ซีเอสอาร์-เอชอาร์
กรุงไทยรักเกาะปู วิถีชุมชนรักษ์ยั่งยืน


 จากท่าเรือแหลมกรวด จังหวัดกระบี่ “เรือหัวโทง” อัตลักษณ์แห่งท้องทะเลอันดามัน แล่นลอยลำกลางท้องทะเล 30 นาที ก่อนเทียบท่าบนผืนแผ่นดินที่ยังคงความบริสุทธิ์สวยงามของธรรมชาติ  และวิถีชีวิตชาวเลดั้งเดิม ท่ามกลางเชื้อชาติและวัฒนธรรมหลากหลาย อบอุ่นด้วยความโอบอ้อมอารีของผู้คน

 
“เกาะปู” ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ชุมชนเกาะปูมีอายุยาวนานกว่า 200 ปี  แบ่งเป็น 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านเกาะปู หมู่บ้านเกาะจำ และหมู่บ้านติงไหร ชาวบ้านส่วนใหญ่ เป็นชาวไทยมุสลิมและไทยพุทธ  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ทำสวนยางพารา ทำผ้าบาติก พื้นที่โดยรอบเกาะมีทัศนียภาพสวยงาม อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่หลากหลาย อาทิ ป่าชายเลน ต้นมะพร้าว หญ้าทะเล หอยชักตีน ปลิงทะเล เกาะปูจึงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบบรรยากาศเงียบสงบ  ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาพักผ่อนที่เกาะปูเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
 
ด้วยศักยภาพที่โดดเด่นของชุมชนเกาะปู ธนาคารกรุงไทย จึงนำโมเดลต้นแบบจากการดำเนินโครงการ UNDP กรุงไทยรักเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการ “กรุงไทยรักชุมชนเกาะปู” เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองและเติบโตอย่างเข้มแข็งในทุกมิติ พร้อมรองรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างสมดุล  โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีที่เชี่ยวชาญ
    
 
 
มิติสังคม (Social) ธนาคารนำจุดแข็งทางด้านการเงิน มาถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการด้านความรู้ทางการเงิน ปลูกฝังวินัยการออม (Financial Literacy) ให้นักเรียนโรงเรียนบ้านเกาะปู พร้อมต่อยอดไปสู่การจัดกิจกรรมให้กลุ่มชาวบ้าน เรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการหนี้สิน การเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน 
    
 
จากการติดตามประเมินผลพบว่า ชาวบ้านที่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายมีความภูมิใจที่ออมเงินได้มากขึ้น  และนำไปต่อยอดการลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ โดยธนาคารสนับสนุนการเลี้ยงปลิงทะเลจำนวน 4,000 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ พร้อมให้ความรู้การบริหารจัดการบัญชี  ร่วมวางแนวทางการบริหารจัดการกองทุน และถ่ายทอดองค์ความรู้ใน มิติธรรมาภิบาล (Governance) ให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลิงทะเลดำเนินงานด้วยความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้านในการพัฒนารูปแบบคอกเลี้ยงปลิง โดยปรับใช้ตาข่ายที่มีความถี่มากขึ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและป้องกันการหลุดรอด ใช้ระยะเวลาเลี้ยง 1 ปี ปลิงทะเลจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 1 กิโลกรัม 
 
 
ชาวบ้านนิยมนำมาตากแห้ง เนื่องจากมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 5,000 บาท ส่วนราคาขายสดตัวละ 100 -200 บาท  แต่หากนำมาประกอบอาหารเป็นเมนูต่างๆ จะเพิ่มมูลค่าและสร้างอัตลักษณ์ทางอาหารพื้นถิ่น 
 
 
 
ซึ่งธนาคารได้ร่วมกับ ณรงค์ฤทธิ์ แซ่ซอ หรือเชฟอิน อินฟลูเอนเซอร์ด้านอาหารพัฒนาสูตรและรังสรรค์เมนู อาทิ เมนูชักจะรัก กระทงทองสองเกลอ ลัดเลาะเกาะปู มรกตอันดามัน ต้มส้มหมึกเกลียวเหลียวหลัง โดยใช้ปลิงทะเลและหอยชักตีนเป็นวัตถุดิบชูโรง พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เชฟชุมชน ช่วยยกระดับและส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านอาหาร  
   
 
 
นอกจากนี้ ในเชิงศิลปหัตถกรรม ธนาคารวางแผนต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติจากพืชท้องถิ่นที่ติดเนื้อผ้าได้คงทน ทดแทนสีย้อมเคมี เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้เสริม ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
 
 
มิติสิ่งแวดล้อม จิตอาสาของธนาคารกรุงไทย (VVE Vayu Volunteer) ร่วมปลูกหญ้าทะเลจำนวน 15,000 ต้น ให้เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะหอยชักตีน ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวประมงในพื้นที่ รวมถึงเป็นแหล่งฟักไข่ตัวอ่อน  ของปลิงทะเล พร้อมร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการพัฒนา “เกาะปูโมเดล” โดยในปี 2566 ได้จัดเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ และสำรวจพื้นที่บริเวณทิศตะวันตกของเกาะ มีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมในการวางปะการังเทียมโดมทะเล (Sea dome) หรือซั้งปลา และได้ถ่ายทอดให้ชาวบ้านลงมือทำโดมทะเล เพื่อนำองค์ความรู้มาต่อยอดการดูแลบำรุงรักษาในระยะยาว และขยายผลเป็นอาชีพสร้างรายได้สู่ชุมชน 
   
