เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ เงินบาทพลิกแข็งค่า แม้หุ้นไทยร่วงแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีครึ่งระหว่างสัปดาห์


 สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

· เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 36.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์

เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามทิศทางบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด อาทิ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานที่ปรับตัวลงมาที่ระดับ 8.06 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. (ต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี) อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับไปอ่อนค่าลงบางส่วนช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ท่ามกลางกระแสข่าวเกี่ยวกับรัฐบาลและธปท. แต่ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นกว่าที่ตลาดคาด จำกัดกรอบการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ ไว้

ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 36.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะลดช่วงบวกลงตามการร่วงลงของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับน่าจะมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันเพื่อรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด (11-12 มิ.ย.) กนง. (12 มิ.ย.) และ BOJ (13-14 มิ.ย.)

 
· ในวันศุกร์ที่ 7 มิ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (31 พ.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 3-7 มิ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 6,045 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 2,415 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 3,028 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 613 ล้านบาท)

· สัปดาห์ถัดไป (10-14 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.20-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ dot plot ของเฟด (11-12 มิ.ย.) ผลการประชุม กนง.และสัญญาณดอกเบี้ยของไทย (12 มิ.ย.) และผลการประชุม BOJ (13-14 มิ.ย.) ตลอดจนทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค. ของจีนและสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

· ดัชนีหุ้นไทยแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีครึ่ง ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์

สัปดาห์นี้หุ้นไทยปรับตัวลงสวนทางกับภาพรวมของตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับตัวขึ้น โดยตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของประเด็นการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจมีผลกระทบทำให้มาตรการกระตุ้น

เศรษฐกิจในประเทศล่าช้า ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดแรงเทขายทำกำไรในหุ้นหลายกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดยพลังงาน ไฟแนนซ์ แบงก์และอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดีหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวสวนทางภาพรวม เพราะมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว

ทั้งนี้หุ้นไทยแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี 6 เดือนที่ 1,325.71 จุดในระหว่างสัปดาห์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ อย่างไรก็ดี กรอบการปรับขึ้นยังจำกัด เนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังในการลงทุนระหว่างรอติดตามผลการประชุมเฟดและการประชุมกนง. ในสัปดาห์หน้า

 
ในวันศุกร์ที่ 7 มิ.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,332.74 จุด ลดลง 0.96% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 42,637.72 ล้านบาท ลดลง 7.86% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.12% มาปิดที่ระดับ 368.08 จุด

· สัปดาห์ถัดไป (10-14 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,325 และ 1,310 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,345 และ 1,360 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (11-12 มิ.ย.) การประชุมกนง. (12 มิ.ย.) และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ของญี่ปุ่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.ของยูโรโซน ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค. ของจีน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 มิ.ย. 2567 เวลา : 19:09:36
26-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 26, 2024, 1:00 pm