เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop: "เงินสำรองฉุกเฉิน" สำคัญแค่ไหน เก็บออมเท่าไหร่ถึงพอ?


 

"เงิน" ถือว่าเป็นสิ่งที่ความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนวิถีชีวิตของคนเราให้ดำเนินต่อไปได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นปัจจัย 4 ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ อย่าง อาหารที่ต้องเอามาหล่อเลี้ยงร่างกาย เครื่องนุ่งห่ม ยา/การรักษา และที่อยู่อาศัย หรือจะเป็นการคมนาคม ที่ไม่ว่าจะใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือเลือกใช้พาหนะส่วนตัว ก็ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยเงิน เป็นตัวกลางที่ใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของและการบริการทั้งสิ้น อีกทั้งจำนวนเงินที่มีอยู่ในมือก็ยังเป็นปัจจัยที่สามารถกำหนดคุณภาพชีวิตของเราทุกคนได้อีกด้วย
 
ลองคิดดูว่าหากเราไม่มีกระแสเงินสดที่มั่นคง มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันซึ่งจำเป็นต้องใช้เงิน แต่เราไม่ได้เก็บสำรองเอาไว้ ก็เท่ากับว่าเราจะไม่สามารถได้มาซึ่งสิ่งของที่เป็นความต้องการในชีวิตประจำวัน เข้าไม่ถึงโอกาสสำคัญๆ  ความปลอดภัยในชีวิตน้อยลง เกิดความเครียด วิตกกังวล ร้ายแรงถึงไม่สามารถดำเนินชีวิตแบบที่เราต้องการได้ ฉะนั้น การมีเงินสำรองฉุกเฉิน (Emergency Fund) หรือ เงินที่จัดไว้ใช้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ต้องใช้เงินทันที จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของเราเอาไว้ หากเกิดโดนเลิกจ้างกลายเป็นคนว่างงานกะทันหัน เจ็บป่วยหนัก ประสบอุบัติเหตุ หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด การมีเงินสำรองฉุกเฉินจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด ยังมีทรัพยากรเงินเพียงพอที่จะเอาไปใช้จ่ายตามคุณภาพชีวิตที่เราคาดหวังได้เหมือนเดิม
 
ควรสำรองเงินฉุกเฉินไว้มากแค่ไหนถึงจะพอ?
 
จำนวนของเงินสำรองฉุกเฉินที่จะเป็นตัววัดว่าเพียงพอหรือยังนั้น ขึ้นอยู่แล้วแต่วิถีชีวิตของแต่ละบุคคลว่าในเดือนๆ หนึ่ง หรือวันๆ หนึ่ง ยึดตามชีวิตประจำวันของเรานั้นมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอะไรบ้าง เช่น ปกติเลือกกินอาหารแบบไหน เรทค่าอาหารตามโซนที่อยู่อาศัย หรือต้องเลือกทานอาหารที่เหมาะกับสุขภาพของตน มีค่าเช่าห้องเท่าไหร่ ค่าผ่อนสิ่งของ หรือมีคนที่เราต้องเลี้ยงดูหรือไม่ เป็นต้น ให้ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นรวมทั้งหมดคิดเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน ซึ่งโดยปกติแนะนำว่า ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน ตัวอย่างเช่น หากค่าใช้จ่ายรายเดือนของเราคือ 30,000 บาท/เดือน ก็ควรมีอย่างน้อย 90,000 - 180,000 บาท แยกเอาไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม จำนวนที่เหมาะสมอาจจะมีความแตกต่างไปจากนี้ ซึ่งต้องประเมินตามสถานการณ์ของแต่ละคน หากมีทางออกอื่นๆ รองรับสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น วางแผนว่าหากโดนเลิกจ้าง ก็ทำการเลิกเช่าห้อง กลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด เป็นต้น
 
ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่ควรนับรวมเป็นปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ คือ เรื่องของความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการเมือง ในกรณีที่เราอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือการทำธุรกิจที่มีความเสี่ยง เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในไทยที่มีฐานลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ที่ตอนนี้มีแนวโน้มมาเที่ยวไทยลดลงจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ก็นับเป็นความเสี่ยงที่เราควรจัดเตรียมแผนและเงินสำรองฉุกเฉินเผื่อเอาไว้
 
ในส่วนของวิธีการสร้างเงินสำรองฉุกเฉินนั้น ทาง AC News แนะนำว่า หลังจากวางแผนกำหนดจำนวนเงินสำรองฉุกเฉินที่เหมาะสมกับตัวเองแล้วนั้น ก็เริ่มต้นจากการออมเงินเป็นประจำ โดยวางแผนเก็บออมเงินส่วนหนึ่งจากรายได้ของเราในทุกเดือน ซึ่งเปอร์เซ็นต์การเก็บขึ้นอยู่กับ การหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป พร้อมกันนั้นควรหารายได้ที่เพิ่มขึ้นตามความถนัด และแบ่งสัดส่วนนำมาลงทุน เช่น กองทุนรวม พันธบัตร ไปจนถึงหุ้นตามความสามารถและความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการมีพอร์ตการเงินที่แข็งแรง และสามารถบรรลุเป้าหมายเงินสำรองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญของความเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน คือเก็บเงินในที่ที่เข้าถึงง่าย และสามารถเบิกถอนได้ง่ายและรวดเร็ว เช่น การเก็บเงินในบัญชีออมทรัพย์ ไม่นำเงินสำรองฉุกเฉินเก็บไว้ในที่ๆ มีขั้นตอนในการถอนออกมา หรือเก็บในสินทรัพย์ที่มีความไม่มั่นคงทางมูลค่า เช่น เก็บในสลากออมทรัพย์ หรือเก็บไว้ในหุ้น เป็นต้น รวมถึงใช้เงินสำรองฉุกเฉินเฉพาะในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่เอาเงินสำรองไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น แล้วเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในภายหลัง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 มิ.ย. 2567 เวลา : 19:53:40
26-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 26, 2024, 12:07 pm