สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเวทีสาธารณะนำเสนอผลงานวิชาการและแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลผลิตวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และสร้างเครือข่ายงานวิจัยในระดับชาติและระดับนานาชาติ ผ่านงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “Walailak Research Convention 2024” เนื่องในโอกาสครบปีที่ 32 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “Roles of Higher Education in the Turbulent World” โดยมี รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมเป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของวิกฤติการณ์โลก”
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตการณ์ของโลก สถานการณ์บ้านเมือง และความท้าทายต่าง ๆ ทั้งความไม่สงบทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม สังคมสูงวัย และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จำเป็นต้องนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหา โดยต้องอาศัยความร่วมมือแบบสหสาขาและสหวิทยาการ ความเชี่ยวชาญของนักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม นักสังคมวิทยา รวมทั้งในภาคมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และพันธมิตรให้ความร่วมมือกันดำเนินการในเชิงกลยุทธ์
“สกสว. เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงและร้อยเรียงระบบ ววน. เข้าด้วยกัน ผ่านการดำเนินงานตามแผนด้าน ววน. ของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 ที่มี 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1. การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2. การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3. การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค และ 4. การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้าน ววน. ขณะที่ การจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษามีผลบังคับเป็นกฎหมายโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี พ.ศ.2564 ได้จัดออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มการพัฒนาการวิจัยระดับขั้นแนวหน้าของประเทศ 2. กลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 3. กลุ่มการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ 4. กลุ่มการพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักทางศาสนา และ 5. กลุ่มการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาเฉพาะ ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มนี้ มีบทบาทสำคัญในการสร้างศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อภูมิทัศน์เศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย”
รศ. ดร.ปัทมาวดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของพันธกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษา คือ การเรียนการสอน และ การวิจัย แต่หากจะรับมือกับสถานการณ์ที่วุ่นวายหรือวิกฤตการณ์โลกนั้น จำเป็นต้องใช้งานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อนผ่านการบูรณการเทคโนโลยี ความรู้ระหว่างการวิจัยแบบสหสาขาวิชาชีพในหลากหลายมิติ เพื่อแก้ปัญหาความ ท้าทายที่เกิดขึ้น หรือนำสิ่งที่ค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้เป็นทฤษฎีและปรับปรุง การเรียนการสอนให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ อีกบทบาทสำคัญของสถาบันอุดมศึกษา คือ การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า หรืออุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการกำลังคนตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้ 1. ด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ 2. การแพทย์ 3. การท่องเที่ยว 4. พลังงานทดแทน 5. หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 6. ยานยนต์ไฟฟ้า และ 7. เซมิคอนดักเตอร์
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาอัตราการเกิดที่น้อยลงและการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้จำนวนนักเรียนที่เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานลดลง ทัศนคติของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้แค่ในโรงเรียน รวมถึงเทคโนโลยีปัจจุบัน ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำให้มีผู้เข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่อง นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการรับมือต่อสถานการณ์ที่วุ่นวายหรือวิกฤตการณ์โลกในขณะนี้ ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาจึงควรใช้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นตัวเชื่อมโยงเข้ากับการเรียนการสอนที่ไม่หยุดนิ่ง รวมทั้งเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ ให้สามารถรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไปในอนาคต
ข่าวเด่น