ปัจจุบันสังคมไทยกำลังเผชิญกับภาวะสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) หรือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องมีการเตรียมการรับมือในหลายด้าน รวมถึงด้านการเงินที่จากข้อมูลพบว่าสถานการณ์ทางการเงินของคนไทยวัยเกษียณอยู่ในภาวะเปราะบางอันเกิดจากการขาดความรู้และทักษะด้านการเงิน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ริเริ่มโครงการ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้”
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับองค์กรและหน่วยงานพันธมิตร เตรียมกลุ่มวัยใกล้เกษียณและหลังเกษียณ เข้าถึงความรู้และเข้าใจการวางแผนและการจัดสรรเงินออมเพื่อเกษียณได้อย่างเหมาะสม ผ่านรูปแบบกิจกรรม ผสมผสานทฤษฎีและฝึกปฏิบัติ วางเป้าหมาย เตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงาน “จาก Aged Society สู่ Happy Young Old” เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 เพื่อนำเสนอแนวคิดหลากหลายแง่มุมแก่ผู้ที่เตรียมเกษียณหรือเกษียณแล้ว ต้องตระหนักและเตรียมการ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ภาครัฐและพันธมิตรร่วมแรงกันในการเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชน โดยได้รับเกียรติจากผู้ร่วมเสวนาหลากหลายองค์กรร่วมให้ความเห็น
สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ : ความท้าทายและการเตรียมรับ
เปิดเวทีด้วย แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยสู่สังคมสูงอายุ ภาครัฐได้จัดนโยบายและโครงการต่างๆ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สวัสดิการสำหรับผู้ที่ต้องการภาวะพึ่งพิงและผู้ดูแล และกำหนดนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับคนสูงวัยคือ ทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพที่ดี การเงินที่ดี เป็นกลุ่ม Active aging ที่เข้าสังคมได้ เริ่มเตรียมความพร้อมด้านการเงิน เช่น การออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ การให้ความรู้การออมตั้งแต่ยังไม่เกษียณ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมให้มีงานทำหากยังสามารถทำงานได้ การปลดภาระหนี้สิน และการมีเงินออม เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ทั้งในเรื่องของสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการหน่วยงานทุกองค์กรเพื่อรองรับผู้สูงอายุ เช่น ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิต โรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน การส่งเสริมด้านนวัตกรรมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น การปรับสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ อาทิ การสร้างบ้านที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ การเพิ่มศักยภาพความรู้ด้านเทคโนโลยีออนไลน์เพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพอีกด้วย
โอภาส ศรีฉันทะมิตร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้อธิบายถึงสิทธิพื้นฐานว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดให้มีเรื่องสิทธิต่างๆ เพื่อดูแลประชาชน เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ค่าโดยสารในการเดินทางราคาพิเศษ การดูแลที่อยู่อาศัย ประกันสังคม เบี้ยบำนาญ และการดูแลสุขภาพบัตรทอง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่และปลอดภัย เช่น การมอบเงินซ่อมแซมบ้านทั่วประเทศ รายละ 40,000 บาท โดยเฉพาะห้องน้ำกับห้องนอน จากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุจะประสบอุบัติเหตุในบ้านส่วนที่เป็นห้องน้ำมากที่สุด และรองลงมาเป็นห้องนอน จึงควรที่จะส่งเสริมเพื่อให้ที่อยู่อาศัยเกิดความปลอดภัยมากที่สุด การมีเงินทุนประกอบอาชีพสำหรับผู้ที่มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รวมถึงมีสวัสดิการร่วมกับภาคเอกชน เช่น การออมเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
วางแผนชีวิต(เกษียณสุข)เพื่อใจสบาย
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานคณะกรรมการ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ให้ความเห็นอีกแง่มุมที่น่าสนใจว่า การวางแผนชีวิตเกษียณสุขนั้น คือการเตรียมพร้อมก่อนที่จะเสียชีวิต ถ้าหากมีทรัพย์สินเพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต สามารถนำมาขายเป็นเงินและนำไปลงทุนอย่างระมัดระวังเพื่อให้ได้ผลตอบแทน รวมถึงการทำพินัยกรรมซึ่งมี 2 อย่างคือ พินัยกรรมตามปกติเกี่ยวกับทรัพย์สินต่างๆ โดยจัดการทรัพย์สินให้ชัดเจน แบ่งทั้งลูกหลาน รวมถึงองค์กรการกุศล และพินัยกรรมชีวิตเป็นการเตรียมการที่จะไม่ยื้อความตายเพื่อให้เกิดค่าใช้จ่ายมากจนเกินไป และวางแผนให้ชีวิตจากไปอย่างมีคุณค่าและมีความสุข
วศิน วัฒนวรกิจกุล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้พูดถึงการจัดการเงินเพื่อเกษียณว่า การมีคุณภาพชีวิตที่ดีมี 3 ส่วน คือ สุขภาพดี มีเงินพอใช้ และใจสบาย โดยหลักการจัดการการเงินหลังเกษียณนั้น จะแบ่งเงินเป็น 5 ก้อน คือ
ก้อนที่ 1 การเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายช่วง 1-2 ปีแรก เป็นการปรับสภาพหลังเกษียณ
ก้อนที่ 2 เตรียมไว้ใช้จ่ายช่วงปีที่ 3-5 โดยอาจลงทุนในตราสารหนี้
