“จักรพงษ์ แสงมณี” รมต.สำนักนายกฯ ประเดิมงานแรก ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ จ.เพชรบุรี หวังแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม-คุณภาพน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น กำชับหน่วยงานบูรณาการบริหารจัดการน้ำตามแผน เร่งสำรวจพื้นที่ฟันหลอ เตรียมกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ให้ได้มากที่สุด
วันนี้ (13 พ.ค. 67) นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ณ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำหนองไก่เถื่อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยลึก อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเพชรบุรี หมู่ที่ 1 ต.ท่าเสน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี โดยมี ผู้แทนกรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง นายอำเภอบ้านลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเสน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวเพชรบุรี ให้การต้อนรับ
.jpg)
นายจักรพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ในวันนี้เป็นครั้งแรกภายหลังการเข้ารับตำแหน่ง เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำด้านต่างๆ ทั้งการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ เนื่องจากในปีนี้ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์เอลนีโญและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติและฝนน้อยกว่าค่าปกติค่อนข้างมากจึงเป็นห่วงผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง เพราะพื้นที่อยู่ในเขตเงาฝนทำให้ฝนตกน้อย ประกอบกับในแต่ละปีมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรและการท่องเที่ยว อีกทั้ง จ.เพชรบุรี มีแนวโน้มความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นในอนาคตจากการขยายตัวของชุมชนด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงของน้ำ จึงมีนโยบายในการติดตามการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด การลงพื้นที่วันนี้ ได้รับทราบปัญหาและความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ และได้กำชับให้ สทนช. ประสาน ติดตามกรมชลประทาน เร่งดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำหนองไก่เถื่อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้แล้วเสร็จตามแผนและสามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน เพิ่มกำลังผลิตน้ำประปาให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนทุกครัวเรือน และต้องควบคุมคุณภาพน้ำประปาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานด้วย
(5).jpg)
สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเพชรบุรี ได้กำชับให้ สทนช. ประสาน ติดตามกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานท้องถิ่น เร่งดำเนินโครงการในจุดที่ยังไม่ได้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งให้แล้วเสร็จตามแผน หากท้องถิ่นมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อป้องกันน้ำท่วมบริเวณจุดฟันหลอในช่วงฤดูฝนนี้ ให้เร่งเสนอแผนงาน/โครงการผ่าน สทนช. ตามขั้นตอนการของบประมาณโดยเร็ว เพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชน
(13).jpg)
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ จ.เพชรบุรี โดยมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 67 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบแล้ว จำนวน 43 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุกักเก็บได้ 0.62 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 1,488 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 453 ครัวเรือน เช่น ขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยยายลาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.สามพระยา อ.ชะอำ, อนุรักษ์ฟื้นฟูสระเก็บน้ำลุงถนอม สนับสนุนโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ (หนองพลับ-กลัดหลวง) ต.เขาประปุก อ.ท่ายาง, พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พื้นที่ 60 ไร่ ต.ห้วยลึก อ.บ้านลาด และฝายพุตะขบตอนล่าง ต.ท่าตะคร้อ อ.หนองหญ้าปล้อง เป็นต้น
(13).jpg)
ส่วนแผนงาน/โครงการภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีจำนวน 21 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 11,830 ไร่ พื้นที่ได้รับการป้องกัน 65,344 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,288 ครัวเรือน และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 0.3564 ล้าน ลบ.ม. เช่น โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็ม รูปแบบที่ 1 จำนวน 2 แห่ง, โครงการระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบ (ฝั่งซ้าย) โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองหญ้าปล้อง อ.หนองหญ้าปล้อง และโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบ้านลาด ระยะที่ 2 อ.บ้านลาด เป็นต้น
(9).jpg)
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญ 2 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 5.06 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 4,000 ไร่ ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ได้ 222,149 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 46,109 ครัวเรือน ได้แก่ โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างขั้นตอนการออกแบบ โดยมีแผนดำเนินการในปี 69 และโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการออกแบบเช่นเดียวกัน โดยมีแผนดำเนินการในปี 70
ข่าวเด่น