หุ้นทอง
ตลท.เผย "การฟื้นตัวด้านผลิตภาพของบริษัทจดทะเบียนในช่วงปี 2563 - 2565"


· การวัดผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity - TFP) แสดงให้เห็นความสามารถของกิจการ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากปัจจัยการผลิตที่ใช้ไป โดยในช่วงปี 2563 – 2565 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai มีผลิตภาพรวมที่ฟื้นตัวได้ สามารถแข่งขันได้ดีขึ้นหลังจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 สอดคล้องกับการเติบโตของ GDP ในปี 2564 และ 2565 ที่เติบโตขึ้นร้อยละ 1.6 และ 2.5 ตามลำดับ และจากการวิเคราะห์ TFP ร่วมกับฐานข้อมูลการจ้างงานและฐานข้อมูลรายได้ต่างประเทศ ซึ่งฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รวบรวมจากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนพบว่า บจ. มีการจ้างงานในปี 2564 และ 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 8.8 และ 8.3 ตามลำดับ และ มีรายได้จากต่างประเทศเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 29 และร้อยละ 31 ของรายได้บริษัท จดทะเบียนทั้งหมด ตามลำดับ


· หมวดธุรกิจที่มีผลิตภาพรวมฟื้นตัวหลังโควิด-19 และอยู่ในระดับที่สูง 5 อันดับแรก ได้แก่ หมวดการแพทย์ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หมวดบริการเฉพาะกิจ หมวดยานยนต์ และ หมวดแฟชั่น นอกจากนี้ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดพลังงาน และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ ก็มีผลิตภาพรวมที่ฟื้นตัวหลังโควิด-19 ได้ดีแม้ยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก

· โดยทั่วไปแล้ว บริษัทที่มีผลิตภาพรวมในระดับสูงและเติบโต มักจะสร้างมูลค่าเพิ่มต่อสินทรัพย์ดำเนินงานได้สูง มีสินค้าและบริการที่แข่งขันได้และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ มีการทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้าและบริการหรือประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ รวมทั้งมีการบริหารจัดการสินทรัพย์และต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

· จากการศึกษาเกี่ยวกับผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยโดย World Bank เมื่อปี 2563 พบว่า การส่งออก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการพัฒนาทักษะ รวมถึงการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อผลิตภาพของกิจการ รวมทั้งการศึกษาของ OECD ระบุว่า ระดับของผลิตภาพมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรวมถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้อุตสาหกรรมที่สร้างผลิตภาพได้ในระดับสูงเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity – TFP)

ในภูมิทัศน์เศรษฐกิจของไทย บริษัทจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย ณ สิ้นปี 2566 มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมกันกว่า 840 บริษัท ครอบคลุมหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกันกว่า 17.9 ล้านล้านบาท ท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 และโอกาสที่เกิดขึ้นจากกระแสเศรษฐกิจใหม่ บริษัท เหล่านี้กำลังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัว โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพและพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

การวัดผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity : TFP) จัดทำขึ้นโดยหลายๆ สถาบัน รวมทั้งที่พัฒนาขึ้นโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เป็นตัวชี้วัดในการประเมินการดำเนินงานและแนวโน้มของบริษัท โดยคำนวณสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่สร้างขึ้น (value added) เทียบกับปัจจัยการผลิตที่ใช้ ซึ่งสามารถใช้เปรียบเทียบและชี้วัดว่าการบริหารสินทรัพย์ทั้งหมดของกิจการสามารถนำมาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ value added คำนวณจากผลรวมของกำไรสำหรับผู้ถือหุ้น ค่าจ้างพนักงาน ดอกเบี้ยจ่ายธนาคาร และภาษีจ่ายรัฐบาล ในขณะที่ปัจจัยการผลิตคำนวณจากผลรวมของปัจจัยการผลิตด้านแรงงานโดยวัดจากค่าจ้างพนักงาน และปัจจัยการผลิตด้านเงินทุนโดย วัดจากมูลค่าสินทรัพย์ดำเนินงาน1

