กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, มูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “สร้างชีวิตใหม่” เพื่อส่งเสริมผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานให้สามารถเข้าถึงกองทุนการออมภาคสมัครใจของ กอช. และได้รู้จักวางแผนการออมระยะยาว เพื่อความมั่นคงในชีวิตหลังพ้นโทษ
คุณสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงการร่วมมือกันในครั้งนี้ “กรมราชทัณฑ์” จะมีหน้าที่ดำเนินการสำรวจผู้ต้องขังที่เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับเข้าร่วมการอบรม หรือเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการออม พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในด้านบุคลากร สถานที่ การบริหารจัดการ และจัดการเตรียมบุคลากรกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ทั้งสี่หน่วยงาน (กรมราชทัณฑ์, มูลนิธิณภาฯ, บสย. และ กอช.) บรรลุตามเป้าหมายและเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนดำเนินการด้านอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ในครั้งนี้
คุณสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า พร้อมทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้คำปรึกษาแนะนำ เกี่ยวกับการค้ำประกันสินเชื่อ และการให้บริการของศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินให้กับผู้ต้องขัง อีกทั้งอยากเสริมสร้างทักษะความรู้ทางการการเงิน
เปิดทางสร้างความมั่นคงทางอาชีพหลังพ้นโทษ และกลับคืนสู่สังคม ที่ต้องการเริ่มธุรกิจในอนาคตด้วย
โครงการ “สร้างชีวิตใหม่” ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่ บสย. ริเริ่มขึ้น โดยใช้ความสามารถพิเศษขององค์กร ด้านการค้ำประกันสินเชื่อ และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการเงินอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “เติมทุน เติมความรู้ เติมคุณภาพชีวิต” เพื่อช่วยเหลือ และส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มเปราะบาง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา โครงการ สร้างชีวิตใหม่ ดำเนินการต่อเนื่อง 5 ปี ช่วยผู้ต้องขังให้ได้รับโอกาสความรู้ทางการเงิน การเริ่มต้นในการประกอบอาชีพ รวมกว่า 3,100 ราย โดยปีนี้ได้จัดอบรมในเรือนจำและทัณฑสถาน รวมทั้งสิ้น 12 แห่ง มีผู้ต้องขังเข้าอบรมรวมกว่า 1,200 คน ร่วมโครงการ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินธุรกิจ
นายณัฎฐพล พิศิษฐวานิช กรรมการบริหาร มูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริฯ กล่าวว่า ทาง มูลนิธิ ณภาฯ จะดูแลและให้การสนับสนุนด้านวิชาการ โดยการสร้างและพัฒนาหลักสูตรการอบรม ดำเนินการจัดอบรม อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนี้ มูลนิธิ ณภาฯ ยังมีหน้าที่สร้างงานเพื่อรองรับผู้ต้องขังที่ผ่านการคัดเลือกเข้าทำงานกับมูลนิธิ ณภาฯ หลังพ้นโทษต่อไป
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม กรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมการออมและสมาชิกสัมพันธ์ และนางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ กล่าวว่า กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการออมให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ
และทัณฑสถาน ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งปัจจุบัน กอช. ได้ร่วมมือกับทางเรือนจำและทัณฑสถาน 35 แห่งทั่วประเทศ และยังดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายผลให้ครอบคลุมเรือนจำและทัณฑสถาน
ทั้ง 143 แห่ง เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบบำนาญรายเดือนเมื่อเข้าสู่วัยชราภาพ ประกอบกับกรมราชทัณฑ์มีนโยบายเพื่อพัฒนาพฤตินิสัย ฝึกอาชีพ ให้มีทักษะในการทำงาน ฝึกวินัยการออมเงิน และด้วยความร่วมมือกันทั้งสี่หน่วยงาน (กรมราชทัณฑ์, มูลนิธิณภาฯ, บสย.และกอช.) จะเป็นพลังที่จะส่งเสริมให้ผู้ต้องขังเห็นความสำคัญของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ก่อนจะออกไปสู่สังคมภายนอก เป็นผู้ต้องขังที่มีความเข้มแข็งด้านการเงิน มีการฝึกทักษะอาชีพ และมีความรู้เรื่องการออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ ผ่านการสร้างบำนาญด้วยตนเองโดยกองทุนการออมแห่งชาติ
ทั้งนี้ ในงานได้มีพิธีมอบรางวัล โครงการ The Best Agent of NSF 2024 ให้กับเรือนจำและทัณฑสถาน 4 แห่ง ที่สามารถทำยอดเงินสะสมตามเป้าหมายที่ กอช. กำหนด ได้แก่ เรือนจำกลางนครสวรรค์, เรือนจำกลางเขาบิน, ทัณฑสถานหญิงกลาง และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เพื่อเป็นการกระตุ้นผลักดันการเพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่ และยอดเงินออมต่อเนื่อง ให้หน่วยงานและเครือข่ายอื่นๆ เร่งขับเคลื่อนกันต่อไป
สุดท้ายนี้ กอช. มีช่องทางการให้บริการที่หลากหลายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก
ผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่ยังไม่มีสวัสดิการใด ๆ ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลตรวจสอบสิทธิ และสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา ทางแอปพลิเคชันของ กอช. ช่องทางไลน์แอด กอช. @nsf.th หรือสายด่วนเงินออม 02 049 9000
ข่าวเด่น