ก.ล.ต.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายตราสารหนี้ และการเปิดเผยข้อมูล ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น และเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและทันต่อเหตุการณ์ในการตัดสินใจลงทุน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยกระดับหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายตราสารหนี้ รวมถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น และเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและทันต่อเหตุการณ์ในการตัดสินใจลงทุน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป* ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
(1) ผู้ออกตราสารหนี้ (issuer) ที่มีพันธบัตรหรือหุ้นกู้รุ่นเดิมอยู่ระหว่างการขยายอายุหรือเลื่อนการชำระหนี้ หรืออยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ สามารถออกและเสนอขายตราสารหนี้รุ่นใหม่ได้เฉพาะหุ้นกู้ด้อยสิทธิเท่านั้น และต้องระบุชื่อหุ้นกู้ให้ชัดเจนว่า issuer อยู่ระหว่างขยายระยะเวลาการชำระหนี้ หรืออยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้
(2) สำหรับ issuer ที่ขออนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW) หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) ต้องจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (มาตรฐาน PAE) โดยเริ่มตั้งแต่งบการเงินประจำปี 2570 เพื่อให้ผู้สนใจลงทุนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของ issuer
(3) การออกและเสนอขายตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงต้องมีคำว่า “พันธบัตรเสี่ยงสูง” หรือ “หุ้นกู้เสี่ยงสูง” อยู่ในชื่อของตราสารอย่างชัดเจน และต้องมีคำเตือนผู้ลงทุนถึงความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้ การจัดสรรสินทรัพย์และการกำหนดสัดส่วนของการลงทุน (asset allocation) เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ชัดเจน เป็นระบบ ง่ายต่อการติดตาม และสามารถวิเคราะห์แนวโน้มความสามารถในการชำระหนี้และฐานะการเงินของ issuer ได้ดียิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มประเภทวัตถุประสงค์การใช้เงิน การเปิดเผยอัตราส่วนทางการเงิน (key financial ratio) ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ (financial highlight) และข้อกำหนดด้านการเงิน (financial covenants)
ข่าวเด่น