การดูแลสุขภาพใจ สำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยมีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต จากข้อมูลปี 2565 กรมสุขภาพจิตเผยตัวเลขว่า ในวัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี พบเด็กที่มีภาวะทางจิตประสาทและอารมณ์ประมาณ 1 ใน 7 คน ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้
เพราะปัญหาทางใจสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ใจมอง ดังนั้นการ “ออกกำลังใจ” ให้แข็งแรงผ่านวิธีการมองโลกที่ช่วยให้ “สุขเป็น” จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยรับมือกับความทุกข์หรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต โดยคำถามที่สำคัญคือ เราทุกฝ่ายจะเปิดหน้าต่างหัวใจ และเปิดประตูรับฟังวัยรุ่นแบบ “สุขเป็น” อย่างไร เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางใจแก่ทุกคนในสังคม
“เมื่อชีวิตมีทั้งขึ้นและลง สิ่งสำคัญคือเมื่อเผชิญปัญหา เราจะมองปัญหานั้นอย่างไรให้ไม่ทำร้ายใจตนเอง เวลาพูดเรื่องสุขภาพจิต หลายคนจะนึกถึงความเจ็บป่วย แต่ความจริงแล้วการสุขให้เป็น คือการเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต โดยสถาบันที่ใกล้ชิดกับเด็กที่สุดก็คือครอบครัว ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือสนับสนุนการสื่อสารเชิงบวกให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับชุมชน ผ่านเครือข่ายรอบตัววัยรุ่นที่แข็งแกร่ง” นางสาวภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวถึงการสร้างเสริมจิตวิทยาเชิงบวกของชุมชนผ่าน “โครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชนและครอบครัวภาคใต้ (คนใต้หยัดได้)” ที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) ได้ดำเนินงานร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด อย่างต่อเนื่องกว่า 8 ปี ผ่านการพัฒนาสมรรถนะแกนนำภาคีระดับตำบล หรือ Change Agents ตั้งแต่ ครู หมอ พ่อแม่ เพื่อน ชุมชน และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะเยาวชนให้เข้มแข็ง ในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา ปัตตานี สงขลา กระบี่ และชุมพร
“ทุกวันนี้เราอาจจะได้ยิน แต่ไม่ทันได้รับฟัง เราอาจจะพูด แต่ไม่ทันได้สื่อสาร ดังนั้นโมเดลที่เราทำร่วมกับเชฟรอนจะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาครอบครัวเข้มแข็งผ่านการสร้างความเข้าใจ โดยในช่วงหลังเราเห็นถึงอัตราภาวะทางอารมณ์ในเด็กเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการปรับตัว และการเติบโตในโลกเทคโนโลยีดิสรัปชันที่อาจทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริง เนื่องจากงานของเราเป็นงานต้นน้ำ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ในบ้านและเครือข่ายรอบตัววัยรุ่น ดังนั้นโครงการคนใต้ หยัดได้ จึงผนวกเนื้อหาการสื่อสารที่เน้นการปรับมุมมองให้ ‘สุขเป็น’ ซึ่งคือการมองสิ่งต่างๆ ผ่านเลนส์ที่เข้าใจโลก ให้ผู้ใหญ่มองย้อนกลับไปตอนที่อยู่ในวัยเด็กว่าเคยมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร และเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เติบโตอย่างเข้าใจ เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยให้ใกล้ชิดกันและกันมากขึ้น โดยเราได้สร้างพื้นที่ให้ Change Agents ได้พบปะหารือว่าหน่วยงานที่ตนเองสังกัดสามารถแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง และพัฒนารูปแบบกิจกรรมที่ทำให้เกิดการพลิกมุมมองและรับฟังมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในปลายน้ำอีกด้วย” นางสาวภาวนา กล่าวเสริม
สำหรับโครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต เด็กเยาวชนและครอบครัว ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) เชฟรอน และ ภาคีเครือข่าย ได้เชิญแกนนำ Change Agents จาก 12 ตำบลน้ำร่องร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาเยาวชนในชุมชนและแนะวิธีการแก้ไข เพื่อต่อยอดให้กับแกนนำคนใต้หยัดได้ ล่าสุดได้จัดสัมมนาวิชาการระดับภาคครั้งที่ 4 Change Agents Forum ตอน “คนใต้หยัดได้ สุขเป็น” เมื่อวันที่ 22 – 24 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อให้ Change Agents กว่า 170 คน ได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านการชูแนวคิด “สุขเป็น” รวมถึงแนะการทำงานเชิงจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อเยาวชนและครอบครัวในห้องพัฒนาทักษะ พร้อมปลุกพลังในฐานะคนทำงาน เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งในภาคใต้
“ความจริงแล้วการใช้ชีวิตแบบสุขเป็น ถือเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เราหลายคนกลับมองข้ามไปเหมือนเส้นผมบังภูเขา อย่างเช่นการขอบคุณตนเอง” นางสาวฐิติชญา กวนซัง หรือพี่ฟาง ประธานศูนย์พัฒนาครอบครัว ชุมชนเทศบาลหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวด้วยความรู้สึกภูมิใจในฐานะ Change Agent ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานขับเคลื่อนครอบครัวเข้มแข็ง พร้อมเล่าต่อว่า “งานด้านคุณภาพชีวิตไม่เหมือนการสร้างถนน ต้องค่อยๆ ทำเป็นน้ำซึมบ่อทราย ซึ่งทางศูนย์พัฒนาครอบครัวได้เน้นการสร้างเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาวัยรุ่นและชุมชนในทุกมิติ พอทางมูลนิธิแพธทูเฮลท์และ
เชฟรอนนำเครื่องมือสุขเป็นเข้ามา เราก็ได้ส่งต่อแนวทางและกิจกรรมที่สอนเรื่องการสื่อสารเชิงบวกให้กับหลากหลายครอบครัว เช่น เกมชักเย่อ ที่ให้ผู้ปกครองอยู่ฝั่งนึง และลูกอยู่อีกฝั่ง โดยโจทย์คือลูกอยากออกไปเที่ยวนอกบ้าน โดยเพื่อนๆ ก็ต่อแถวดึงเชือกอยู่ฝั่งลูก ผลที่ได้คือไม่มีฝ่ายใดชนะ แต่เจ็บมือกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นเราจึงแนะแนวทางว่าลองให้ทั้งคู่ “ฟังอย่างตั้งใจ” โดยปล่อยให้แต่ละฝ่ายพูดความรู้สึกอย่างเดียวโดยไม่มีใครขัด สิ่งที่จำได้ชัดเจนเลยคือหลังจากลงพื้นที่ทำกิจกรรม มีคุณแม่วิ่งมาขอบคุณและเล่าให้ฟังว่าพอปล่อยให้ลูกพูดความรู้สึกโดยรับฟังเพียงอย่างเดียว ทำให้ตอนนี้ทัศนคติตรงกัน รู้เหตุผลว่าทำไมลูกถึงกลับบ้านมืด ซึ่งคำบอกเล่าเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในอีก 40 กว่าครอบครัวในโครงการ ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนให้เราอยากพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งกว่าเดิม”
เพราะพื้นที่ปลอดภัยทางใจ สร้างได้ผ่าน “พลังคน” ด้าน นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการสนับสนุนโครงการ “คนใต้หยัดได้” พร้อมตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตในเด็กไทยว่า “เชฟรอน ในฐานะบริษัทพลังงานระดับโลก ให้ความสำคัญกับคำว่าปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง โดยคำว่าปลอดภัยในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะแค่ทางกาย แต่ รวมถึงพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ หรือ Psychological Safety ด้วย ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาที่เราได้ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) และภาคีเครือข่าย ในโครงการคนใต้หยัดได้ เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นผ่านพลังของ Change Agents มากมาย โดยในปีนี้เรามุ่งเสริมสุขภาพใจให้ทุกฝ่ายผ่านคำว่า ‘สุขเป็น’ เพื่อสร้างเสริมจิตวิทยาเชิงบวกในเยาวชนและครอบครัว เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่เยาวชน พร้อมขับเคลื่อนสังคมที่แข็งแรงทั้งกายและใจต่อไป”
สำหรับโครงการ “คนใต้หยัดได้ สุขเป็น” ในปีนี้ ถือเป็นการขยายแนวทางแก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะเยาวชน โดยเฉพาะในมิติด้านสุขภาพจิต โดยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันชีวิตผ่านคำว่า “สุขเป็น” ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้ผ่านเลนส์แห่งความสุขที่สามารถเริ่มด้วยการเปลี่ยนมุมมองของเรา ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจข้อมูล หรือต้องการปรึกษาปัญหาด้านต่างๆ สามารถอ่านรายละเอียดและติดต่อโครงการฯ ได้ที่เพจเฟซบุ๊กคนใต้หยัดได้ ผ่านลิงก์ https://www.facebook.com/KhonTaiYaddDai
ข่าวเด่น