 
โดยนวัตกรรมโดมทะเลทำจากปูนซีเมนต์สูง ประมาณ 1.2 เมตร รูปทรงโดมฐานเปิด  ลักษณะเป็นรูพรุน เพื่อเป็นที่ยึดเกาะของแนวปะการัง มีพื้นที่หลบภัยกว้างขวาง เหมาะเป็นแหล่งอนุบาลเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นตู้เสบียงชุมชนที่มีต้นทุนต่ำแต่เกิดประโยชน์สูงสุด
 
 
นอกจากนี้ ยังป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ดี  โดยจิตอาสาของธนาคารกรุงไทย (VVE Vayu Volunteer) ร่วมกับผู้แทนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครูและนักเรียน โรงเรียนบ้านเกาะปู ผู้แทนจากอำเภอเหนือคลอง และชาวบ้านเกาะปู ร่วมกันนำปะการังเทียมโดมทะเลจำนวน 60 โดม วางกระจายครอบคลุมพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อให้ชาวบ้านทราบแนวเขตการทำประมงชายฝั่งบริเวณโดยรอบซั้งปลา ป้องกันปัญหาการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ทำลายระบบนิเวศ 
 
 
ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องออกเรือไปไกลจากชายฝั่ง ลดต้นทุนจากการใช้น้ำมัน ลดมลภาวะ และมีส่วนร่วมในการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
   
 
 
“เกาะปูเริ่มเป็นจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติแบบดั้งเดิม  หลังจากที่ธนาคารกรุงไทยได้เข้ามาช่วยดูแล ชาวบ้านในชุมชนเกาะปูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลายด้าน บางครัวเรือนที่ไม่เคยมีเงินเก็บ ได้เรียนรู้การทำบัญชีรับจ่าย ก็รู้จักประหยัดอดออมจนมีเงินเหลือเก็บในบัญชี  อาหารพื้นถิ่นที่ชาวบ้านเคยทำขายได้จานละ 50 บาท หลังจากเชฟอินได้พัฒนาเมนู ปรับปรุงรสชาติให้คงที่ สอนตกแต่งจานอาหารให้ดูสวยงาม สามารถเพิ่มมูลค่าให้ขายได้ราคาสูงขึ้น นักท่องเที่ยวติดใจรสชาติจนกลายเป็นเมนูประจำ
 
 
หญ้าทะเลที่นำมาปลูกเริ่มเติบโตเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำขนาดเล็กและการเพิ่มขึ้นหอยชักตีน ซึ่งชุมชนมีแผนจะต่อยอดให้เป็นจุดท่องเที่ยวแบบ Go Green  และที่สำคัญคือ การวางโดมทะเลหรือซั้งปลา เพราะปลาคือ ทรัพยากรสำคัญของชาวประมงพื้นบ้านที่มีเรือขนาดเล็ก เดิมทีเคยมีการวางปะการังเทียม แต่อยู่ห่างไกลจากเกาะ ส่วนใหญ่เรือพาณิชย์จะได้ประโยชน์ แต่การวางซั้งปลาของธนาคารกรุงไทยมีการสำรวจพื้นที่ๆ เหมาะสม เรือประมงพื้นบ้านสามารถออกไปหาปลาได้ในระยะใกล้ คาดว่า ในระยะยาวจะมีพันธุ์ปลาชุกชุมขึ้น ชาวบ้านสามารถหาปลาได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องออกเรือไปไกล ส่วนในเรื่องของขยะซึ่งเป็นปัญหาสะสมมาหลายสิบปี ธนาคารได้ให้ความรู้เรื่อง การคัดแยกขยะที่มีมูลค่าสามารถนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ ส่วนขยะที่ต้องกำจัดได้หาแนวทางบริหารจัดการอย่างถูกวิธี ไม่ให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาภูมิทัศน์ที่สวยงามของเกาะเอาไว้ให้ลูกหลานได้ดูแลต่อไป” นายสำราญ ระเด่น กำนันตำบลเกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง เล่าด้วยความภูมิใจ
 
 
 
“กรุงไทยรักชุมชนเกาะปู” ภาพสะท้อนการทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงไทยกับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อส่งเสริมให้โครงสร้างระดับรากแก้วของประเทศมีความเข้มแข็งในทุกมิติ  สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงบนพื้นฐานของความพอเพียง ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล  พร้อมส่งมอบคุณค่าและความภาคภูมิใจสู่คนรุ่นต่อไป โดยพัฒนาต่อยอดบ้านเกิดให้คงอยู่อย่างยั่งยืนด้วยความรักชุมชน สามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้คนในชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างการเติบโตให้กับทุกภาคส่วนของสังคม ตามวิสัยทัศน์  “กรุงไทยเคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน”

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 เม.ย. 2567 เวลา : 17:55:14
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 1:26 pm