เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC ปรับลดประมาณการส่งออกไทยปี 2024 เหลือ 2.6% แม้ขยายตัวได้ดี 6.8% ในเดือน เม.ย.



สัญญาณการฟื้นตัวการส่งออกดีขึ้นมากในระยะสั้น
 
มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน เม.ย. 2024 อยู่ที่ 23,278.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พลิกกลับมาขยายตัวที่ 6.8%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน) หลังจากที่หดตัว -10.9% ในเดือนก่อน หากหักทองคำออกมูลค่าการส่งออกเดือนนี้ขยายตัวได้ดีถึง 9.6%YOY นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกหลังหักทั้งทองคำและปัจจัยฐานยังขยายตัวได้ดีถึง 3.8%MOM_SA (เทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล) ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวแบบ %MOM_SA สูงที่สุดในรอบ 2 ปี 4 เดือน สะท้อนให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกไทยที่ดีขึ้นมากในระยะสั้น ในภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 มีมูลค่า 94,273.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.4%

การส่งออกเดือน เม.ย. 2024 ขยายตัวดีในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรม
 
ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าขยายตัวในบางกลุ่ม นำโดย (1) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรพลิกกลับมาขยายตัวที่ 12.7% หลังจากหดตัว -9.9% โดยอาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเป็นสินค้าหลักที่ขยายตัว ขณะที่น้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (2) สินค้าอุตสาหกรรมพลิกกลับมาขยายตัว 9.2% จากที่หดตัว -12.3% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์  ขณะที่อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (3) สินค้าเกษตรหดตัว -3.8% จากที่ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.1% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัว -9.2% ต่อเนื่องจาก -5% ในเดือนก่อน (รูปที่ 1 และ 3) 
 
การส่งออกเดือนนี้ขยายตัวในตลาดสำคัญส่วนใหญ่
 
ภาพรวมการส่งออกขยายตัวในเกือบทุกตลาดสำคัญ โดย (1) ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 26.1% เร่งขึ้นจาก 2.5% ในเดือนก่อนอย่างมาก โดยการส่งออกสินค้าสำคัญ 15 ลำดับแรกของตลาดนี้ขยายตัว 13 รายการ โดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยงและเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่ขยายตัว 133.3% และ 90.8% ตามลำดับ (2) ตลาดอินเดีย พลิกกลับมาขยายตัว 13.3% จากที่หดตัว -5.8% ในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับที่ขยายตัว 126.2% (3) ตลาดยุโรป พลิกกลับมาขยายตัว 8.8% จากที่เคยหดตัว -3.2% ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ (4) ตลาดจีน หดตัว -7.8% ต่อเนื่องจาก -9.7% ในเดือนก่อน (5) ตลาดเมียนมา หดตัว -17.1% ต่อเนื่องจาก -14.8% ในเดือนก่อน คาดว่าเป็นผลจากความขัดแย้งบริเวณใกล้เคียงกับสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 (แม่สอด) ซึ่งเป็นเส้นทางการส่งออกสินค้ามากถึง 74% ของไทยไปยังเมียนมา ที่ได้มีผลกดดันการส่งออกไปเมียนมาต่อเนื่องมาถึงเดือน เม.ย. แม้จะมีเส้นทางอื่นที่สามารถใช้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้ (รูปที่ 1)
 
ดุลการค้าขาดดุลจากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวแข็งแกร่ง 
 
มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน เม.ย. 2024 อยู่ที่ 24,920.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่อง 8.3%YOY เทียบกับ 5.6% ในเดือนก่อน โดยสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปกลับมาขยายตัว 19.8% สินค้าทุนขยายตัวต่อเนื่อง 17.8% สินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาขยายตัว 8% ขณะที่สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัวต่อเนื่อง -15.1% และสินค้าเชื้อเพลิงกลับมาหดตัว -18.1.% สำหรับภาพรวมการนำเข้ารายประเทศขยายตัวจาก 3 ตลาดหลัก คือ (1) ตลาดฮ่องกง ขยายตัว 183.9% จากการนำเข้าเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ที่ขยายตัวถึง 222.9% (2) ตลาดยุโรป กลับมาขยายตัวได้ 16.3% และ (3) ตลาดจีน กลับมาขยายตัว 10.2%

ดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้ขาดดุล -1,641.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าในเดือน มี.ค. 2024 ที่ -1,163.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2024 ดุลการค้าขาดดุล -6,116.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (รูปที่ 2)

SCB EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ 
 
มูลค่าการส่งออกไทยทั้งปีนี้คาดว่าจะพลิกกลับมาขยายตัวได้จากแรงสนับสนุนหลายด้าน (1) เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ 2.7% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2.6% เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มดีขึ้นจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในระยะสั้นตามวัฏจักรการผลิตและการส่งออก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ (รูปที่ 4) 
 
