หุ้นทอง
"ทรีนีตี้" ฟื้น!! ไตรมาสแรกปี 67 กำไรพุ่ง 168.39%


“ทรีนีตี้” เทิร์นอะราวด์ รายได้ค่าธรรมเนียมขายหุ้น “ไอพีโอ” กำไรพอร์ตหุ้น - คริปโทเคอร์เรนซี เติบโตต่อเนื่อง อวดกำไรไตรมาสแรกปี 2567 กว่า 15.68 ล้านบาท พุ่งขึ้น 168.39% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มองไตรมาส 2 ยังสดใสจากดีลที่ปรึกษาไอพีโอเพียบ

 
ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จํากัด (มหาชน) (TNITY) เปิดเผยถึงผลดำเนินงานของบริษัทงวดไตรมาส 1 ปี 2567 ว่า บริษัทกลับมามีกำไรสุทธิ 15.86 ล้านบาท หรือคิดเป็นกําไรต่อหุ้น 0.07 บาท โดยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 168.39 จากไตรมาสเดียวกันปี 2566 ที่ขาดทุนสุทธิ 23.19 ล้านบาท ทั้งนี้ งวดไตรมาสแรกของปี บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 157.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 63.52 จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 96.49 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการ ที่ขยายตัวมากขึ้นจากการที่ในไตรมาสนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น เกือบ 100% ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและรับประกันการจำหน่ายหุ้นให้กับบริษัทที่นำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ทำให้มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการจำนวน 25.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 44.63 จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีรายได้ 17.68 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีกําไรและผลตอบแทนจากเงินลงทุนรวม 18.90 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 64.74 ล้านบาท รวมถึงมีกำไรจากการขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี 9.69 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นใน ไตรมาส 1 ปีนี้ด้วย

ดร.วิศิษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์โดยเฉพาะรายได้จากนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ยังคงเป็นไปตามสภาพของตลาดรวมที่ยังคงผันผวน ได้รับแรงกดดันจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลให้ราคานํ้ามันยังคงอยู่ในระดับสูง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสําคัญต่อเศรษฐกิจโลก ทําให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน แม้เศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัว แต่การใช้จ่ายของภาครัฐกลับ ลดลงมาก การฟื้นตัวของภาคการส่งออกช้ากว่าที่คาดจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวน โดยในช่วงไตรมาส 1 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงจาก 1,415.85 จุดเมื่อสิ้นปี 2566 เป็น 1,377.94 จุดสิ้นเดือนมีนาคม และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลงมาอยู่ที่ 45,684 ล้านบาท ลดลงจากจากไตรมาสเดียวกันปี 2566 ที่ 66,684 ล้านบาท หรือลดลงในอัตราร้อยละ 31.49 ส่วนตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีปริมาณการซื้อขายลดลงจากจากไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีปริมาณซื้อขายสัญญาฯ ต่อวัน 594,550 สัญญาเป็น 432,727 สัญญาในไตรมาส 1 ปี 2567 หรือลดลงในอัตราร้อยละ 27.22

ผลของการลดลงอย่างมากของปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทำให้รายได้จากนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงตามด้วย โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้ 24.32 ล้านบาท ลดลงในอัตราร้อยละ 43.61 จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 43.13 ล้านบาท ส่วนรายได้จากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ในไตรมาส 1 ปี 2567 ลดลงเหลือ 42.36 ล้านบาท หรือลดลงในอัตรา 17.30 จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 51.22 ล้านบาท ซึ่งการลดลงดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์เป็นผลจากการลดลงของเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ระหว่างงวด

ดร.วิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางในช่วงไตรมาส 2 ว่าน่ายังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจที่ปรึกษาเพราะยังมีดีลที่จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีก 6-8 ดีลใน 1-2 ปีข้างหน้า ขณะที่ ในส่วนของตลาดหุ้นก็น่าจะดีขึ้นหลังจากเริ่มเห็นสัญญาณการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ แม้จะถูกยืดระยะเวลาออกไป ในขณะที่เศรษฐกิจในประเทศก็น่าจะดีขึ้นหลังงบประมาณปี 2567 ถูกอัดฉีดเข้าระบบ เป็นต้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 พ.ค. 2567 เวลา : 13:58:54
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:37 am