เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” สู่ปีที่ 36 บรรลุเป้าหมาย “หนุนโภชนาการที่ดี-สร้างแหล่งอาหารยั่งยืน” แก่เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ปักหมุดขยายโครงการในโรงเรียน 1,000 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2568
นายจอมกิตติ ศิริกุล ผู้บริหารสูงสุด สายงานด้านบริหารกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เครือซีพี ซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกันดำเนิน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนในชนบทห่างไกลทั่วประเทศ ช่วยเสริมสร้างโภชนาการที่ดีและการเติบโตสมวัย ทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา โดยมีเป้าหมายขยายโรงเรียนเพิ่มขึ้นปีละ 25 แห่ง
ปัจจุบัน มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ รวม 959 โรงเรียนทั่วประเทศ มีนักเรียน 213,794 คน รวมทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษา กว่า 16,086 คน และชุมชน 2,374 แห่ง ได้เรียนรู้ทักษะการเลี้ยงไก่ไข่ ตลอดจนสร้างสมหลักความคิด สุขภาพ การเงิน และการจัดการอาชีพในอนาคต ขณะเดียวกันยังประยุกต์กิจกรรมสู่การเรียนการสอน ส่งผลให้นักเรียนได้เรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจเกษตร ขณะเดียวกันซีพีเอฟยังได้จัดจ้างผู้พิการช่วยงานในโรงเรียนที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ จนถึงปัจจุบันมีการทำสัญญาจ้างงานคนพิการไปแล้วรวม 482 คน
“โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ร่วมแก้ปัญหาทุพโภชนาการแก่เด็กและเยาวชน พบว่าภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนที่ร่วมโครงการฯ จากร้อยละ 25.8 ในปี 2564 ลดลงเหลือร้อยละ 22.8 ในปี 2565 และเป็นการสร้างห้องเรียนอาชีพจากการเรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจเกษตร นำไปสู่การสร้างคลังเสบียงอาหารในโรงเรียนและชุมชนใกล้เคียง ผลผลิตไข่ไก่ที่จำหน่ายให้แก่ชุมชน ทำให้คนในชุมชนได้บริโภคไข่สดใหม่ในราคาย่อมเยาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เกิดเป็นรายได้หมุนเวียน ต่อยอดโครงการต่อเนื่อง เกิดเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” นายจอมกิตติ กล่าว
ทางด้าน นายสมคิด วรรณลุกขี ผู้อำนวยการใหญ่ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมุ่งสนับสนุนให้โรงเรียนสามารถสร้าง แหล่งอาหารโปรตีนคุณภาพดีด้วยฝีมือของนักเรียน เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการบริหารจัดการผลผลิตนำไปสู่ความยั่งยืนของโครงการฯ โดยบริษัทเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เยาวชน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการฟาร์มขนาดเล็กได้ด้วยตนเอง ด้วยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี นำระบบการเลี้ยงและองค์ความรู้การจัดการมาตรฐาน พร้อมทั้งส่งนักสัตวบาลเข้าสนับสนุนวิชาการตั้งแต่เริ่มต้นเลี้ยงจนถึงปลดแม่ไก่ไข่ รวมถึงแนะนำการจำหน่ายและตลาด เพื่อให้โครงการฯดำเนินการได้โดยมีผลกำไรเพียงพอสำหรับการบริหารให้มีเงินทุนส่งให้รุ่นต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมด้านการสื่อสารและการจัดการข้อมูล ด้วยการใช้แอปพลิเคชัน LINE เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสาร มีการรวบรวมข้อมูลทางออนไลน์ด้วยกูเกิลฟอร์ม (Google Form) ช่วยให้รับทราบข้อมูลที่รวดเร็ว ทำให้สามารถการวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสม
“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน มีเยาวชนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน และเด็กๆยังได้เรียนรู้นอกตำรา เกิดประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง ยังเป็นการสร้างห้องเรียนอาชีพ ให้น้องๆได้เรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจเกษตร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จนถึงการจำหน่าย ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นวิชาชีพในอนาคต” นายสมคิด กล่าว
ข่าวเด่น