สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
· เงินบาทผันผวน แข็งค่าในช่วงแรกตามราคาทองคำโลก แต่อ่อนค่ากลับมาก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์
เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาบางส่วนสอดคล้องกับจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวกลับขึ้นมาช่วงกลางสัปดาห์ หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด ซึ่งส่งผลทำให้การปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว และตลาดบางส่วนเริ่มประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 3 ครั้งในปีนี้ อนึ่ง กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก หลังผลการประชุมกนง. ช่วงกลางสัปดาห์ โดยในการประชุมรอบนี้ กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ตามเดิม
· ในวันพฤหัสบดีที่ 11 เม.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 เม.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 7,918 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 16,566 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 15,509 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 1,057 ล้านบาท)
· สัปดาห์ถัดไป (17-19 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.20-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของ IMF ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก การเริ่มสร้างบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดขายบ้านมือสองเดือนมี.ค. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนเม.ย. รายงาน Beige Book ของเฟด และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่น และตัวเลขเศรษฐกิจจีน อาทิ จีดีพีไตรมาส 1/67 การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และอัตราการว่างงานเดือนมี.ค.
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
· ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แต่ย่อตัวปิดต่ำกว่า 1,400 จุดก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์
หุ้นไทยดีดตัวขึ้นแรงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ โดยแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือนที่ระดับ 1,411.46 จุด ท่ามกลางแรงซื้อสุทธิของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากรายงานข่าวเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อหุ้น โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐโดยตรง
อย่างไรก็ดีหุ้นไทยย่อตัวลงบางส่วนในเวลาต่อมา ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคซึ่งส่วนใหญ่ปรับตัวลงท่ามกลางความกังวลว่า เฟดจะยืนดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ประกอบกับน่าจะมีแรงขายเพื่อปรับโพสิชั่นก่อนวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ อนึ่ง หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้นสวนทางภาพรวม หลัง กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบล่าสุด
ในวันพฤหัสบดีที่ 11 เม.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,396.38 จุด เพิ่มขึ้น 1.51% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,261.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.99% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.35% มาปิดที่ระดับ 400.08 จุด
· สัปดาห์ถัดไป (17-19 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,385 และ 1,375 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,405 และ 1,415 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดขายบ้านมือสองเดือนมี.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค.ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/67 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
ข่าวเด่น