การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วง 4 เดือนแรกปี 2024 มีมูลค่า 3.26 แสนล้านบาท หดตัว 1.5%YoY จากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ภาวะอากาศแปรปรวนกระทบผลผลิตทุเรียนไทย นักลงทุนบางรายย้ายฐานการผลิตโซลาร์เซลล์ไปเวียดนามทำให้ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวได้น้อยลง สินค้าเทคโนโลยีไทยส่งออกได้ลดลง เช่น คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า วงจรพิมพ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งกำลังซื้อของประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ
• ในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนจะปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก 2024 จากผลของฐานสูงที่ทยอยลดลง การส่งออกไปเมียนมากลับมาดีขึ้นจากการเปิดด่าน มูลค่าการส่งออกทุเรียนได้อานิสงส์จากราคาที่ปรับตัวขึ้นหนุนการส่งออกไปจีน รวมถึงการส่งออกสินค้าสำคัญอย่าง HDDs กับยางพาราที่ยังทำตลาดต่างๆ ได้ดีต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทั้งปี 2024 การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยขยายตัวต่ำที่ 0.6% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 9.86 แสนล้านบาท
การส่งออกชายแดนและผ่านแดน 4 เดือนแรกของปี 2024 มีมูลค่า 3.26 แสนล้านบาท หรือหดตัว 1.5%YoY (รูปที่ 1) แม้ว่าในเดือน เม.ย. การส่งออกชายแดนและผ่านแดนจะกลับมาขยายตัวที่ 1.7%YoY จากแรงหนุนของการส่งออกทุเรียนสดที่เริ่มออกสู่ตลาด แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการหดตัวในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยเฉพาะที่ส่งผลกระทบในแต่ละตลาด ดังนี้
- จีน: สภาพอากาศที่ร้อนจัดกระทบผลผลิตผลไม้ทั้งทุเรียนสด มังคุด และลำไยสด ฉุดการส่งออกผ่านแดนไปจีนหดตัว โดยเฉพาะทุเรียนสดที่มีจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก และเป็นสินค้าสำคัญอันดับ 1 ที่ส่งไปจีน ทั้งนี้ ปริมาณผลผลิตทุเรียนในปีนี้มีแนวโน้มลดลงจากภาวะอากาศร้อนทำให้การส่งออกในไตรมาส 1/2024 หดตัวถึง 53%YoY แม้จะกลับมาเร่งตัวได้ในเดือน เม.ย. แต่ยังหดตัว 5.9%YoY มีมูลค่าต่ำกว่าปีก่อนหน้า (รูปที่ 2)
เมื่อมองไปข้างหน้าคาดว่าในปี 2024 มูลค่าการส่งออกทุเรียนอาจทรงตัวหรือเติบโตในระดับต่ำโดยได้จากอานิสงส์ด้านราคาที่สูงขึ้น แต่ผลผลิตในภาพรวมหดตัวเนื่องจากน้ำหนักเบาเพราะอากาศร้อน นอกจากนี้ทุเรียนไทยยังต้องแข่งขันสูงกับทุเรียนเวียดนามที่มีฤดูกาลออกสู่ตลาดได้ก่อนไทยทั้งยังมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดจีนได้อย่างต่อเนื่อง
- เวียดนาม: นักลงทุนบางรายที่มีฐานการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทยปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ไปขยายการลงทุนการผลิตโซลาร์เซลล์ในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เวียดนาม ส่งผลต่อการส่งออกอุปกรณ์กึ่งตัวนำของไทยไปเวียดนามลดลงต่อเนื่อง (รูปที่ 3) โดยเฉพาะการส่งออกอุปกรณ์กึ่งตัวนำในกลุ่มโซลาเซลล์ที่ยังไม่ขึ้นรูปไปยังเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2023 โดยในช่วง 4 เดือนแรกปี 2024 การส่งออกสินค้าดังกล่าวหดตัว 75%YoY สัดส่วนการส่งออกเหลือเพียง 22% จากที่มีสัดส่วน 43% ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดนไปเวียดนาม ในปี 2023
- มาเลเซียและสิงคโปร์: ความต้องการสินค้าเทคโนโลยีจากไทยลดลง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ (เครื่องพิมพ์เอกสาร เครื่องทำสำเนา) วงจรพิมพ์และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 การส่งออกคอมพิวเตอร์มาเลเซียหดตัว 12.8% YoY เช่นเดียวกับการส่งออกวงจรพิมพ์ไปสิงคโปร์และมาเลเซียหดตัวต่อเนื่อง 27.6%YoY และ 10.5%YoY ตามลำดับ (รูปที่ 4)
- เมียนมา: ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาลุกลามมาถึงพื้นที่ชายแดน กระทบต่อการค้าชายแดนในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารได้เข้ายึดเมืองเมียวดีที่เป็นช่องทางการค้าหลักของไทยเมื่อต้นเดือน เม.ย. พรมแดนถูกปิดชั่วคราว เส้นทางขนส่งสินค้าสายหลักสู่กรุงย่างกุ้งตอนในถูกทำลาย ทำให้การส่งออกชายแดนไปเมียนมาเดือน เม.ย. หดตัว 18.3%YoY
อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวเริ่มคลี่คลายโดยพรมแดนเมียนมากลับมาเปิดเป็นปกติและผู้ประกอบการสามารถเลี่ยงไปใช้เส้นทางขนส่งทดแทนอื่นแทนเส้นที่เสียหายได้ แต่ก็ทำให้มีต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น การส่งออกจะยังชะลอตัวเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างรถยนต์และสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิต ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคที่เมียนมาต้องพึ่งพาไทยจะยังทำตลาดได้ต่อเนื่อง อาทิ น้ำแร่น้ำอัดลม เครื่องดื่ม อาหารปรุงแต่ง ยางยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กระดาษ
อย่างไรก็ดี การส่งออกชายแดนและผ่านแดนในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากปัญหาในช่วงครึ่งปีแรกเริ่มคลี่คลาย ทั้งเรื่องชายแดนเมียนมาที่กลับมาเปิดใช้งานแล้ว การส่งออกทุเรียนที่เข้าสู่ฤดูกาลส่งออกทั้งยังได้แรงส่งด้านราคาช่วยขับเคลื่อนการส่งออกไปจีน ประกอบกับการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องของสินค้า HDDs ยางพาราและผลิตภัณฑ์ไปยังแต่ละตลาด ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลอดในปี 2024 มูลค่าการส่งออกชายแดนและผ่านแดนจะขยายตัวต่ำ 0.6% โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 9.86 แสนล้านบาท (รูปที่ 5)
ข่าวเด่น