ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 79-89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (20 - 24 พ.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ และจีนออกมาดีกว่าคาดการณ์ โดยอัตราเงินเฟ้อ เม.ย. 67 อยู่ที่ระดับคาดการณ์ แต่ยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าของจีนพลิกกลับเป็นบวกอีกครั้ง ภายหลังหดตัวในเดือน เม.ย. 67 นอกจากนี้สถานการณ์ทางภูมิศาสตร์ที่ยังคงตึงเครียดในฉนวนกาซายังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลต่ออุปทานน้ำมันดิบได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่การนำเข้าน้ำมันดิบของโรงกลั่นในจีนมีแนวโน้มปรับตัวลดลง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดตัวเลขการนำเข้าของจีนเดือน เม.ย. 67 ปรับสูงขึ้น 8.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 5.4% ตัวเลขการนำเข้าที่ปรับสูงขึ้นสะท้อนถึงความต้องการใช้สินค้าภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นและคาดการณ์ว่าจะสนับสนุนต่อความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศ
อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 67 ปรับตัวขึ้นเพียง 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 3.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.6 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังคงสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ระดับ 2% ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะยังยังคงมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25 – 5.50% เช่นเดิม ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11-12 มิ.ย. 67 นี้ แต่อาจมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือน ก.ย. 67
นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงน่ากังวล ภายหลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ซึ่งสำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐฯ ประจำเดือน พ.ค. 67 บ่งชี้ว่า ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 67.4 ลดลง 9.8 จุดจากเดือนก่อนหน้าและถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 โดยตัวเลขที่ปรับลดลง ได้รับผลกระทบจากความกังวลที่เกี่ยวข้องกับค่าครองชีพและอัตราการว่างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น
สถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง ภายหลังข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มที่จะไม่บรรลุผลสำเร็จ ท่ามกลางการโจมตีเมืองราฟาห์อย่างต่อเนื่องของอิสราเอล โดยการโจมตีของอิสราเอลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ขององค์กรสหประชาชาติเสียชีวิตด้วยเช่นกัน แม้สถานการณ์ความตึงเครียดที่ดำเนินอยู่จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุปทานน้ำมันดิบ แต่ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าสงครามตัวแทนระหว่างกลุ่มฮามาสซึ่งหนุนโดยอิหร่านและอิสราเอลจะมีการขยายตัวเพิ่มเติมและจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบหรือไม่
การนำเข้าน้ำมันดิบของโรงกลั่นในจีน ซึ่งถือเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มปรับลดลง 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 40.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สำหรับน้ำมันดิบเข้ากลั่นในเดือน มิ.ย. 67 ภายหลัง Saudi Aramco ประกาศปรับเพิ่มราคาขายอย่างเป็นทางการ (OSP) สู่จุดสูงสุดในรอบ 5 เดือน
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 67 และตัวเลขที่สำคัญของสหภาพยุโรป อันได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการ เดือน พ.ค. 67
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 - 17 พ.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 1.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 80.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 83.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 84.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยที่อาจจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ภายหลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้กล่าวถึง อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ (PPI) ในเดือน เม.ย. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 67 ที่ระดับ 1.8% จากหมวดสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อให้สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ตลาดคาดว่าอุปสงค์น้ำมันดิบในสหรัฐฯ
มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลขับขี่ โดยสมาคมผู้ผลิตยานยนต์อเมริกา (AAA) คาดการณ์กิจกรรมการเดินทางในวันรำลึกถึงผู้พลีชีพเพื่อชาติ (Memorial day) ซึ่งตรงกับวันที่ 27 พ.ค. จะสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2005 นอกจากนี้ จีนได้รายงานตัวเลขดัชนีผู้บริโภค (CPI) ในเดือน เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 0.3% นับเป็นการปรับเพิ่มต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน สะท้อนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในจีน
ข่าวเด่น