เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : สงครามอิสราเอล-อิหร่าน บานปลาย อาจดันราคาทองทะลุ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ


 

สถานการณ์ความไม่สงบในฝั่งตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ที่เปิดฉากมาตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ปีที่ผ่านมา บัดนี้ความขัดแย้งดังกล่าวได้ลุกลามบานปลายไปทั่วตะวันออกกลาง กลายเป็นสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งการที่อิหร่านได้กระโจนเข้ามาร่วมต่อกรกับทางอิสราเอลด้วยตัวเอง นับเป็นตัวชี้วัดว่า สถานการณ์สงครามได้ทวีความรุนแรงอย่างมาก จนก่อให้เกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อทั้งราคาพลังงาน ความผันผวนของตลาดการเงิน ระบบเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง อันเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้มีแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น จนเกิดการคาดการณ์ว่าราคาทองคำมีโอกาสพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ไปแตะอยู่ที่ระดับ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ภายในปี 2025
 
“ทองคำ” จัดว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็น Store of Value หรือสิ่งที่สามารถรักษามูลค่าเอาไว้ได้ ผู้คนยอมรับและใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าสิ่งของมาอย่างยาวนาน อย่างที่ทางธนาคารกลางของทั่วโลกเอง ก็จะมีการใช้ทองคำ Back Up เป็นทุนสำรองเพื่อบริหารความเสี่ยงจากการถือครองเงินสกุลต่างๆ และช่วยเพิ่มเสถียรภาพในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนในกรณีของสงครามอิสราเอล-อิหร่านอย่างปัจจุบันนี้ ตลาดลงทุนก็จะเกิดความผันผวน เพราะนักลงทุนจะโยกทุนของตัวเองออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ไปหลบภัยยังทองคำ ซึ่งสามารถรักษาความมั่งคั่งของตัวเองเอาไว้ได้ ในช่วงที่สถานการณ์ภายนอกมีความไม่มั่นคง และไม่ปลอดภัยว่าสงครามจะร้ายแรงไปจนถึงจุดไหน
 
เพราะในสถานการณ์สงครามตอนนี้ เริ่มแรกก็เป็นความขัดแย้งกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ แต่ฮามาส เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อิหร่านให้การสนับสนุน นับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 2522 นอกจากนี้ กองกำลังติดอาวุธฮูตีในเยเมนที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ก็ร่วมมือกับฮามาสต่อสู้ศึกครั้งนี้ด้วย จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมานั้น การต่อสู้กันจะเกิดขึ้นในลักษณะของสงครามตัวแทน แต่ด้วยการปะทะกันในพื้นที่ตะวันออกกลาง ซึ่งประเทศอื่นๆ ในพื้นที่นี้ ล้วนมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งมานานระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทำให้มีโอกาสลุกลามกลายเป็นสงครามทั้งพื้นที่ตะวันออกกลางได้ง่าย ดังเช่นล่าสุด ที่อิหร่าน ได้โจมตีอิสราเอลด้วยการยิงจรวดมิสไซล์และโดรนกว่า 300 ลูก  เมื่อคืนวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อล้างแค้นที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศถล่มสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงซีเรีย ก็ถือเป็นการประกาศศักดาของอิหร่าน ว่าจะปิดฉากสงครามตัวแทน และก้าวเข้ามาปะทะกับอิสราเอลซึ่งๆ หน้า
 
เมื่อสถานการณ์สงครามตึงเครียดมากขึ้น และมีความเสี่ยงว่าจะกลายเป็นสงครามภูมิภาคทั่วตะวันออก กลาง จากที่อิสราเอลก็ไม่ได้นิ่งเฉย เปิดฉากตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธมาโจมตีอิหร่านกลับไป ไฟโหมของสงครามที่ไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง อีกทั้งยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้อารมณ์ของตลาดลงทุนตกอยู่ในความหวาดกลัว ต่างเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เกิด Volume ขายในตลาดคริปโต และหุ้นต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี และนำเงินทุนที่ถอนออกมาดังกล่าว ไปกักเก็บในหลุมหลบภัยที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งก็คือ “ทองคำ” นั่นเอง
 
 
 
มูลค่าของทองคำที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับช่วงของการเกิดสงคราม ข้อมูลจากฮั่วเซ่งเฮง
 
ตามการคาดการณ์ของ Citi สถานบันการเงินรายใหญ่ระดับโลก วิเคราะห์ว่า ราคาทองคำ มีโอกาสพุ่งสูงทะลุ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ในอีก 6-18 เดือนข้างหน้านี้ อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ และจากปัจจัยสำคัญอีกประการที่ร้อยเรียงต่อจากภัยสงครามก็คือ ธนาคารกลางทั่วโลกในตอนนี้ กำลังเข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลก เข้าซื้อทองคำมากกว่า 1,000 ตันต่อปี เป็นการเร่งซื้อของธนาคารกลางที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ดังเช่นประเทศไทย ที่เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่สะสมทองคำเอาไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุด ในช่วงปี 1990-2021
 
โดยเหตุผลหลักที่ธนาคารทั่วโลกต่างสะสมทองคำเป็นทุนสำรองมากขึ้น เป็นเพราะระบบการเงินหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากที่ทุกประเทศถือทองคำค้ำไว้ เพื่อผลิตเงินสดขึ้นมา ก็เปลี่ยนเป็นให้มีเพียงประเทศพี่ใหญ่ที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งเป็นผู้ถือทองคำแทน ส่วนประเทศที่เหลือก็เพียงแต่นำเงินของประเทศดังกล่าวไปค้ำไว้แทนทองคำ ซึ่งก็คือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐนั่นเอง แต่ที่ผ่านมา นับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของการถือเงินดอลลาร์สหรัฐไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศแล้วว่า เมื่อเกิดการคว่ำบาตรขึ้นมา ก็ส่งผลเสียต่อประเทศที่มีความขัดแย้งกับทางสหรัฐอย่างยิ่งยวด อีกทั้งเมื่อราคาทองคำสูงขึ้น ตามกลไกของตลาดแล้ว เงินดอลลาร์สหรัฐจะมีการอ่อนค่าลง ฉะนั้นการตุนทองคำเอาไว้ จะสามารถปกป้องเสถียรภาพทางการเงินของประเทศเอาไว้ได้เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย อย่างสงครามอิสราเอล-อิหร่าน ที่มีระดับความรุนแรงที่เห็นได้ชัด ณ ขณะนี้
 
ส่วนทางด้านราคาทองคำในฝั่งประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีราคาเพิ่มขึ้น 8,000 บาท ซึ่งปัจจุบันราคาทองคำแท่งมีราคาขายออกอยู่ที่ 41,700 บาท ส่วนทองคำรูปพรรณ มีราคาขายออกอยู่ที่ 42,200 บาท ซึ่งทางนายกสมาคมทองคำ กล่าวว่า แนวโน้มราคาทองมีโอกาสปรับขึ้นถึง 44,000 บาท ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ เนื่องจากแรงส่งของสถานการณ์สงครามที่ยังคงรุนแรง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 เม.ย. 2567 เวลา : 20:00:12
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 5:32 am