เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : "จีน-ฟิลิปปินส์" ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน จากข้อพิพาททะเลจีนใต้


ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ กำลังเข้าสู่ความร้าวฉานเข้าขั้นวิกฤต จากประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันเหนือพื้นที่ทะเลดังกล่าว ซึ่งปัญหาข้อพิพาทนี้ แม้ศาลจะตัดสินให้ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะเมื่อปี 2016 จากที่ฟิลิปปินส์ยื่นคำร้องต่อศาลประจำอนุญาโตตุลาการ คัดค้านการอ้างสิทธิ์ของจีน ที่อ้างความเป็นเจ้าของลุกล้ำประเทศอื่นในบริเวณทะเลจีนใต้ แต่จีนนั้นได้ปฏิเสธคำตัดสินดังกล่าว ทำให้จีนยังคงเดินหน้าอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ต่อไป ด้วยการสร้างเกาะเทียมของจีนบนหมู่เกาะสแปรตลีย์ สร้างฐานทัพเรือ ลานเครื่องบิน ทำการขุดเจาะน้ำมัน รวมถึงห้ามเรือประมงของชาติอื่นเข้าไปทำการประมงบนบริเวณที่จีนยังคงอ้างสิทธิ์อีกด้วย
 
โดยข้อพิพาททะเลจีนใต้ที่เกิดขึ้นนี้ มาจากการอ้างสิทธิ์ที่มีความขัดแย้งกัน กล่าวคือ ทางจีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ของทะเลจีนใต้ตามแผนที่ “เส้นประเก้าเส้น” (Nine-Dash Line) ซึ่งครอบคลุมถึง 90% ของพื้นที่ โดยอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์หลายร้อยปีที่ผ่านมา แต่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิ์พื้นที่ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือ EEZ ของตนตามกฎหมายทะเลของสหประชาชาติ United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS ที่ทางจีนเอง ก็ได้ลงนามอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อปี 1982 และให้สัตยาบันในปี 1996 แต่ตอนนี้ จีนกลับปัดตก และอ้างเขตแดนตามเส้นประดังกล่าวที่ขีดไว้เมื่อเกือบ 80 ปีก่อนในสมัยรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ขัดกับหลักเกณฑ์ของ UNCLOS ที่ให้พื้นที่ของทะเลจีนใต้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศต่างๆ ตามการแบ่งเขตเศรษฐกิจที่ให้พื้นที่ทำประมงไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งของประเทศนั้นๆ ส่วนพื้นที่ที่เกินกว่า 200 ไมล์ทะเลหลังจากนั้นให้ถือเป็นน่านน้ำสากล (แต่จีนพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือในพื้นที่ส่วนที่เกินจาก 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ซึ่งกินพื้นที่ของประเทศอื่น ๆ ในน่านน้ำ)
 
โดยการไม่ลงรอยระหว่าง 2 ประเทศได้ดำเนินเรื่อยมาจากการตัดสินของศาล และในที่สุดก็เกิดการปะทะกันระหว่างเรือส่งกำลังบำรุงของฟิลิปปินส์ และเรือของหน่วยยามฝั่งจีน บริเวณสันดอนโทมัสที่ 2 หรือ Second Thomas ที่ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในทะเลจีนใต้  เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2023 ที่ผ่านมา โดยความสำคัญของสันดอนนี้นั้น เป็นที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ตามกฎหมาย UNCLOS ซึ่งทางฟิลิปปินส์เองก็ได้ตั้งถิ่นฐานเรือรบบนสันดอนนี้ เพื่อยืนยันสิทธิ์ของตนต่อพื้นที่ และยังคงส่งเสบียงและกำลังพลไปอยู่เสมอเพื่อรักษาการตั้งถิ่นฐาน แต่จีนพยายามกดดันให้ฟิลิปปินส์ถอนตัวจากสันดอน โดยใช้วิธีการต่างๆ ดังเช่นวิธีการล่าสุดดังกล่าวที่เรือของหน่วยยามฝั่งจีนขัดขวางเส้นทางเดินเรือ และใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงเข้าใส่เรือส่งกำลังบำรุงของฟิลิปปินส์ ที่กำลังบรรทุกเสบียงและเชื้อเพลิงเข้าไปให้กับหน่วยทหารที่ประจำการอยู่ที่สันดอนโทมัสที่ 2 เป็นเหตุที่ทำให้ความขัดแย้งปะทุเข้าขั้นรุนแรงในปัจจุบัน
 
ทำไมจีนถึงอยากครอบครองทะเลจีนใต้?
 
เบื้องหลังของการที่จีนอยากครอบครองพื้นที่ทะเลจีนใต้นั้น มาจากแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน Belt and Road Initiative (BRI) ที่มุ่งขยายอำนาจของประเทศจีนด้วยการพยายามครอบครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจทั่วโลก เช่น โครงการสร้างเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล ผ่านการเข้าปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ที่เชื่อมต่อเส้นทางกับเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ด้วยการให้ความช่วยเหลือ จับมือเป็นพันธมิตร หรือเป็นการอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในกรณีของพื้นที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นจุดการคมนาคมทางทะเลของเส้นทางที่จีนพยายามสร้าง หากจีนสามารถครอบครองพื้นที่ทะเลจีนใต้ตามการอ้างสิทธิ์ได้สำเร็จ ก็นับเป็นความก้าวหน้าของโครงการเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เสริมกำลังให้กับจีนเป็นแกนนำในการเปลี่ยนระเบียบโลก ขยายอิทธิพลทางอำนาจ สามารถป้องกันตัวได้ หากเกิดปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก ที่จีนเคยโดนคว่ำบาตร และโดนบีบบังคับทางเศรษฐกิจมาก่อนในอดีต
 
อย่างไรก็ตาม ประเด็นข้อพิพาททางทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ยังไม่มีบทสรุป เพราะถึงแม้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก แต่ก็มีพันธมิตรอย่างสหรัฐอเมริกา ขั้วตรงข้ามของจีนคอยหนุนหลังให้อยู่ อีกทั้งยังประกาศเข้าข้างและปกป้องฟิลิปปินส์อีกด้วย ฉะนั้นข้อพิพาทนี้ หากยังคงมีความตึงเครียดต่อไป ก็อาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองขั้วประเทศมหาอำนาจในอนาคต และอาจนำไปสู่เหตุการณ์ปะทะที่มีความรุนแรงมากกว่าแค่การซ้อมรบในพื้นที่ทะเลจีนใต้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 พ.ค. 2567 เวลา : 20:10:02
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 12:38 am