เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ ดัชนี KR-ECI เดือน มี.ค. 67 ทรงตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ท่ามกลางความกังวลด้านราคาพลังงานที่มีมากขึ้น


ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) เดือน มี.ค. 67 อยู่ที่ 38.7 ทรงตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2567 โดยครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าโดยเฉพาะในหมวดหมู่พลังงานเป็นสำคัญ ท่ามกลางค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง และอุปสงค์ภายในประเทศที่เริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรงลง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ก.พ. 67 อยู่ที่ 0.43%YoY ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน

ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 39.2 จากความกังวลของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2/2567 เกี่ยวกับภาระการครองชีพในทุกองค์ประกอบ โดยราคาพลังงานในประเทศมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการใช้งบประมาณและภาระหนี้ของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 67 โดยภาครัฐจะยังคงตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลต่อไปที่ 30 บาท/ลิตร แต่ก็ส่งสัญญาณที่จะพิจารณาปรับลดการอุดหนุนราคาลง ขณะที่มาตรการเกี่ยวกับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ยังคงไม่มีความชัดเจน นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวเดือนเม.ย.67 (วันสงกรานต์) ครัวเรือนมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าเดินทาง ท่องเที่ยว หรือสังสรรค์ ซึ่งอาจเพิ่มความกังวลของครัวเรือนที่มีต่อค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน (รูปที่ 1 และ 2)

นอกจากนี้ ประเทศไทยซึ่งได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และเดือน เม.ย. 67 ก็มีแนวโน้มอาจต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ขณะที่ค่าไฟฟ้าในงวดเดือนปัจจุบัน (เดือน ม.ค.-เม.ย. 67) ยังอยู่ในระดับสูงที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้สอบถามเพิ่มเติมถึงแนวทางการประหยัดค่าไฟฟ้าของครัวเรือน ซึ่งผลสำรวจพบว่า ครัวเรือน 68.6% เลือกที่จะลดการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมากที่สุด รองลงมา 45.9% ครัวเรือนเลือกจัดหาอุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ 37.3% ครัวเรือนเลือกใช้ไฟฟ้านอกที่พักอาศัย อาทิ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารและเครื่องดื่ม และ 13.2% ครัวเรือนเลือกใช้พลังงานทดแทน (รูปที่ 3)

 
อีกทั้ง ในปี 2567 ครัวเรือนส่วนใหญ่ 80.4% มีมุมมองว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยครัวเรือนเลือกที่จะใช้สินค้าทั่วไปที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือตั้งใจที่จะลดการใช้สินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อม อยู่ที่ 73.6% และ 68.4% ตามลำดับ และอีกส่วนหนึ่ง ครัวเรือนคาดว่าจะซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีมูลค่าสูงในปีนี้ เช่น รถไฟฟ้า (รถ EV) หรือโซลาร์ รูฟท๊อป (solar rooftop) เป็นต้น 9.3% รวมถึงอาจเลือกที่จะออมหรือลงทุนในกองทุนหรือกิจการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 6.6% (รูปที่ 4) ซึ่งสะท้อนว่าครัวเรือนมีการรับรู้ถึงผลกระทบจากสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อาทิ อุณหภูมิที่สูงและมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนคงขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินและความเหมาะสมของแต่ละปัจเจกบุคคล

 
ในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของดัชนีภาวะการครองชีพของครัวเรือนยังอ่อนแอ ถึงแม้ว่า ตั้งแต่เดือน เม.ย. 67 หลังงบประมาณประจำปี 2567 ได้รับการอนุมัติ อาจมีเม็ดเงินบางส่วนจากภาครัฐเข้ามาช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่การฟื้นตัวของดัชนี KR-ECI ยังมีปัจจัยลบต่าง ๆ เข้ามากดดัน ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวชะลอลง ภาระหนี้ครัวเรือนและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ขณะที่ยังคงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่จากภาครัฐ (โครงการ Digital Wallet) ซึ่งหากเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 4/2567 ตามแผนของรัฐบาล ก็คงจะเข้ามาช่วยหนุนมุมมองด้านค่าใช้จ่ายของครัวเรือนให้ปรับดีขึ้นได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 เม.ย. 2567 เวลา : 14:03:58
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 7:19 am