพาะจาก จีน ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย
1. ประเด็นด้านความคุ้มค่าการลงทุนในเหมืองลิเทียมใหม่และกระบวนการแปรรูปลิเทียม ยังมีความท้าทายหลายประการที่ต้องนำมาพิจารณา ทั้งต้นทุนทางการเงินและต้นทุนเทคโนโลยี โดยเฉพาะช่วงที่ต้นทุนทางการเงินสูง (ดอกเบี้ยเงินกู้/ความคาดหวังจากผู้ถือหุ้นสูง) ก็จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนโครงการใหม่ไปด้วย ทั้งนี้หากพิจารณาในส่วนของเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบันที่ไทยยังไม่มีเทคโนโลยีของตนเอง และต้องเลือกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน ออสเตรเลีย และอเมริกา โดยหากดูจากลิเทียมที่มีลักษณะเดียวกันกับที่ค้นพบในไทยอย่างแร่เลพิโดไลต์ (Lepidolite) ไปจนถึงการแปรรูปจนได้เป็นลิเทียมคาร์บอเนตสำหรับผลิตแบตเตอรี่ (กลางน้ำ) ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากออสเตรเลียหรือจากจีนเข้ามาติดตั้งเพื่อผลิตในไทย ตั้งแต่เทคโนโลยีการทำเหมืองมาเป็นสารประกอบลิเทียม ไปจนถึงการนำไปแปรรูปเป็นลิเทียมคาร์บอเนต
จากข้อมูลแหล่งแร่ข้างต้น SCB EIC ได้ทำการประเมินความคุ้มค่าการลงทุนโครงการเหมืองลิเทียมใหม่นี้ จากสมมติฐานตามข้อมูลเทคโนโลยีการผลิตทั้งในส่วนของเหมืองลิเทียม (การทำเหมือง) และกระบวนการแปรรูปและปรับปรุงสภาพให้เป็นเกรดสำหรับผลิตแบตเตอรี่ (การแปรรูป) ดังรูปที่ 11
จากการประเมินความคุ้มค่าการลงทุน หากมีต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยและผลตอบแทนที่คาดหวัง) ราว 8% จะพบว่าที่ราคาขาย 13,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ณ เดือนมกราคม 2024) ยังดูไม่น่าสนใจลงทุน ด้วย IRR ที่ 7% ต่ำกว่าดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนคาดหวัง โดยราคาขายลิเทียมคาร์บอเนตที่คาดว่าจะคุ้มค่าการลงทุน ต้องไม่ต่ำกว่า 14,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งจะมี IRR ราว 9% ดังรูปที่ 12 ดังนั้น หากพิจารณาราคาขายในปัจจุบันและจากการคาดการณ์ที่ราคาเฉลี่ยในกรอบ 12,000-13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทำให้โครงการยังดูไม่น่าสนใจลงทุนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การประเมินความคุ้มค่าการลงทุนนอกจากปัจจัยทางการเงินแล้ว ควรพิจารณาถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสจากทั้งสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงพื้นที่ที่จะทำเหมืองว่ามีกิจการหรือมีต้นทุนที่ต้องเสียประโยชน์อะไรบ้าง โดยหากพิจารณาถึงพื้นที่ก่อสร้างเหมืองทั้งสองแหล่ง ทั้งแหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม ที่ ต.ท่าอยู่ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา จะพบว่ามีบริเวณใกล้เคียงเป็นชุมชน และใกล้จุดท่องเที่ยวที่เป็นจุดชมวิวฝั่งทะเลอ่าวพังงาด้วย หากนำต้นทุนเรื่องค่าเสียโอกาสของพื้นที่มาพิจารณาด้วย คาดว่าจะทำให้ต้นทุนโครงการ (Capex) และต้นทุนการดำเนินงาน (Opex) สูงขึ้นอีก และจะส่งผลให้ IRR ของโครงการลดลง (Downside risk) อีกจากเดิมที่ IRR ราว 7-8% ก็จะยิ่งทำให้โครงการลดความน่าสนใจลงตามไปด้วย
2. ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) ในการทำเหมืองลิเทียม ยังต้องได้รับการยืนยันทางการแพทย์และการศึกษาสำหรับผลกระทบเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจในระยะยาว จากอดีตในหลาย ๆ เหมือง ทั้งในจีน และในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ที่สิ่งแวดล้อมและชุมชนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการเกษตรและการปนเปื้อนของลิเทียมในน้ำดื่ม