TFP =กำไร+ค่าจ้างพนักงาน+ดอกเบี้ย+ภาษีค่าจ้างพนักงาน+มูลค่าของสินทรัพย์ดำเนินงาน

ตัวชี้วัดนี้ช่วยให้เราเปรียบเทียบภาพการพัฒนาผลิตภาพของบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาผลิตภาพรายบริษัทให้สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสามารถกำหนดทิศทางเพื่อการพัฒนาผลิตภาพให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยในรายงานฉบับนี้ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ TFP ระหว่างปี 2563 – 2565 ของกลุ่มตัวอย่างบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้ง SET และ mai ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวนทั้งสิ้น 687 บริษัท2 ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากรายงานประจำปีและงบการเงินของบริษัท และข้อมูลในระบบ SETSMART รวมทั้งฐานข้อมูลการจ้างงานและฐานข้อมูลรายได้ต่างประเทศของ บจ.3 ในปี 2563 - 2565 ที่พัฒนาโดยฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์ฯ

Productivity โดย OECD และ World Bank

ในงานศึกษาของ The Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD4 ได้ระบุปัจจัยที่อาจส่งผลต่อระดับผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งรวมถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้อุตสาหกรรมที่สร้างผลิตภาพได้ในระดับสูงได้รับปัจจัยการผลิตอย่างเพียงพอ และการศึกษาเกี่ยวกับผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยโดย World Bank5 เมื่อปี 2563 พบว่า การส่งออก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และทักษะ รวมถึง การวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อผลิตภาพของกิจการ

ผลิตภาพรวมของ บจ. ใน SET และ mai ในช่วงหลังโควิด-19

ในช่วงระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565 ผลิตภาพรวม (TFP) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง SET และ mai ฟื้นตัวสูงขึ้น โดยรวมแล้ว บจ. ใน SET มี TFP ในปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.43 จากปี 2563 และ บจ.ใน mai มี TFP ในปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.67 จากปี 2563 สอดคล้องกับการเติบโต ทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในปี 2564 และ 2565 GDP เติบโตขึ้นร้อยละ 1.6 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ

โดยเมื่อพิจารณาในองค์ประกอบของ TFP พบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทใน SET สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้นร้อยละ 73.84 ในขณะที่มีการใช้ปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.27 และบริษัทใน mai สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้นร้อยละ 54.42 ในขณะที่มีการใช้ปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.92 ส่งผลให้ TFP เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าเพิ่มและการใช้ปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ส่งผลให้กำไรของบริษัท การจ้างงานและการลงทุนในสินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น

 
ผลิตภาพรวม: รายหมวดธุรกิจ (Sector-level TFP)

เมื่อพิจารณาผลิตภาพรวมรายหมวดธุรกิจ (Sector) พบว่า หลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง มี Sector ที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีกว่า คือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) ซึ่งได้รับอานิสงค์จากการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยมีตัวเลขนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 6.7 ล้านคนในปี 2563 เป็น 11.15 ล้านคนในปี 2565 และอีก Sector ที่ฟื้นตัวได้ใกล้เคียงกัน คือ หมวดการแพทย์ (HELTH) ซึ่งสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นรวมทั้งได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) ที่เริ่มทยอยกลับมา นอกจากนี้ ยังมี Sector อื่นๆ ที่ฟื้นตัวได้ดีรองๆ ลงมา ประกอบด้วย หมวดพลังงาน (ENERGY) หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO)หมวดแฟชั่น (FASHION) และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) ตามลำดับ ซึ่งเป็น Sector ที่ได้รับอานิสงค์จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและความต้องการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และหากพิจารณาระดับของผลิตภาพรายหมวดธุรกิจ พบว่า หมวดการแพทย์ (HELTH) หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) หมวดบริการเฉพาะกิจ (PROF) หมวดยานยนต์ (AUTO) หมวดแฟชั่น (FASHION) และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) เป็นหมวดธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มต่อปัจจัย การผลิตในมูลค่าที่เท่ากันได้สูงกว่าหมวดอื่นๆ และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยในจำนวนนี้มี 3 หมวดธุรกิจ คือ HELTH ETRON AUTO เกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ6 อีกด้วย


ผลิตภาพรวม: รายบริษัท (Firm-level TFP)
 
เมื่อพิจารณาผลิตภาพรวมรายบริษัทของกลุ่มตัวอย่าง7 โดยใช้ค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2563 - 2565 พบว่ามี 258 บริษัทที่มี TFP สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด คิดเป็นร้อยละ 41 ของจำนวน บจ. ทั้งหมด และมี 339 บริษัทที่มี TFP ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หรือ คิดเป็นร้อยละ 54 ของจำนวน บจ. ทั้งหมด เพื่อการวิเคราะห์คุณลักษณะของ บจ. ที่มีระดับ TFP และการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน จึงได้ทำการแบ่งกลุ่ม บจ. ตามระดับ TFP เฉลี่ย และ การเปลี่ยนแปลงของ TFP ในช่วง 2563 ถึง 2565 โดยแบ่งบริษัทออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

