"ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อปริมาณผลผลิตการเกษตร ความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์"
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง
เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2567 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคพบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ต่อปริมาณผลผลิตการเกษตร ความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 84.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในภาคบริการ เนื่องจากคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มมากขึ้น จากแนวทางการจัดงานส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุนที่เพิ่มขึ้น จากมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงมาตรการลดภาระค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่ายังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 86.8 จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ทางบก เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดพื้นที่อุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของจังหวัด ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในภาคการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 76.6 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากความเชื่อมั่นในภาคบริการที่ได้รับปัจจัยบวกจากการจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในพื้นที่ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นสำคัญ และภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 76.4 สะท้อนความเชื่อมั่นในภาคบริการ เนื่องจากคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น จากการเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นของทั้งไทยและต่างประเทศ และการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดพังงาที่ได้รับรางวัล “เมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในประเทศไทย” เป็นปีที่สองติดต่อกัน และภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น จากอุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวเนื่องกับยางพารา ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น สะท้อนจากจำนวนทุนจดทะเบียนของอุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป และผลิตภัณฑ์ไม้ที่เพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 76.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากจำนวนนักท่องเที่ยวและการบริโภคที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงมีกำลังซื้อจากชาวกัมพูชาที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการบริโภคและการส่งเสริมการท่องเที่ยว และภาคการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 75.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ จากกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ รวมถึงมาตรการของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล และภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงอาจส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากการปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม จำนวนทุนจดทะเบียนของอุตสาหกรรม และภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดที่อาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงปริมาณน้ำที่อาจไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความผันผวน ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ระดับ 72.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม จากแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจ
ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาต้นทุนด้านพลังงาน และสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 70.7 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการและภาคการลงทุนเป็นสำคัญ
ข่าวเด่น