บทนำ ต่อเนื่องจากบทความ อยากรู้…คาร์บอนเครดิตทำกำไรได้หรือไม่? (Carbon Credit Series EP1) ที่ได้เกริ่นไปแล้วว่าคาร์บอนเครดิตคืออะไร มีอยู่กี่ประเภท นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร นำไปซื้อขายได้อย่างไร รวมถึงสามารถทำกำไรได้หรือไม่
ในบทความนี้ จะพูดถึงเรื่องคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย และตอบคำถามเพิ่มเติมว่าทำอย่างไรจึงจะได้คาร์บอนเครดิตและมีปัจจัยใดบ้างที่ต้องพิจารณา พร้อมทั้งพูดเรื่องข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย
คาร์บอนเครดิตในประเทศไทย
ในการดำเนินการที่ลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกจะต้องได้รับการรับรองโดยหน่วยงานรับรองตามระเบียบหรือเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อขึ้นทะเบียนโครงการและได้รับคาร์บอนเครดิต โดยในประเทศไทยมีการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ชื่อว่า Thailand Voluntary Emission Reduction Program หรือ T-VER ซึ่งมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นหน่วยงานขึ้นทะเบียนโครงการและให้การรับรองคาร์บอนเครดิต โดยเป็นกลไกคาร์บอนเครดิตในรูปแบบ Governmental Crediting Mechanism
ทั้งนี้ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่สามารถไปขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER เพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต จะครอบคลุมการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่ CO2 CH4 และ N2O แต่ต้องเข้าข่าย 7 ประเภทโครงการหลักตามที่ อบก. กำหนด ดังนี้
1. Renewable Energy
2. Factory
3. Transport
4. Waste
5. Energy Efficiency
6. Land Use
7. Carbon Capture Utilization and Storage
โดยมีตัวอย่างโครงการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการแล้วในตารางที่ 1
พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตได้อย่างไร?
Land Use - Agriculture โครงการจัดการก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนในพื้นที่สวนยางการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดจันทบุรี การยางแห่งประเทศไทย และเจ้าของสวนยางในพื้นที่ 42,811 โครงการแบบควบรวมตามกลไก T-VER โดยมีเจ้าของโครงการเป็นเจ้าของที่ดินจำนวน 162 ราย
Land Use -
Agroforestry โครงการป่าชุมชนอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โครงการที่ 1 1. กรมป่าไม้ 2. คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนจำนวน 6 แห่ง 2.1 บ้านป่าบง 2.2 บ้านจอมคีรี 2.3 บ้านแม่ยะ 2.4 บ้านสบอ้อ 2.5 บ้านแม่อ้อใน 2.6 บ้านแม่ก๊ะ 846 โครงการแบบควบรวมตามกลไก T-VER โดยมีเจ้าของโครงการจากคณะกรรมการป่าชุมชน 6 แห่ง ร่วมกับกรมป่าไม้
Energy
Efficiency โครงการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างที่มีประสิทธิภาพสูง ภายในอาคารแจ้งวัฒนะ 2 ของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 432 โครงการแบบเดี่ยวตามกลไก T-VER
1. ในขั้นตอนแรกก่อนเริ่มพัฒนาโครงการ ผู้พัฒนาโครงการจำเป็นต้องมีการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์เพื่อทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง โดยสามารถวัดได้ในรูปแบบของคาร์บอนฟุตพรินท์องค์กร (CFO) หรือ คาร์บอนฟุตพรินท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) เพื่อประเมินหากิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก หรือ Emission Hotspots
2. จากนั้นจะได้หาแนวทางเพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมนั้น ๆ ผ่านการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตได้ผ่าน อบก. ตามระเบียบ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องที่ อบก. กำหนด
3. ไปขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER เพื่อการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก และเมื่อดำเนินโครงการสำเร็จจึงสามารถขอรับรองคาร์บอนเครดิตจาก อบก. ตามรูปที่ 1
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้พัฒนาโครงการต้องพิจารณาในการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต ได้แก่
1. ต้นทุนการดำเนินโครงการ เช่น ต้นทุนค่าธรรมเนียมโครงการ T-VER แก่ อบก. ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนโครงการ 5,000 บาทต่อโครงการ และค่าธรรมเนียมขอรับรองคาร์บอนเครดิต 5,000 บาทต่อคำขอ รวมถึงต้นทุนค่าดำเนินงานอื่น ๆ เช่น เงินลงทุนการเปลี่ยนอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น
2. ต้นทุนแก่ผู้ประเมินประเมินภายนอก (Third Party Verification) ได้แก่ ต้นทุนตรวจสอบโครงการ และปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขึ้นอยู่กับความซับซ้อน และแตกต่างไปตามประเภทของโครงการ ซึ่งอาจอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 65,000 บาทต่อโครงการ (รายชื่อผู้ประเมินภายนอกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย อบก.)
