ไอที
สำนักงาน กสทช. เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล DAB+ จำนวน 3 ฉบับ


 
พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี DAB+ จำนวน 3 ฉบับ ที่ ห้องอัศวินแกรนด์บอลรูม โรงแรมอัศวินแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และประชาชน ทั้งในส่วนของสถานีวิทยุรวมทั้งผู้ผลิตเครื่องรับและเครื่องส่งภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมทั้งออนไลน์และออนไซต์ มากกว่า 200 คน
 

 
 
กิจการกระจายเสียงนับเป็นกิจการสื่อสารสุดท้าย ที่ยังคงเป็นระบบอนาล็อกอยู่ โดยเริ่มออกอากาศด้วยระบบ AM เมื่อปี พ.ศ.2473 และพัฒนาการต่อมาคือระบบ FM เมื่อปี พ.ศ.2495 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 70 ปี ที่ไม่มีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น ประกอบกับจำนวนช่องคลื่นความถี่ที่จะจัดสรรให้แก่สถานีวิทยุ FM ในระบบแอนะล็อกปัจจุบันมีจำกัด ดังนั้นระบบวิทยุดิจิทัลจึงเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ฟังคนรุ่นใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทเทคโนโลยีปัจจุบัน กสทช.จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 เห็นชอบให้นำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ฉบับ มารับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันนี้ ดังนี้

1. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงในระบบดิจิทัล ที่เป็นการใช้คลื่นความถี่วิทยุในย่าน 174-230 MHz โดยได้แบ่งพื้นที่ประเทศไทยเป็น 10 ภูมิภาคและ 34 พื้นที่

2. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล ที่กำหนดค่ากำลังส่งออกอากาศสูงสุดไม่เกิน 10kW และค่ามาตรฐานอื่นๆ ที่ได้ผลมาจากการทดลองออกอากาศที่ทำร่วมกับสถานีวิทยุกองทัพบกและผลงานวิจัยจากคณะที่ปรึกษา 

3. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล ที่มีการเข้ารหัสสัญญาณเสียงแบบ MPEG-4 HE ACC v2 ตามมาตรฐาน DAB+ โดยกำหนดทั้งประเภทที่ 1 คือ ภายในยานพาหนะ ประเภท 2 คือ ภายในครัวเรือนหรือพกพา และ ประเภท 3 คือ ส่วนเพิ่มเติมสำหรับติดตั้งภายในรถยนต์

 
ผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ได้รับข้อคิดเห็นทางเทคนิคที่เป็นประโยชน์ เช่น การกำหนดมาตรฐานภาษาไทยที่ใช้ในการส่งข้อความสั้น โดยที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับบริบทและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นทั้งด้านคุณภาพของสัญญาณและปัญหาการรบกวน แต่มีข้อห่วงใยในเรื่องระบบนิเวศและมูลค่าการลงทุนโครงข่ายที่อาจสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาเครื่องรับที่อาจเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนผู้บริโภค โดยที่ กสทช. ควรมีนโยบายในการสนับสนุนและแก้ปัญหาดังกล่าวที่ชัดเจน

 
“วิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล ถือเป็นทางเลือกเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบการอนุญาต จากเหตุที่สถานีวิทยุทดลองออกอากาศจะต้องยุติการออกอากาศในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ตามแผนการดำเนินการ (Timeline) ที่กำหนด จากนี้ไปคงต้องเร่งรัดเสนอหลักเกณฑ์การอนุญาตให้บริการโครงข่าย DAB+ และหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ DAB+ ในขณะเดียวกันระบบ FM เดิมจะต้องดำเนินการคู่ขนานโดยจะออกประกาศเชิญชวนให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศ

 
ประเภทชุมชนและสาธารณะเข้าสู่ระบบการอนุญาตในเดือนกรกฎาคมนี้ และจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การประมูลสำหรับประเภทธุรกิจ โดยจะนำไปรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนกรกฎาคมนี้เช่นกัน เพื่อให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศที่เข้าสู่ระบบการอนุญาตจะได้ไม่ต้องยุติการออกอากาศและสามารถออกอากาศต่อไปได้ โดยที่กิจการกระจายเสียงคงเป็นกิจการสุดท้ายที่ยังไม่เข้าสู่ระบบใบอนุญาต จึงต้องดำเนินการเพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานสากล และจะทำให้ กสทช. สามารถส่งเสริมและสนับสนุนได้เต็มกำลังตามที่กฎหมายกำหนด” กสทช. พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 มิ.ย. 2567 เวลา : 21:21:30
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 10:18 pm