เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน เม.ย. 2567 พลิกกลับเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ 0.19% YoY และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นที่ 0.85% MoM โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกประกอบกับมีการทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผักสดและผลไม้สดปรับสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ในขณะที่ หากหักราคาอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานเดือน เม.ย. 2567 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าโดยอยู่ที่ 0.37% YoY สะท้อนว่าการปรับขึ้นของเงินเฟ้อเป็นผลจากราคาพลังงานและสินค้าเกษตรเป็นหลัก ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากอุปสงค์ในประเทศยังมีจำกัด ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ -0.54% YoY และเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 0.42% YoY
เงินเฟ้อไทยเดือน เม.ย. 2567 พลิกกลับเป็นบวก ตามราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรเป็นหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองเงินเฟ้อทั่วไปของไทยหลังจากนี้มีแนวโน้มเป็นบวกต่อเนื่อง โดยยังคงประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 ที่ 0.8%
· ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่กรอบ 80-90 ดอลลาร์ฯ/ บาร์เรล ในช่วงที่เหลือของปีนี้ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มยืดเยื้อแต่คาดว่าจะไม่ขยายวงกว้างเป็นสงครามภูมิภาค แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับสูงจะส่งผลให้ต้นทุนของการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศนั้นเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ภาครัฐอาจทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ
· ภาวะภัยแล้งจากสภาพอากาศร้อนจัดและฝนทิ้งช่วงคาดว่าจะส่งผลให้ราคาผักสดและผลไม้สดมีแนวโน้มยังยืนอยู่ในระดับสูง แม้อาจทยอยปรับลดลงตามปัจจัยฤดูกาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนก.ย. เป็นต้นไปที่จะเริ่มมีฝนและสภาพอากาศจะเปลี่ยนเป็นลานีญา นอกจากนี้ ปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้าของราคาเนื้อหมูมีแนวโน้มทยอยลดลงส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของราคาเนื้อหมูมีทิศทางทยอยติดลบลดลงและมีโอกาสพลิกกลับเป็นบวกได้ในระยะข้างหน้า
· การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศในเดือนต.ค. 2567 ที่รัฐบาลเสนอไว้คาดว่าจะเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ราว 0.1% ในปีนี้ อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวยังจำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี
เงินเฟ้อที่พลิกกลับเป็นบวกในเดือนเม.ย. 2567 และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่เป้าหมายของกนง. ที่ 1-3% ในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้แรงกดดันให้กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นมีลดลง ขณะที่กนง. มีแนวโน้มจะให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงความผันผวนของค่าเงินบาทมากขึ้น ซึ่งท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและแรงกดดันจากนโยบายการเงินทั่วโลกที่ตึงตัวนานกว่าคาด ส่งผลให้ กนง. มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปตลอดทั้งปี 2024
ข่าวเด่น