3. ข้อจำกัด เช่น โครงการประเภทป่าไม้จะมีข้อกำหนดขนาดแปลงขั้นต่ำ 10 ไร่ การถือครองเอกสารสิทธิ์ในการใช้ที่ดิน ข้อกำหนดรอบตัดฟันไม้ในพื้นที่โครงการระยะเวลา 10 ปี หรือโครงการประเภทอื่นๆ ต้องเป็นกิจกรรมที่เพิ่มเติมจากการดำเนินการในรูปแบบปกติ (Additionality) จึงจะสามารถขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้
กรณีต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต
ในอีกกรณีหนึ่ง คือการซื้อคาร์บอนเครดิต หากการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตยังไม่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ โดยผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์สามารถเปิดบัญชี T-VER Credit ในระบบทะเบียน (Registry) ของ อบก. เพื่อใช้สำหรับเก็บบันทึกปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองมาแล้ว และตัดออกจากบัญชีเมื่อมีการใช้งานคาร์บอนเครดิต
โดยช่องทางการซื้อขายสามารถดำเนินการผ่านการติดต่อกับผู้ขายโดยตรง (Over-the-Counter) ผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ FTIX ในประเทศไทย หรือสามารถเปิดบัญชีกับ Platform Trading Carbon Credit ของต่างประเทศ เช่น CBL Xpansiv, Air Carbon Exchange, Carbon Trade Exchange เป็นต้น เพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตในมาตรฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมได้
ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER
ประเทศไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน (เมษายน 2567) จำนวน 3,258,033 tCO2eq มูลค่าการซื้อขายรวม 292 ล้านบาท คิดเป็นราคาเฉลี่ยตันละ 89.6 บาท
ทั้งนี้ ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา (รูปที่ 3) ตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ปริมาณการซื้อขายยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.77% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมด1 ซึ่งอาจจะยังห่างไกลจากเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2593
เมื่อพิจารณาข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากตารางที่ 2 พบว่า ประเภทโครงการที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดเป็นโครงการประเภทชีวมวล (41% ของปริมาณการซื้อขายรวม) เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ง่าย แต่ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าโครงการประเภทอื่นที่ 36 บาทต่อตัน
แต่ที่น่าสนใจคือราคาคาร์บอนเครดิตในโครงการประเภทป่าไม้มีราคาเฉลี่ยสูงถึง 290 บาทต่อตัน (และเฉลี่ย 510 บาทต่อตัน ในปี 2567) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมโดยเป็น 23% ของ เครดิตทั้งหมด ในปี 2657 ทำให้การเลือกประเภทโครงการคาร์บอนเครดิตเป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา เพราะราคาที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อกระแสเงินสดที่จะได้รับจากโครงการ
ท้ายที่สุด ประเด็นด้านต้นทุนการดำเนินการ ต้นทุนค่าประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิต รวมถึงข้อจำกัดในการทำโครงการต่าง ๆ คงเป็นปัจจัยที่ยังคงเหนี่ยวรั้งการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ โดยเฉพาะจากผู้พัฒนาโครงการรายเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน แต่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต โดยเฉพาะภาคป่าไม้ที่เป็นที่ต้องการในอนาคต ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาปิดช่องว่างเหล่านี้ ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยน่าจะก้าวทันโลก และมีส่วนช่วยให้ตอบโจทย์การเป็นประเทศปลอดคาร์บอนในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศไทยอย่างแน่นอน
ภาคผนวก
รูปแบบกลไกคาร์บอนเครดิตโดยทั่วไป
กลไกคาร์บอนเครดิต (Crediting Mechanism) สามารถจำแนกได้เป็นแบ่งได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) International Crediting Mechanisms (2) National or Subnational Crediting Mechanisms และ (3) Independent Crediting Mechanisms
(1) International Crediting Mechanisms
เป็นกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ ได้แก่ กลไก Clean Development Mechanism (CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโต และกลไกตามข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส (Article 6.2, Paris Agreement) ใช้สำหรับการบรรลุเป้าหมายระหว่างประเทศ เช่น แผนการลดและชดเชยการปล่อยคาร์บอนสำหรับธุรกิจการบิน (CORSIA) โครงการ Bangkok E-Bus Programme (ระหว่างไทยกับสวิสเซอร์แลนด์) เป็นต้น
(2) Governmental Crediting Mechanisms
เป็นกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศที่ให้การรับรองโดยภาครัฐ โดยปัจจุบันมี 29 แห่งที่ดำเนินการอยู่ (รวมถึง T-VER ของประเทศไทย) และอีก 8 แห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนา/เตรียมดำเนินการ ใช้สำหรับการบรรลุเป้าหมายในพื้นที่ของกลไกนั้น ๆ
(3) Independent Crediting Mechanisms
เป็นกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของภาคเอกชน องค์กร หรือมูลนิธิต่าง ๆ เช่น
· Verified Carbon Standard (VCS)
· Gold Standard
· Climate Action Reserve (CAR)
· American Carbon Registry (ACR)
· California Air Resources Board (ARB
มาตรฐานคาร์บอนเครดิตโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER)
นอกจากโครงการ T-VER ปัจจุบันประเทศไทยก็มีโครงการคาร์บอนเครดิตที่เป็นมาตรฐานขั้นสูงด้วย ได้แก่ Premium T-VER ซึ่งโครงการนี้ก็จะมีมาตรฐานการดำเนินการที่สูงขึ้น ที่สำคัญคือ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะมีหลักการต่อไปนี้
1. Real & Permanent – การวัดการลดก๊าซเรือนกระจกได้ถาวร
2. Additionality -มีการรายงานการดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินโครงการตามรูปแบบปกติ
3. No Double Counting and Double Use - ไม่มีการนับหรือใช้ซ้ำ
4. Safeguards & Do No Net Harm - สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีการป้องกัน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบ
5. Beyond CO2 โดยจะครอบคลุมการลดก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 ชนิด
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโครงการ Premium T-VER ในรูปแบบโครงการนำร่อง ได้แก่ โครงการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งขวา จ.ลำปาง ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมป่าไม้ และมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียน Premium T-VER เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
ข่าวเด่น