เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ดัชนี KR-ECI เดือน เม.ย.67 ลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน โดยครัวเรือนกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายที่มากขึ้นในช่วงเทศกาล"


ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) เดือนเม.ย.67 ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนอยู่ที่ 36.6 ลดลงจาก 38.7 ในเดือนมี.ค.67 ซึ่งเป็นระดับที่ทรงตัวตลอดช่วงไตรมาสที่ 1/2567 ทั้งนี้ องค์ประกอบของดัชนีลดลงทั้งหมดในเดือนนี้ (รูปที่ 1 และ 2) โดยองค์ประกอบด้านราคาปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือน สะท้อนครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ และปล่อยให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น โดยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับเพิ่ม 1 บาท เป็น 31 บาทต่อหน่วย ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรก็ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งมีส่วนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนเม.ย.67 กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ 0.19%YoY


 
 
นอกจากนี้ ในเดือนเม.ย.67 ซึ่งมีวันหยุดยาวจากเทศกาลวันสงกรานต์ ครัวเรือนจึงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจพบว่า เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (มี.ค.67) ครัวเรือนส่วนใหญ่ (79.9%) ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยมาจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 47.1% รองลงมาครัวเรือนมีงานสังคม อาทิ งานบุญ มากกว่าเดือนก่อน 23.2% รวมถึงมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวัน เช่น ค่าท่องเที่ยว สังสรรค์ 18.9% (รูปที่ 3)

ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 38.6 จาก 39.2 ในเดือนมี.ค.67 โดยครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้สินในระยะข้างหน้ามากขึ้น ท่ามกลางภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับสูงและความสามารถในการชำระหนี้ลดลง นอกจากนี้ ราคาพลังงานในประเทศมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการใช้งบประมาณและภาระหนี้ของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับแนวโน้มราคาต้นทุนพลังงานโลกยังค่อนข้างมีความผันผวน และอาจทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่

ในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า ดัชนีภาวะการครองชีพของครัวเรือนในระยะข้างหน้ามีทิศทางฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และแรงกดดันด้านราคาที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 มีแนวโน้มเป็นบวกต่อเนื่อง จากราคาพลังงานในประเทศที่คาดว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรอาจตึงตัวจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก อีกทั้ง หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือนต.ค.67 ก็จะยิ่งส่งผลให้เงินเฟ้อไทยในปี 2567 ปรับสูงขึ้นจาก 0.8% ที่มีการคาดไว้เดิม นอกจากนี้ ภาระหนี้ครัวเรือนและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของดัชนี

อย่างไรก็ดี พรบ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้แล้วในเดือนเม.ย.67 คงจะส่งผลให้มีเม็ดเงินจากภาครัฐเข้ามาช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ขณะที่ยังคงต้องติดตามรายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่จากภาครัฐ (โครงการ Digital Wallet) ที่อาจเข้ามาช่วยหนุนมุมมองด้านค่าใช้จ่ายของครัวเรือนให้ปรับดีขึ้นในช่วงปลายปี 2567

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ค. 2567 เวลา : 13:34:10
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 3:27 am