เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ ธนาคารกลางอินโดนีเซียขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 6.25% ผิดจากการคาดการณ์ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงิน


· ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia: BI) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 6.0% มาอยู่ที่ 6.25% (รูปที่ 1) สวนทางกับที่ตลาดคาดว่า BI จะคงดอกเบี้ยในรอบการประชุมในวันที่ 24 เม.ย. นี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบันเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark Interest Rate) ในปี 2016


 
· การปรับเพิ่มดอกเบี้ยรอบนี้ของ BI เพื่อพยุงค่าเงินรูเปียห์ ซึ่งอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2020 ล่าสุดมาอยู่ที่ 16,155 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ฯ หรืออ่อนค่า 4.7% นับตั้งแต่ต้นปี 2024 นับได้ว่าเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชีย (รองจากเงินเยน เงินบาท เงินดอลลาร์ไต้หวัน เงินวอนเกาหลี ตามลำดับ) (รูปที่ 2)


· การขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางในปีนี้กำหนดไว้ที่ 1.5%-3.5% ซึ่งเงินเฟ้อได้ขยับตัวสูงตั้งแต่ต้นปีมาอยู่ที่ 3.0% ในเดือนมี.ค.2024 (รูปที่ 3) สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2023 จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน และราคาสินค้าอาหารที่ขยับขึ้น ในขณะที่การอ่อนค่าลงของเงินรูเปียห์ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบและกระทบการบริโภคในประเทศ


· ความเปราะบางด้านการส่งออกที่อ่อนแรงต่อเนื่องจากปีก่อนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพภายนอกของประเทศ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดอาจมีแนวโน้มขาดดุลสูงขึ้นจากที่อยู่ในระดับต่ำคิดเป็น 0.1% ต่อ GDP ในปี 2023 (รูปที่ 4) เพิ่มแรงกดดันให้ BI ใช้มาตรการคุมเข้มทางการเงินเข้ามาประคองค่าเงินให้มีเสถียรภาพ

· สำหรับทิศทางดอกเบี้ยของอินโดนีเซีย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ของ BI น่าจะเป็นการปรับรอบเดียวเพื่อประคองเสถียรภาพค่าเงินรูเปียห์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไปอีกจากปัจจุบันที่ตลาดคาดว่าจะเกิดขึ้นในการประชุม FOMC เดือน ก.ย. 2024 นี้ ซึ่งจะกดดันต่อสกุลเงินทั้งภูมิภาค

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 เม.ย. 2567 เวลา : 19:21:26
05-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 5, 2024, 4:15 am