ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วง “ฤดูร้อน” เป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาสำคัญของผู้รักสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแลเพื่อนตัวน้อย ๆ อย่างใกล้ชิด ยิ่งในปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา ประเมินว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นในรอบหลายปี โดยมีโอกาสพุ่งสูงถึง 44.5 องศาเซลเซียส นั่นจึงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงแสนรัก โดยเฉพาะกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ “เอ็กโซติก” (Exotic Pet) หรือสัตว์แปลกที่จะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ไม่ต่างจากสุนัข และแมว
สำหรับการเลี้ยงสัตว์แปลก หรือ Exotic Pet นั้น ปัจจุบันถือว่าเป็นอีกหนึ่งเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ที่ค่อย ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในระยะหลัง 2-3 ปีมานี้ จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่หลายคนหันมาให้ความสนใจเลี้ยงสัตว์แปลกที่หายาก และมีราคาสูง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าในการเลี้ยงจำเป็นต้องหาวิธีมาดูแลเป็นพิเศษ เพราะว่าในช่วงหน้าร้อนสัตว์เลี้ยงของหลายคนอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ “ฮีทสโตรก” (Heatstroke) หรือภาวะลมแดดได้ง่าย โดยอาการของโรคจะมีความแตกต่างกันไปตามชนิด หรือประเภทของสัตว์
โดยประเภทของการเลี้ยงสัตว์แปลก หรือ Exotic Pet ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภทหลัก ประกอบด้วย 1.กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เช่น อีกัวน่า กิ้งก่า มังกรเครา งู หรือเต่า 2.กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบลูกศรพิษ กบโกไลแอท กบแคระแอฟริกัน กบนา กบมะเขือเทศมาดากัสการ์ กบแอฟริกันบูลฟร็อก หรือซาลาแมนเดอร์ 3.กลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ด้วง หรือแมงมุมทารันทูล่า 4.กลุ่มสัตว์ปีก เช่น นกคอกคาเทล นกแก้วมาคอร์ นกเหยี่ยว หรือนกยูง 5.กลุ่มปลาแปลก เช่น ปลาปักเป้าฟาฮากา หรือปลาเทพา และ 6.กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กระต่าย เฟอเรท แฮมสเตอร์ สุนัขจิ้งจอก แรคคูน แพรีด็อก เมียแคท บุชเบบี้ หรือชูการ์ไกลเดอร์
ประเภทของสัตว์แปลกข้างต้น แต่ละชนิดล้วนมีความต้องการการดูแลสุขภาพร่างกายที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น “กระต่าย” ซึ่งเป็นสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ถือเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเซนซิทีฟกับความร้อนมาก เนื่องจากกระต่ายไม่มีต่อมเหงื่อและจะระบายความร้อนออกจากร่างกาย โดยการหายใจหรือการแลกเปลี่ยนความร้อนที่บริเวณใบหู
ดังนั้นเมื่ออากาศร้อนจนเกินไปจะทำให้เลือดในร่างกายกระต่ายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น กระต่ายอาจจะมีอาการอ่อนแรงน้ำลายไหลชักหมดสติและอวัยวะภายในถูกทำลายได้ โดยอาการที่เจ้าของสามารถสังเกตได้ นั่นคือกระต่ายจะเริ่มมีน้ำลายไหล และถ้าเป็นหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเกิดภาวะอ่อนแรง ยืนไม่ไหวและมีอาการชักเกร็ง
เช่นเดียวกับนกประเภทต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวต่ออากาศร้อนได้ง่าย เพราะหากอากาศร้อนมากก็อาจมีโอกาสที่นกจะเสียชีวิตได้ เช่นเดียวกับกระต่าย โดยเมื่ออากาศร้อนมาก ๆ นกจะมีอาการหายใจเร็ว และอ้าปากหายใจจากนั้นก็จะมีอาการซึมแล้ว เกาะคอนไม่อยู่ และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
ส่วนสัตว์อีกประเภทนั่นคือสัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่า รู้หรือไม่ว่ากระดองเต่าสามารถดูดซึมความร้อนได้ดีกว่าสัตว์เลื้อยคลานประเภทอื่น แต่ถ้าอยู่กลางแดดนาน ๆ ก็มีโอกาสที่อวัยวะภายในจะได้รับผลกระทบจากความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยผู้เลี้ยงสามารถสังเกตอาการได้ นั่นคือ เต่าจะมีน้ำลายไหล และเกิดอาการอ่อนแรง
นสพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์แอนิมอลสเปซ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสัตว์เลี้ยง แนะนำวิธีการดูแลป้องกันโรคสำหรับสัตว์เลี้ยงในช่วงหน้าร้อนนี้ว่า หลัก ๆ แล้วไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงออกไปเดินตากแดด หรือถ้าเลี้ยงในบ้านก็ต้องมีการเปิดหน้าต่างให้อากาศระบายถ่ายเทได้ดี เช่น ถ้าใครที่เลี้ยงกระต่าย แนะนำว่าในช่วงที่ร้อนมาก ๆ ก็ควรเปิดแอร์ เพื่อป้องกันการเกิดฮีทสโตรก ส่วนนกต้องจัดวางกรงให้อยู่ในพื้นที่อากาศถ่ายเท ไม่ตากแดด โดยอาจอยู่ใต้ร่มไม้ที่มีแสงแดดส่องผ่านเล็กน้อยได้ เช่นเดียวกับสัตว์ประเภทเต่า ควรจัดสถานที่เลี้ยงให้มีร่มเงาให้สัตว์สามารถหลบแดดได้ และอาจเปิดสปริงเกอร์ ช่วยพ่นไอน้ำในช่วงที่อากาศร้อนมาก ๆ เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนลงได้
อย่างไรก็ตามคำแนะนำในการดูแลและรักษาพยาบาลเบื้องต้น หากสัตว์เลี้ยงมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่ควรทำแบบง่าย ๆ นั่นคือการเช็ดตัวหรือการใช้น้ำเพื่อลดความร้อน เช่น ถ้าเป็นเต่าควรราดน้ำลงบนกระดอง เพื่อลดความร้อนในตัวสัตว์ หรือเป็นกระต่าย ควรนำน้ำไปเช็ดบริเวณใบหู ขาหนีบให้เปียกชุ่ม เพื่อลดความร้อนลง ส่วนนก ควรพ่นสเปย์น้ำเพื่อลดความร้อน หรือมีถ้วยน้ำให้นกสามารถลงไปเล่นน้ำได้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลของสัตว์เลี้ยงแปลก หรือ Exotic Pet สามารถติดตามได้ภายในงาน “PET Expo Thailand 2024” จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 9-12 พฤษภาคม 2567 ณ ฮอลล์ 5-8 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยสามารถติดตามข่าวสาร และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.petexpothailand.net หรือ เฟซบุ๊ก Petexpoclub หรือช่องทางทวิตเตอร์ @PetexpoclubTH1 หรือแอดไลน์เพื่อติดตามทุกความเคลื่อนไหวของงานและโปรโมชั่นเด็ด ๆ ก่อนใครได้ที่ @petexpoclub
ข่าวเด่น