หุ้นทอง
Theme การลงทุนในบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศ (SET-Global Play)


 · การส่งออกของไทยถือเป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญโตทางเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด และเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวได้ 3.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ก่อนเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวจากการหดตัวของการส่งออกในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY)


· จากการพัฒนาฐานข้อมูลการลงทุนและรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ1 โดยทีม SET Research พบว่าบริษัทจดทะเบียนไทยขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ และมีรายได้จากต่างประเทศเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2022 บริษัทจดทะเบียนฯ มีรายได้จากต่างประเทศรวม 5.81 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 31% ของรายได้รวมทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงคือ กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

· พอร์ตการลงทุน SET Global Play ที่เน้นลงทุนในกลุ่มบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศสูง ช่วยกระจายความเสี่ยงไปยังภูมิภาคต่างๆ อาจให้ผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนรวมของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในบางช่วงเวลา แต่ก็มีความผันผวนตามสถานการณ์การค้าโลกและภาคการส่งออกของไทย เช่น

SET-Global Play Large Cap

คัดเลือก 20-30 หุ้นขนาดใหญ่จาก 10 sectors ที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศโดยเฉลี่ยสูงถึง 71%

ให้ผลตอบแทนรวม 5 ปีย้อนหลังที่ 26.13% และผลตอบแทนรวมระยะสั้น (YTD) ที่ 5.25% และมี dividend yield ที่ 4.10% (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พ.ค. 2024)

SET-Global Play Mid & Small

คัดเลือก 20-30 หุ้นขนาดกลางและเล็กจาก 10 sectors ที่สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศโดยเฉลี่ยสูงถึง 55%

ให้ผลตอบแทนรวม 5 ปีย้อนหลังที่ 79.42% และผลตอบแทนรวมระยะสั้น (YTD) ที่ 12.82% และมี dividend yield ที่ 3.94% (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พ.ค. 2024)

· อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออกของไทย อาจต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการจากการแข่งขันที่รุนแรง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและความต้องการในตลาดโลก รวมถึงประเด็นในระดับนโยบาย อาทิ การกีดกันทางการค้า มาตรการภาษี และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและมาตรฐานสินค้า เป็นต้น

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทยอยคลี่คลายลง เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการค้าระหว่างประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัว เป็นผลมาจากการเปิดประเทศและการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ในหลายๆ ประเทศ การฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ นับเป็นแรงหนุนสำคัญให้การส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยในปี 2022 มูลค่าการส่งออกของไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงโควิดมากกว่า 5.5% แม้จะหดตัวเล็กน้อยราว 1% ในปี 2023 จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มากขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่เริ่มชะลอการเติบโตลง แต่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 โดยการส่งออกไทยในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวได้ 3.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ก่อนเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวจากการหดตัวในเดือนมีนาคมจากตัวเลขฐานสูงของปีก่อนหน้า โดยในปีนี้กระทรวงพาณิชย์มีกรอบเป้าหมายการส่งออกขยายตัวที่ 1-2% สะท้อนถึงความต้องการสินค้าจากประเทศในตลาดโลกที่ยังเติบโตได้

การส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจมาโดยตลอด มีสัดส่วนมากกว่า 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2023 มูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ 284,562 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 9.8 ล้านล้านบาท (มูลค่า GDP ปี 2023 เท่ากับ 17.9 ล้านล้านบาท) มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และเครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ ฯลฯ

เมื่อพิจารณาถึงตลาดส่งออกที่สำคัญ ไทยมีประเทศคู่ค้าหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น เป็นโอกาสสำหรับสินค้าและบริการจากไทยในการขยายส่วนแบ่งการตลาดให้เพิ่มขึ้น โดยการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาและจีนคิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 29% ขณะที่การส่งออกไปยังญี่ปุ่นและออสเตรเลียมีสัดส่วนประมาณ 9% และ 4% ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมีสัดส่วนรวมกันราว 23% ทั้งนี้ ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าในประเทศคู่ค้าจะส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตของรายได้ของบริษัทไทยที่มีฐานลูกค้าในต่างประเทศเป็นหลัก

ภาพที่ 1: ภาคการส่งออกของไทย

 
นอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การส่งออกของไทยยังได้รับอานิสงส์จากข้อตกลงทางการค้าเสรีหลายฉบับ ซึ่งช่วยลดอุปสรรคทางการค้า ทั้งในรูปแบบของภาษีนำเข้าและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) ความตกลงทางการค้าเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกไทยสามารถขยายตลาด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ความตกลงทางการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ไทย-ชิลี เป็นต้น ผลจากการเปิดเสรีการค้าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตของบริษัทที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายการผลิตและการตลาดครอบคลุมหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างอยู่หลายประการ อาทิ การแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่ค้าทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ทั้งเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่อุปทานของสินค้าไทยที่ต้องปรับตัว พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และพัฒนาทักษะของแรงงาน ที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของยุคสมัยและเทรนด์ของโลก

ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศ จึงเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังภูมิภาคต่างๆ ลดการพึ่งพิงความผันผวนของเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมกับเปิดโอกาสในการรับผลตอบแทนจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยใน SET Note ฉบับนี้ จะขอนำเสนอพอร์ตการลงทุน SET Global Play ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ โดยนำเสนอแนวทางในการสร้าง portfolio ข้อมูลสถิติสำคัญ ผลตอบแทน พร้อมทั้งปัจจัยความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มหุ้นในพอร์ตการลงทุน

บริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ และมีรายได้จากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทีม SET Research ได้รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลการลงทุนและรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ Economic Exposure Universe1 ที่เก็บข้อมูลการลงทุนทางตรงและรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ เป็นประจำทุกปี โดยรวบรวมข้อมูลจากการเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปีและแบบรายงาน 56-1 ซึ่งมีการรวบรวมมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา

แนวทางการสร้าง Global Play Portfolio โดยใช้ฐานข้อมูลรายได้จากต่างประเทศ

บริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ และมีรายได้จากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทีม SET Research ได้รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลการลงทุนและรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ Economic Exposure Universe1 ที่เก็บข้อมูลการลงทุนทางตรงและรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ เป็นประจำทุกปี โดยรวบรวมข้อมูลจากการเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปีและแบบรายงาน 56-1 ซึ่งมีการรวบรวมมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา

ในปี 2022 พบว่า 335 บริษัทจดทะเบียนได้เปิดเผยข้อมูลรายได้จากต่างประเทศโดยมีมูลค่ารวมสูงถึง 5.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 4.1 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 41.4% และสัดส่วนของรายได้จากต่างประเทศเปรียบเทียบกับรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนฯ ทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 23 ในปี 2016 เป็นสัดส่วนร้อยละ 31 ในปี 2022 หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด โดยภูมิภาคที่บริษัทจดทะเบียนไทยมีรายได้จากต่างประเทศสูงคือ ภูมิภาคเอเชีย ภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคอเมริกา และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงคือ กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

ภาพที่ 2: รายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนไทย
 

 
ใน SET Note ฉบับนี้ ทีม SET Research ได้นำเสนอพอร์ตการลงทุน SET Global Play ที่เน้นการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีรายได้จากต่างประเทศเพื่อเป็นตัวอย่างและแนวทางในการวิเคราะห์และเลือกลงทุน โดยจะแบ่งพอร์ตการลงทุนออกเป็น 2 พอร์ต ได้แก่ พอร์ตการลงทุนที่มีรายได้จากต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ (Global Play – Large Cap) และพอร์ตการลงทุนในบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก (Global Play – Mid & Small Cap) ตามภาพที่ 3

พอร์ตการลงทุนในบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากกว่า 5,000 ล้านบาท มีรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 2,000 ล้านบาท สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 25% และจะต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัว เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (free-float) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้วของบริษัท และอัตราส่วนหมุนเวียนหลักทรัพย์มากกว่า 5%

พอร์ตการลงทุนที่มีรายได้จากต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดกลางและเล็ก2 ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาท สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 10% และจะต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัวพอสมควร เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (free-float) ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้วของบริษัท และอัตราส่วนหมุนเวียนหลักทรัพย์มากกว่า 0.5%

โดยทั้ง 2 พอร์ตการลงทุนจะใช้วิธีการคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด และจำกัดน้ำหนักของแต่ละหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนไม่เกินร้อยละ 5 ในทุกรอบที่มีการปรับสมดุลพอร์ต (rebalancing) ซึ่งมีรอบระยะเวลาในการปรับทุกครึ่งปี และทำการคัดเลือกหลักทรัพย์จากหมวดธุรกิจ (sector) ที่มีมูลค่ารายได้จากต่างประเทศมากที่สุด 10 อันดับแรก และคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงที่สุด 2-3 อันดับแรก ในแต่ละหมวดธุรกิจนั้นๆ 
 
ภาพที่ 3: ขั้นตอนการสร้างพอร์ตการลงทุน SET Global Portfolios
 
 
สัดส่วนการลงทุนและผลตอบแทนของ Global Play Portfolio

สัดส่วนการลงทุนของพอร์ตการลงทุน SET Global Play-Large Cap มีสัดส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (agro & food) และอุตสาหกรรมบริการ (service) ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันที่ประมาณ 28% และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีประมาณ 16% ของพอร์ตการลงทุน ในขณะที่ พอร์ตการลงทุน SET Global Play-Mid&Small Cap สัดส่วนในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (property & construct) ประมาณ 30% อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ประมาณ 26% และอุตสาหกรรมบริการประมาณ 20% ของพอร์ตการลงทุน