· กลุ่มที่ 1 มี TFP เฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดและ มีแนวโน้มเติบโต (TFP สูงและเติบโต) มีจำนวน 137 บริษัท

· กลุ่มที่ 2 มี TFP เฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดแต่มีแนวโน้มลดลง (TFP สูงแต่ลดลง) มีจำนวน 121 บริษัท

· กลุ่มที่ 3 มี TFP เฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดและ มีแนวโน้มลดลง (TFP ต่ำและลดลง) มีจำนวน 166 บริษัท

· กลุ่มที่ 4 มี TFP เฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดแต่มีแนวโน้มเติบโต (TFP ต่ำแต่เติบโต) มีจำนวน 202 บริษัท

จากการเปรียบเทียบคุณลักษณะต่างๆ ของ กลุ่ม TFP สูงและเติบโต (กลุ่มที่ 1) กับบริษัทใน กลุ่ม TFP ต่ำและลดลง (กลุ่มที่ 3) พบข้อสังเกตในเบื้องต้น 4 ประเด็น ดังนี้

 
ด้านผลิตภาพ มูลค่าเพิ่มและปัจจัยการผลิต
 
พบว่าผลิตภาพรวมของ กลุ่ม TFP สูงและเติบโต คิดเป็น 4.38 เท่าของ กลุ่ม TFP ต่ำและลดลง ถึงแม้ทั้งสองกลุ่มจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ใกล้เคียงกัน โดยเมื่อพิจารณาในมุมของปัจจัยการผลิต พบว่าค่าจ้างพนักงานของ กลุ่ม TFP สูงและเติบโต และ กลุ่ม TFP ต่ำและลดลง มีระดับใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม กลุ่ม TFP สูงและเติบโต มีมูลค่าสินทรัพย์ดำเนินงานเฉลี่ยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าสินทรัพย์ดำเนินงานเฉลี่ยของ กลุ่ม TFP ต่ำและลดลง แสดงให้เห็นว่า บริษัทใน กลุ่ม TFP สูงและเติบโต สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เท่ากันโดยใช้สินทรัพย์ดำเนินงานน้อยกว่า ซึ่งอาจเป็นผลจากรูปแบบธุรกิจและการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยกว่าหรือมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าบริษัทใน กลุ่ม TFP ต่ำและลดลง

ด้านรายได้จากต่างประเทศ

พบว่า บจ. ใน กลุ่ม TFP สูงและเติบโต มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 43.96 ของรายได้รวมของทั้งกลุ่ม ในขณะที่ บจ. ใน กลุ่ม TFP ต่ำและลดลง มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 20.57 โดยหากพิจารณาเฉพาะบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศ บจ. ใน กลุ่ม TFP สูงและเติบโต มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 60.36 ในขณะที่ บจ. ใน กลุ่ม TFP ต่ำและลดลง มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 25.5 ข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนถึงการปรับตัวและความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลกของบริษัทใน กลุ่ม TFP สูงและเติบโต ซึ่งมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยมีสินค้าหรือบริการเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

ด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D)

พบว่าบริษัทใน กลุ่ม TFP สูงและเติบโต มีจำนวน บจ. ที่รายงานว่าบริษัทมีค่าใช้จ่ายการทำ R&D ในสัดส่วนที่มากกว่า กลุ่ม TFP ต่ำและลดลง และมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด

ด้านผลประกอบการและความสามารถในการทำกำไร

พบว่า บจ.ใน กลุ่ม TFP สูงและเติบโต มีอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin - NPM) โดยเฉลี่ยสูงกว่า บจ. ใน กลุ่ม TFP ต่ำและลดลง และมีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Assets - ROA) รวมทั้งอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) สูงกว่าเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรที่ดีกว่า รวมทั้งมีประสิทธิภาพ ในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นที่สูงกว่าซึ่งอาจสะท้อนมาจากความสามารถในการแข่งขันที่สูงและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี มีสินค้าหรือบริการที่สอดรับกับความต้องการของตลาด สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าด้วยสินทรัพย์หรือเงินทุนที่เท่ากัน
 
 

LastUpdate 07/06/2567 17:54:35 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 3:29 am