การค้า-อุตสาหกรรม
'พาณิชย์' เปิดบ้านถกอาเซียน-คู่เจรจา เร่งอัปเกรด FTA ปูทางรับติมอร์-เลสเตเข้าเป็นสมาชิก หนุนความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค


กระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 2/55 และประชุมร่วมกับคู่เจรจา FTA เดินหน้าเร่งยกระดับความตกลงกับจีน แคนาดา ฮ่องกง ญี่ปุ่น พร้อมเห็นชอบให้รายงานผลการเข้าร่วมยกระดับความสามารถด้านเศรษฐกิจของติมอร์-เลสเต ต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสามเสาอาเซียน มิ.ย.นี้ หนุนความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ตอบสนองการดำเนินธุรกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

 
นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ครั้งที่ 2/55 และการประชุมร่วมกับคู่เจรจา FTA สำคัญของอาเซียน ระหว่างวันที่ 20-23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ เพื่อผลักดันการเจรจาให้คืบหน้าโดยเร็ว และวางแนวทางให้กับติมอร์-เลสเตในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเต็มตัว รวมทั้งปรับปรุงกลไกการหารือกับภาคเอกชนอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 
นายธัชชญาน์พล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ อาเซียนได้พบกับคู่เจรจา FTA 4 ประเทศ ได้แก่ จีน แคนาดา ฮ่องกง และญี่ปุ่น เพื่อหารือความร่วมมือและเร่งเจรจา FTA ระหว่างกัน โดยกรอบอาเซียน-จีน มีความคืบหน้าในการยกระดับ FTA ไปแล้วกว่าร้อยละ 34 ซึ่งเจรจาจบแล้ว 2 เรื่อง คือ ความร่วมมือเศรษฐกิจและวิชาการ และ MSMEs รวมทั้งต้องเร่งหาข้อสรุปในเรื่องที่เหลือ อาทิ การลดภาษีสินค้าเพิ่มเติม สำหรับ FTA กับแคนาดา จะเปิดเจรจารอบที่ 8 ณ ประเทศไทย ในวันที่ 22-24 พฤษภาคมนี้ ขณะที่อาเซียนได้เร่งรัดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการให้ FTA อาเซียน-ฮ่องกง ฉบับปรับปรุง มีผลใช้บังคับเพื่อให้ภาคเอกชนได้ประโยชน์โดยเร็ว ส่วนกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายจะเร่งจัดทำแผนงานความร่วมมือด้านการค้าดิจิทัลและแผนแม่บทยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคต่อไป

 
นอกจากนี้ อาเซียนเห็นชอบให้รายงานผลการเข้าร่วมยกระดับความสามารถด้านเศรษฐกิจของติมอร์-เลสเตต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสามเสาประชาคมในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อพิจารณากระบวนการต่อไป สำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างสมบูรณ์ของติมอร์ฯ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นสมาชิกสังเกตการณ์ รวมทั้งวางแนวทางสำหรับการเจรจาเข้าร่วมความตกลงด้านเศรษฐกิจสำคัญชุดแรก เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน เป็นต้น

 
สำหรับอาเซียนให้ความสำคัญกับภาคเอกชนและผู้ประกอบการ MSMEs ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยได้ประเมินประสิทธิภาพความร่วมมือรัฐ-เอกชนของอาเซียนในปัจจุบัน และได้เร่งรัดหาแนวทางปรับปรุงกลไกความร่วมมือกับภาคเอกชนอาเซียนให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจยิ่งขึ้น เพื่อให้เอกชนมีช่องทางที่เหมาะสมและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 พ.ค. 2567 เวลา : 14:45:07
01-02-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ February 1, 2025, 4:44 pm