ก้อนที่ 3 เตรียมไว้ใช้จ่ายช่วงปีที่ 5-10 และเป็นการลงทุนในหุ้น หรือสิ่งที่อาจมีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนระยะสั้น
ก้อนที่ 4 เตรียมไว้ใช้จ่ายช่วงปีที่ 11-20 และลงทุนสิ่งที่อาจมีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนระยะยาว
ก้อนที่ 5 เป็นเงินสำรองตอนฉุกเฉิน และเก็บไว้โดยไม่นำมาใช้หลังเกษียณ โดยนำมาใช้ในเรื่องที่ฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะเป็นการทำประกันต่างๆ
สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน สู่การเกษียณอย่างมีคุณภาพ
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงแนวคิดโครงการว่า การมีทักษะการเงินนั้นประกอบไปด้วย ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงิน ความตระหนักถึงข้อเท็จจริงทางการเงิน และพฤติกรรมเกี่ยวกับด้านการเงิน สิ่งที่ทำให้มีเงินไม่เพียงพอในช่วงวัยเกษียณ ไม่ว่าจะโดนหลอกลงทุน ขาดความรู้และทักษะการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มวัยเกษียณ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จับมือกับพันธมิตรในการจัดโครงการ Happy Money, Happy young old ซึ่งจะเน้นในส่วนของช่วงวัยหลังเกษียณ เพื่อส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านการบริหารเงิน เกิดการเรียนรู้ ปรับพฤติกรรม สู่การเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ มีทั้งหมด 3 ขั้นตอน
1. E-LEARNING วางแผนการเงินเพื่อเกษียณ เพื่อเริ่มต้นเรียนรู้พื้นฐานด้านการวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณ โดยการสำรวจสถานะการเงิน แหล่งเงินออมเพื่อวัยเกษียณ เทดนิคการจัดการหนี้ และแนวทางในช่วงวัยใกล้เกษียณ
2. WORKSHOP หลักสูตรบริหารเงินหลังเกษียณ เพื่อฝึกลงมือปฏิบัติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เน้นเรียนรู้การบริหารเงินหลังเกษียณ รู้จักอัตราการถอนเงิน แนวทางการปรับแผนการเงินตามเป้าหมายการใช้ชีวิตวัยเกษียณ
3. FINANCIAL PLANNING CLINIC รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนการเงิน แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ เพื่อช่วยให้นำกลับไปปรับแผนการเงินของตนเองได้อย่างเหมาะสม
ซึ่งจากกิจกรรมที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับอย่างดี มีผู้เข้าร่วมเรียนรู้ผ่าน SET e-Learning พื้นฐานวางแผนการเงินวัยเกษียณ จำนวน 6,684 คน มีความรู้เพิ่มขึ้น 31.05% นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมโครงการ และคาดหวังว่าในปีถัดไปจะมีผู้ที่เข้าร่วมเพิ่มจำนวนมากขึ้นเพื่อเตรียมตัวในการบริหารการเงินหลังเกษียณอย่างมีคุณภาพ
ออกแบบดีชีวิตมีสุข
ประสาน อิงคนันท์ ผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย ให้ความเห็นว่า เราจะทำอย่างไรหากเรามีอายุยืนยาวและจะยังคงต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย จึงควรพิจารณาในหลายๆ มุมมองเพราะชีวิตก่อนหรือหลังเกษียณอาจจะได้พบในด้านหรือมุมใหม่ ซึ่งสิ่งที่สำคัญเมื่อถึงวัยเกษียณคือ การมีสุขภาพที่ดี การเงินที่ดี การงานที่ดีหมายถึงการทำงานด้านอื่นๆ ที่มีความสุข และนำไปสู่ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่ดีในช่วงชีวิตหลังเกษียณ และนอกจากจะมีการวางแผนแล้ว ยังต้องมีความรู้ ทัศนคติที่ดี และทำให้ชีวิตมีคุณค่า ต้องเคารพตัวเอง มีอิสระ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
ชุติมา แสนนนท์ เจ้าของเพจแต่งให้สวย Style 50+ แชร์ประสบการณ์วางแผนเกษียณว่า การดูแลสุขภาพทางการเงินก่อนหน้านั้นจะแบ่งเป็น 3 ส่วนเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุขคือ ก้อนแรกสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ก้อนสองสำหรับการเที่ยวหรือการดูแลตัวเองให้มีความสุข และก้อนที่สามสำหรับการออม โดยจะมีการวางแผนออกแบบการใช้เงินโดยการคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่วางไว้ในแต่ละเดือนคูณด้วยจำนวนปีที่วางไว้ และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ แม้ว่าเราจะเกษียณแล้วแต่หากว่ายังสามารถทำงานได้ก็แนะนำว่าควรทำงานเพื่อให้เรารู้สึกภูมิใจและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า
โครงการ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้” แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีความมั่นคงทางการเงิน และพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างมีความสุขในยุคสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดพื้นที่ให้ทุกองค์กรได้ร่วมกันผลักดันนำความรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมาย โดยเผยแพร่ความรู้เพื่อเตรียมเกษียณผ่าน SET e-Learning 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร “วัย 50+: เตรียมชีวิตมั่งคั่ง รับวันเกษียณ” และหลักสูตร “วัย 60+: บริหารเงินหลังเกษียณสไตล์วัยเก๋า” พร้อมต่อยอดด้วยการฝึกวางแผนการเงินจริงผ่าน Workshop หลักสูตรบริหารเงินหลังเกษียณ และกิจกรรมใหม่ล่าสุด Financial Planning Clinic รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนการเงิน สำหรับผู้ที่สนใจวางแผนการเงิน ผู้ใกล้เกษียณ และองค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.set.or.th/th/education-research/education/happymoney/happy-young-old สอบถามโทร 0 2009 9999
ข่าวเด่น