(2) ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปีนี้ เห็นจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกที่อยู่เหนือระดับ 50 สามเดือนต่อเนื่องหลังจากหดตัวมานาน นอกจากนี้ ดัชนี PMI ยอดคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศ (Export order) ยังปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 26 เดือนในเดือน เม.ย. นี้ ขณะที่ดัชนี PMI ปริมาณผลผลิตในอนาคต (Future output) ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วแม้จะชะลอตัวลงบ้าง สะท้อนการขยายตัวของภาคการผลิตโลกในระยะข้างหน้า 
 
(รูปที่ 4) และ (3) ราคาสินค้าส่งออกที่ดี เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงตามความเสี่ยงการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของรัสเซียโดยจากยูเครน สถานการณ์ความไม่แน่นอนในตะวันออกกลาง รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค. และไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากเดือน เม.ย. สอดคล้องกับข้อมูลในการแถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้ในเดือน พ.ค. และขยายตัวอย่างน้อย 1% ในไตรมาสที่ 2

อย่างไรก็ตาม SCB EIC ปรับลดประมาณการการส่งออกไทยในปี 2024 เป็น 2.6% (จาก 3.1%) (ระบบดุลการชำระเงิน) เนื่องจากปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้นกว่าคาด โดยองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของปริมาณการค้าโลกในปี 2024 ลดลง (รูปที่ 5) จากปัญหาการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้มีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ (รูปที่ 6) รวมทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานจากความแห้งแล้งของคลองปานามาและการโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีบริเวณทะเลแดงที่ยังไม่สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญของเอเชียไปยังสหรัฐฯ และยุโรป และกดดันให้ค่าขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้นอีกครั้งหลังสายการเดินเรือต่าง ๆ กลับมาหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านเส้นทางทะเลแดง (คลองสุเอซ) และใช้เส้นทางการเดินเรือผ่านแหลมกู๊ดโฮป ประเทศแอฟริกาใต้ ที่มีต้นทุนและระยะเวลาขนส่งสูงขึ้นแทนอีกครั้ง (รูปที่ 7)  

นอกจากปริมาณการค้าโลกจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดแล้ว SCB EIC ยังพบว่าการส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมาฟื้นตัวสอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกได้น้อยลงเรื่อย ๆ สะท้อนจากอัตราส่วนของการขยายตัวของมูลค่าส่งออกไทยเทียบการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการส่งออกในกลุ่มสินค้าแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล และรถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับที่ติดลบ ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ปริมาณการค้าโลกฟื้นตัวมากขึ้น การส่งออกในกลุ่มสินค้าดังกล่าวกลับหดตัวลง (รูปที่ 8)

ประมาณการมูลค่าส่งออกของไทยทั้งปีที่ 2.6% เติบโตได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2.8%) ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้เพิ่มขึ้นในปีนี้จากที่หดตัวเล็กน้อยในปีก่อน

รูปที่ 1 : การส่งออกเดือน เม.ย. 2024 พลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
รูปที่ 2 : การนำเข้าขยายตัวจากสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภค ตลาดสินค้านำเข้าจากยุโรปและจีนเติบโตสูง
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
รูปที่ 3 : การส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์ฯ เครื่องจักรกล และข้าว ขยายตัวได้ดีในเดือน เม.ย. 2024
 
 
ที่มา : การการวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
รูปที่ 4 : เศรษฐกิจโลกและภาคการผลิตอุตสาหกรรมโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง 2024 
 
 
หมายเหตุ : *GDP ตาม calendar year **ประเทศใน ASEAN-5 ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และเวียดนาม 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ World Bank, Bloomberg, JP Morgan และ S&P Global

รูปที่ 5 : ปริมาณการค้าโลกในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับ
ดีขึ้นจากปีก่อน แต่จะเติบโตชะลอลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ JP Morgan และ S&P Global 
 
รูปที่ 6 : โลกใช้มาตรการกีดกันทางการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานเพิ่มขึ้น เพื่อความมั่นคงของชาติ การแข่งขันเชิงกลยุทธ์ และลดผลกระทบจากความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศ สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น
 
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Global Trade Alert และ Caldara, Dario, and Matteo Iacoviello (2021), "Measuring Geopolitical Risk," working paper, Board of Governors of the Federal Reserve Board, November 2021".

รูปที่ 7 : สายการเดินเรือเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือเพื่อเลี่ยงเส้นทางคลองสุเอซและเปลี่ยนมาใช้เส้นทางแหลมกู๊ดโฮปแทน ส่งผลให้ต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งสินค้าสูงขึ้นอีกครั้ง
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Baltic Exchange Information Services Limited, Port Watch และ CEIC
 
รูปที่ 8 : การส่งออกไทยฟื้นตัวสอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล และรถยนต์และส่วนประกอบ
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ WTO

บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-230524

ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
ณัฐณิชา สุขประวิทย์ (natnicha.sukprawit@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์
 
 
วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

MACROECONOMICS RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
นนท์ พฤกษ์ศิริ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
วิชาญ กุลาตี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักเศรษฐศาสตร์
ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์ นักเศรษฐศาสตร์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักเศรษฐศาสตร์
ณัฐณิชา สุขประวิทย์ นักเศรษฐศาสตร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 พ.ค. 2567 เวลา : 12:49:32
17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 5:36 am