ภาพที่ 4: สัดส่วนอุตสาหกรรมในพอร์ตการลงทุน และหลักทรัพย์ที่มีน้ำหนักมากที่สุด 10 อันดับแรก

 
จากการคัดเลือกหุ้นของบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศสูง แล้วนำมาจัด portfolio ตามรูปที่ 5 พบว่า ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ (SET-Global Play Large Cap) มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 71% มี dividend yield ที่ 4.10% โดยมี P/BV ที่ 0.94 เท่า ในขณะที่กลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็ก (SET-Global Play Mid & Small Cap) มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 55% มี dividend yield ที่ 3.94% โดยมี P/BV ที่ 0.91 เท่า ซึ่งสูงกว่า dividend yield ของดัชนี SET Index ที่ 3.2%

ภาพที่ 5: สถิติสำคัญของพอร์ตการลงทุน Global Play เปรียบเทียบกับดัชนี SET Index

 
นอกจากนั้น ในแง่ของการวัดผลตอบแทนรวม ตามรูปที่ 6 พบว่า พอร์ตการลงทุนที่มีรายได้จากต่างประเทศ มีผลตอบแทนรวม มากกว่าดัชนี SET100 Total Return Index และ SET Total Return Index ในหลายๆ ช่วงเวลาย้อนหลัง เช่น ผลตอบแทนรวม 5 ปีย้อนหลังของพอร์ทการลงทุน SET-Global Play Large Cap มีผลตอบแทนรวม 26.13% สูงกว่าดัชนี SET100 Index ที่ -7.55% หรือหากพิจารณาในระยะสั้น (YTD) พอร์ตการลงทุน SET-Global Play ก็ให้ผลตอบแทนรวมสูงกว่าดัชนีตลาด ตามการส่งออกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปีนี้ เป็นต้น ในด้านความผันผวนของผลการดำเนินงานต่อปี (SD) จากพอร์ตการลงทุน SET-Global Play พบว่ามีค่า SD มากกว่าดัชนี SET100 Total Return Index และ SET Total Return Index ในทุกช่วงเวลาตามสถานการณ์การค้าและเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน อย่างไรก็ตาม หากเทียบความผันผวนที่สูงขึ้นกับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น พบว่าค่า Sharpe Ratio หรือผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง (risk-adjusted return) ของ SET-Global Play ยังสูงกว่าดัชนี SET100 Total Return Index และ SET Total Return Index

ภาพที่ 6: ผลตอบแทนรวม (Total Return) และความผันผวน (standard deviation)
เปรียบเทียบกับดัชนี SET Index
 
 

อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มการค้าโลก รวมถึงการส่งออกของไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีความไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่อาจกลับมาทวีความรุนแรง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจนำไปสู่ความไม่สงบในหลายภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศมหาอำนาจ ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงเป็นความท้าทายเชิงโครงสร้างต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและความต้องการในตลาดโลก ที่อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกลดลง รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการระบาดของโรคอุบัติใหม่ และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงาน ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

นอกจากนั้น ประเด็นในระดับนโยบาย อาทิ แนวโน้มการกีดกันทางการค้า การใช้มาตรการกีดกันทางภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและมาตรฐานสินค้าในด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจสร้างอุปสรรคต่อการส่งออกและนำไปสู่ความท้าทายของบริษัทจดทะเบียน เช่น มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้าประเทศกลุ่ม EU ในสินค้า 5 กลุ่มแรก ที่มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง

ทั้งนี้ ความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ในการพัฒนาศักยภาพของภาคการส่งออกไทยให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างนวัตกรรม พัฒนาทักษะแรงงาน และยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

กลยุทธ์การลงทุน SET-Global Play เป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจในยุคที่การค้าเชื่อมโยงกันมากขึ้น ผ่านการใช้ข้อมูลรายได้ต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียน แต่ก็ยังอาจมาพร้อมกับความเสี่ยงที่แตกต่างจากกลยุทธ์การลงทุนในบริษัทที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก ทั้งเรื่องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการค้า และกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลก นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลการลงทุนอย่างรอบด้าน ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจ ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท รวมถึงการประยุกต์ใช้ข้อมูลต่างๆ ในการนำมาวิเคราะห์เป็นรูปแบบการลงทุนที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเป้าหมายการลงทุนที่คาดหวัง ทั้งนี้ผู้ที่สนใจดัชนีของกลุ่มหลักทรัพย์หรือการลงทุนที่สะท้อน theme ต่างๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาขึ้น สามารถดูรายละเอียดและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.set.or.th/th/market/index/set/overview

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 พ.ค. 2567 เวลา : 20:26:08
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:21 am