หลาย ๆ ประเทศที่ทำเหมืองลิเทียม จะพบว่ามีการปนเปื้อนของลิเทียมในแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ เช่น น้ำบาดาล (Ground water) แม่น้ำ (Surface water) และน้ำดื่ม (Drinking water) ยกตัวอย่าง เหมืองลิเทียม ใน Ganzizhou Rongda ประเทศจีน ที่พบว่ามีการปนเปื้อนของลิเทียมในแม่น้ำ (Surface water) ส่งผลให้ปลาในแม่น้ำตายผิดปกติ และยังพบว่ามีวัวในภาคเกษตรบางส่วนล้มตายจากการดื่มน้ำในแม่น้ำบริเวณใกล้เหมือง รวมถึงเหมืองลิเทียมในประเทศกลุ่มอเมริกาใต้อย่าง อาร์เจนตินา โบลิเวีย และชิลี ก็พบการปนเปื้อนของลิเทียมในแม่น้ำ (Surface water) สูง และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตาม จากปริมาณลิเทียมที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำบริเวณใกล้เหมืองที่จะกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก ว่าปริมาณของลิเทียมในแหล่งใดและปริมาณเท่าใดจะก่อให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งแน่นอนว่าโครงการใหม่ ๆ จะมีแรงกดดันในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นจากกระแสด้านสิ่งแวดล้อม การตระหนักรู้ของประชาชน ตลอดจนนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เข้มงวดขึ้น ในปัจจุบัน
ส่วนความท้าทายด้านธรรมาภิบาลต้องยอมรับว่ามีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทั้งเรื่องการเมือง และภาครัฐที่จะมีการกำกับดูแลและปฏิบัติเกี่ยวกับจรรยาบรรณในเรื่องธรรมาภิบาลที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันภาครัฐมีการตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น โดยจะมีประกาศจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำเหมืองแร่อย่างมีธรรมาภิบาล และในส่วนของการดำเนินงานโครงการก็มีความทันสมัยและโปร่งใส ทั้งการขออนุญาตและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งจะเป็นข้อกำหนดและกรอบให้ทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐได้ทำงานอย่างมีธรรมาภิบาล
3. ประเด็นเรื่องการแข่งขันและความได้เปรียบเชิงการค้า ปริมาณแร่ลิเทียมที่ค้นพบในไทยถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณแร่ที่พบในประเทศอื่น ดังที่ได้กล่าวไปในหัวข้อภูมิทัศน์การแข่งขันของตลาดแร่สำหรับแบตเตอรี่ ดังนั้น ค่อนข้างยากหากไทยจะแข่งขันการส่งออกแร่ที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป และหากจะแข่งขันด้านการแปรรูปก็ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงจากจีน ที่ถือว่าเป็นผู้ครองตลาดการแปรรูปลิเทียมมาอย่างยาวนาน รวมถึงออสเตรเลียที่พยายามจะผลักดันอุตสาหกรรมการแปรรูปในประเทศด้วย ซึ่งทำให้ทั้งสองประเทศนี้มีความได้เปรียบด้านต้นทุนเป็นอย่างมาก ส่วนอินโดนีเซียแม้จะไม่ได้เป็นคู่แข่งในตลาดแร่ลิเทียมโดยตรง แต่จากจุดเด่นเรื่องของทรัพยากรแร่นิกเกิลและโคบอลต์ ทำให้อินโดนีเซียยังคงเป็นผู้เล่นที่ต้องจับตามองในแง่ของการลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ใหม่สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นส่วนของธุรกิจปลายน้ำ
อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามเรื่องความคุ้มค่าทางด้านการเงิน ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น และการแข่งขันของตลาดลิเทียมในระดับสากล การลงทุนโครงการเหมืองแร่ลิเทียมในไทยอาจมีความน่าสนใจมากขึ้น หาก...
1. ภาครัฐต้องการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ขึ้นมาในประเทศไทย สำหรับป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ซึ่งจะลดการนำเข้าแร่ลิเทียมจากต่างประเทศและหันมาเพิ่มการพึ่งพาตัวเอง โดยทางหน่วยงานรัฐอาจส่งเสริมการลงทุนโดยใช้ Tax incentive เพื่อจูงใจการลงทุนได้ด้วย 2. ผู้ประกอบการที่ผลิตแบตเตอรี่ในไทยต้องการเสริมความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานของตน โดยการควบรวมกิจการเหมืองแร่ลิเทียมไปจนถึงผลิตแบตเตอรี่ (ต้นน้ำ-ปลายน้ำ) ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้และช่วยให้มีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง และ 3. มีการสำรวจและค้นพบแร่หายากและแร่มีค่าอื่น ๆ ที่มักจะพบในแหล่งแร่ลิเทียมด้วย ซึ่งจะช่วยให้สามารถเพิ่มรายได้ของโครงการเหมืองได้นอกเหนือจากการขายเพียงแค่ลิเทียม เช่น แร่ลูบิเดียมและซีเซียม (ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักราว 0.2-1% ของทรัพยากรแร่) หรือ ซิลิกอนและอะลูมิเนียม (มีสัดส่วนสูงราว 50% และ 20% ของทรัพยากรแร่ตามลำดับ )
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/lithium-280324
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
จิรวุฒิ อิ่มรัตน์ (jirawut.imrat@scb.co.th) นักวิเคราะห์อาวุโส
สริยา พันธุหงส์ (sariya.pantuhong@scb.co.th) นักวิเคราะห์
ข่าวเด่น