เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Krungthai compass เผยส่งออกเดือน เม.ย. กลับมาขยายตัว 6.8% จับตาการส่งออกที่ยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัด


มูลค่าส่งออกเดือน เม.ย. เติบโต 6.8%YoY กลับมาขยายตัวหลังจากที่ติดลบในเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่พลิกกลับมาขยายตัว ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวเนื่องจากเผชิญปัญหาภัยแล้ง สำหรับการนำเข้าเติบโตเร่งขึ้นที่ 8.3%YoY ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน เม.ย. ขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ที่ระดับ 1,641.7 ล้านดอลลาร์ฯ 

 
อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกไทย 4 เดือนแรกขยายตัว 1.4% เติบโตในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค สะท้อนถึงการส่งออกไทยซึ่งยังฟื้นตัวได้ช้า โดยการส่งออกไทยเติบได้ต่ำกว่า ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน ส่วนหนึ่งจากไทยได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นอย่างจำกัด และการเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ส่งผลให้ไทยสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน

มูลค่าส่งออกเดือนเมษายน 2567 กลับมาขยายตัว 6.8%
 
มูลค่าส่งออกเดือน เม.ย. อยู่ที่ 23,278.6 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 6.8%YoY กลับมาเป็นบวกหลังจากติดลบ 10.9% ในเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมหดตัวตามอุปทานที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง สำหรับการส่งออกทองคำหดตัวต่อเนื่องที่ -64.6% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้วมูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัว 9.6% ทั้งนี้การส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 1.4%YoY 
 
 
 
 
ด้านการส่งออกรายสินค้าสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว
 
• การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว 9.2%YoY หลังจากหดตัวในเดือนก่อนที่ -12.3%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+20.4%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+62.0%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+58.8%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+12.9%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (+23.3%) และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+32.4%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (-5.7%) แผงวงจรไฟฟ้า (-9.2%) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (-15.9%) เป็นต้น
 
• การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัว 2.0%YoY จากเดือนก่อนที่หดตัว 
-5.1%YoY ตามการกลับมาขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ 12.7%YoY ขณะที่สินค้าเกษตรกลับมาหดตัว -3.8%YoY สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว (+91.5%) ยางพารา (+36.2%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+14.8%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+52.9%) ไก่แปรรูป (+17.2%) เครื่องดื่ม (+10.5%) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+21.5%) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (-29.8%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-9.6%) น้ำตาลทราย (-9.1%) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (-4.7%) เป็นต้น 
 
ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว
 
• สหรัฐฯ : ขยายตัว 26.1%YoY เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 
เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออก 4 เดือนแรก ขยายตัว 13.4%)  
 
• จีน : หดตัวที่ -7.8%YoY ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ และยางพารา เป็นต้น (ส่งออก 4 เดือนแรกหดตัว -6.0%)  
 
• ญี่ปุ่น : หดตัวที่ -4.1%YoY ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สินค้าสำคัญที่หดตัว เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไก่แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออก 4 เดือนแรกหดตัว -8.0%) 
 
• EU27 : กลับมาขยายตัว 20.2%YoY สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เป็นต้น (ส่งออก 4 เดือนแรกขยายตัว 6.3%) 
 
• ASEAN-5 : กลับมาขยายตัว 3.7%YoY สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และข้าว เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น (ส่งออก 4 เดือนแรกหดตัว -3.3%) มูลค่าการนำเข้าเดือน เม.ย. อยู่ที่ 24,920.3 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 8.3%YoY เทียบจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 5.6%YoY จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+19.8%YoY) สินค้าทุน (+17.8%YoY) และสินค้าอุปโภคบริโภค (+8.0%YoY) ที่ขยายตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง (-18.1%YoY) และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-15.1%YoY) หดตัว ทั้งนี้ ดุลการค้าเดือน เม.ย. ขาดดุลต่อเนื่อง 1,641.7 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปีขาดดุล 6,116.9 ล้านดอลลาร์ฯ
 
 
 
 
Implication:
• มูลค่าการส่งออกไทย 4 เดือนแรกของปี 2567 เติบโต 1.4% ฟื้นตัวช้าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค หากพิจารณาอัตราการขยายตัวของการส่งออกไทยเทียบกับประเทศในภูมิภาคในช่วง 4 เดือนแรกของปี การส่งออกไทยยังเติบโตได้ค่อนข้างช้า โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัวดีกว่าอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียว ขณะที่การส่งออกของหลายประเทศต่างเติบโตได้สูงไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน (10.6%) และเกาหลีใต้ (9.6%) ซึ่งได้รับอานิสงส์โดยตรงจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ขณะที่ไทยได้รับผลประโยชน์ที่จำกัด สะท้อนจากการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ที่ชะลอตัวต่อเนื่อง แม้การส่งออกในเดือน เม.ย. จะกลับมาขยายตัวได้ 85.2%YoY แต่ส่วนหนึ่งจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่หากเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในเดือน เม.ย. การส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หดตัวถึง 16.7% นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังเติบโตได้ต่ำกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน สะท้อนถึงการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของไทย ส่วนหนึ่งจากการเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้การส่งออกของไทยยังฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค
 
 
ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง
Krungthai COMPASS 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 พ.ค. 2567 เวลา : 16:22:48
17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 3:19 am