การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน อุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วกว่าปกติ สภาพอากาศที่ผิดเพี้ยนไป อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความรุนแรงของพายุที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลคือผลจากพฤติกรรมของมนุษย์ ที่ร่วมกันปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ
หลายประเทศทั่วโลกเริ่มตระหนักให้หันมาให้ความสำคัญในประเด็นนี้อย่างจริงจัง ขณะที่ประเทศไทยเอง ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065
แน่นอนว่าการจะไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
นอกจากภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของนโยบายหลัก ภาคเอกชนและภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการจัดงาน “พลาสติกแอนด์รับเบอร์ ไทยแลนด์ 2024: Plastics & Rubber Thailand 2024” ที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “Step to Net Zero” มีเป้าหมายในการผลักดันให้ไทยสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 – 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากนักอุตสาหกรรมกว่า 44,773 คน เข้าร่วมงานและเป็นหนึ่งงานใหญ่ที่จัดพร้อมกันกับงานอินเตอร์แมค งานซับคอน ไทยแลนด์ และไทร์เอ็กซ์โป เอเชีย 2024
นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าสำหรับธุรกิจ อุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่กำลังเติบโต ในฐานะผู้จัดงาน “พลาสติกแอนด์รับเบอร์ ไทยแลนด์ 2024: Plastics & Rubber Thailand 2024” ให้ข้อมูลว่า “สถานการณ์อุตสาหกรรมพลาสติกและยางไทย ปีนี้จะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 2566 ที่การผลิตและการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง เติบโตได้เพียงเล็กน้อย โดยมองปัจจัยหนุนปี 2567 มาจากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัวต่อเนื่อง หนุนความต้องการใช้พลาสติกและยางของอุตสาหกรรมปลายทาง อาทิ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง และเครื่องมือแพทย์ ฯลฯ เพิ่มสูงขึ้น
โดยงาน “พลาสติกแอนด์รับเบอร์ ไทยแลนด์ 2024: Plastics & Rubber Thailand 2024” เกิดจากความร่วมมือกันจัดงานระหว่าง อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประทศไทย และ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย นอกจากเป้าประสงค์ที่จะผลักดันให้งานครั้งนี้ยิ่งใหญ่กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อตอกย้ำจุดแข็งการจัดงานที่ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิต การสร้างนวัตกรรมที่ทันสมัยในแวดวงอุตสาหกรรมพลาสติกและยางไว้มากที่สุด พร้อมส่งเสริมโซลูชันสู่เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการผลิตเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) และส่งเสริมความพร้อมแก่นักอุตสาหกรรมสำหรับการมาของมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่จะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไปสู่ยุโรป และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาคเอกชนที่มาร่วมออกบูธภายในงาน จะนำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลาสติกและยางมาจัดแสดงแบบครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกที่จะไม่ใช่แค่การรีไซเคิลแบบเดิม แต่เป็นการยกระดับความยั่งยืน เพิ่มมูลค่าจนนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ไม่ได้จำกัดแค่การหมุนเวียนกลับมาเป็นขวดพลาสติก หรือ บรรจุภัณฑ์ รีไซเคิลเท่านั้น
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่มาร่วมออกบูธในงาน คืออีกหนึ่งองค์กรที่ยกระดับการรีไซเคิลไปสู่การ Upcycling และ Upstyling ที่นำขยะพลาสติกมาสร้างผลิตภัณฑ์ Eco-Design ที่จับมือกับผู้ประกอบการแฟชั่นเสื้อผ้า พัฒนาเป็นสินค้าใหม่ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า แม้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีราคาแพงขึ้นจากสินค้าทั่วไป แต่เป็นการสร้างความภูมิใจให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขาย ที่ได้มีส่วนร่วมในการปกป้องโลก ลดปริมาณขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ขณะที่มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่พัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกจากพืช หรือ วัตถุดิบธรรมชาติ ที่เรียกว่า ไบโอพลาสติก (Biodegradable Plastic) ซึ่งจะเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาไม่นาน โดยวัตถุดิบที่นำมาพัฒนาเป็นไบโอพลาสติก เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง มันเทศ ข้าวสาลี ซึ่งทั้งหมดจะสามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Bio Compostable) จนเหลือเพียงน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และสารปรับปรุงดิน เช่น บริษัท Siam Modified Starch ที่พัฒนาพลาสติกมาจากมันสำปะหลัง
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกมีราคาแพงกว่าพลาสติกทั่วไป 1 ถึง 2 เท่า ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่สถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับนโยบายของภาครัฐไทย และนโยบายของหลายประเทศทั่วโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการในไทยต้องปรับตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีสินค้าเพื่อการส่งออก นั่นเพราะนโยบายของหลายประเทศจะเริ่มพิจารณาสินค้าตั้งแต่การเป็นวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน จนถึงการทำลายเมื่อหมดอายุการใช้งาน ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะต้องแสดงเครื่องหมาย Carbon Footprint ที่แสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่
การมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องไปอีก 20 – 30 ปี แต่ปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกอบการเพียง 25% ที่เริ่มปรับตัวเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมากกว่า 55% ยังไม่ได้ดำเนินการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์
อย่างที่ทราบกันดีว่า แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ การปรับเปลี่ยนมาสู่การใช้เชื้อเพลิงและพลังงานหมุนเวียน การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ
ความสำคัญของงาน “พลาสติกแอนด์รับเบอร์ ไทยแลนด์ 2024: Plastics & Rubber Thailand 2024” ที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “Step to Net Zero” จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาศึกษา ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลาสติกและยางที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการทำความรู้จักกับองค์กร หรือ ผู้ประกอบการที่สร้างนวัตกรรมพลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล สู่กับ Upcycling หรือ ไบโอพลาสติก ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจในอนาคต
ต้องถือว่างานนี้เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในหนทางของการดำเนินงานของธุรกิจภายใต้แนวคิด Sustainable ที่ใส่ใจสังคม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ในฐานะผู้จัดงานตัวกลางที่สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเตรียมเดินหน้าจัดงาน “พลาสติกแอนด์รับเบอร์ ไทยแลนด์ 2025” ในปีหน้า แล้วพบกันอีกครั้งระหว่างวันที่ 14 – 17 พฤษภาคม 2568 ที่ศูนย์การประชุมนิทรรศการไบเทค บางนา
ข่าวเด่น