เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน มี.ค. 2567 ติดลบเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่ -0.47% YoY แต่ติดลบลดลงจาก -0.77% YoY ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการลดลงของราคาอาหารสด เนื่องจากผลผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และราคากลุ่มพลังงานจากที่ยังต่ำกว่าปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ ประกอบกับฐานราคาเดือน มี.ค. 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง ในขณะที่ หากหักราคาอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.37% YoY แต่ก็ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 0.43% YoY
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอาจพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในเดือน พ.ค. 2567 เป็นต้นไป หากภาครัฐทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ โดยปัจจุบันค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 อยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย และมีแนวโน้มจะถูกตรึงไว้ในระดับเดิมในงวดต่อไป ขณะที่ การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และราคาก๊าซหุงต้มที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. ได้สิ้นสุดแล้วเมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 2567 แต่ทางภาครัฐได้พยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ ลิตร ต่อไปในช่วงสงกรานต์ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น และภาระต้นทุนพลังงานและหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กองทุนฯ) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งผลให้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องทยอยปรับราคาพลังงานในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลให้เงินเฟ้อไทยกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงเดือน พ.ค. 2567 เป็นต้นไป หลังเผชิญการติดลบมานาน 6 เดือน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 2567 คาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.8%
ข่าวเด่น