สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
· เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนที่ 36.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังข้อมูลเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอ
เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ แต่ล้างช่วงอ่อนค่าลงทั้งหมดและขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต่อมาสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงขายตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคและยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เดือนเม.ย. ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด ประกอบกับประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดไม่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก
ทั้งนี้ จากข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ และท่าทีของเฟดดังกล่าว ทำให้ตลาดกลับมาเพิ่มน้ำหนักความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนก.ย. นี้อีกครั้ง โดยในส่วนของเงินบาทนั้น แข็งค่าไปที่ 36.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาบางส่วนท้ายสัปดาห์ตามการปรับโพสิชั่นของตลาดเพื่อรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ของไทยในวันที่ 20 พ.ค. นี้
· ในวันศุกร์ที่ 17 พ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 พ.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-17 พ.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 5,212 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 3,706 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 3,935 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 229 ล้านบาท)
· สัปดาห์ถัดไป (20-24 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.85-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ของไทย (20 พ.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย. ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ค. ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อ 30 เม.ย.-1 พ.ค. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ย Loan Prime Rate ของจีน ผลการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้ อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของอังกฤษ และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
· ดัชนีหุ้นไทยปิดบวกได้ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 แม้จะผันผวนระหว่างสัปดาห์
ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวกรอบแคบๆ ในช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด ก่อนจะปรับตัวลงในช่วงกลางสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หลังรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของกลุ่มค้าปลีกและพลังงานออกมาน่าผิดหวัง รวมถึงมีแรงขายหุ้นบิ๊กแคปกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และไฟแนนซ์ ซึ่งถูกคัดออกจากการคำนวณในดัชนี MSCI (มีผลวันที่ 31 พ.ค.นี้) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากรายงานข่าวที่ว่าสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายรายการ
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้ในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังสหรัฐฯ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ซึ่งชะลอตัวลง ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่า มีโอกาสมากขึ้นที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือนก.ย.นี้ หุ้นไทยขยับขึ้นต่อในช่วงปลายสัปดาห์ นำโดย หุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากปัจจัยเฉพาะตัว
ในวันศุกร์ที่ 17 พ.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,382.68 จุด เพิ่มขึ้น 0.79% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,979.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.73% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.49% มาปิดที่ระดับ 384.27 จุด
· สัปดาห์ถัดไป (20-24 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,370 และ 1,360 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,390 และ 1,400 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย. ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนพ.ค.ของจีน และอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ของญี่ปุ่น
ข่าวเด่น