เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มาตรการภาษีหนุนการท่องเที่ยวเมืองรองมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ทั้งปี 2567 คาดตลาดไทยเที่ยวไทยเติบโตต่อเนื่อง




มาตรการหักลดหย่อนภาษีสำหรับค่าที่พักและการจัดงานสัมมนาใน 55 เมืองรองของภาครัฐ ตั้งแต่ 1 พ.ค.-30 พ.ย. 2567 เป็นแรงหนุนตลาดไทยเที่ยวไทย
 
• แต่ผลกระตุ้นอาจเผชิญความท้าทายจากช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอน ความพร้อมของระบบโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว
 
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดไทยเที่ยวไทยปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 193.5 ล้านคน-ครั้ง เติบโต 4.4% จากปีก่อน และรายได้อยู่ที่ 8.7 แสนล้านบาท ขยายตัว 7.8% จากปีก่อน 

เมื่อ 4 มิ.ย. 67 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด  โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 ได้แก่ 

1. มาตรการหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา สำหรับค่าใช้จ่ายด้านบริการที่พัก (โรงแรม โฮมสเตย์และที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม) และค่าบริการนำเที่ยว จากการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองท่องเที่ยวรอง ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

2. มาตรการหักลดหย่อนภาษีนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายการอบรมจัดสัมมนาในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวรองสามารถนำมาหักได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ขณะที่เมืองหลักนำรายจ่ายมาหักได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง 

- มาตรการฯ ดังกล่าว จะเป็นแรงหนุนการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรองของคนไทยมากขึ้น โดยปัจจุบันคนไทยเที่ยวเมืองรองมีสัดส่วน 41% ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2567 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 (รูปที่ 1) และในหลายจังหวัด เช่น เชียงราย สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม นครพนม อุบลราชธานี เป็นต้น จำนวนนักท่องเที่ยวไทยกลับมาสูงกว่าปี 2562 แล้ว ขณะที่ รายได้ไทยเที่ยวไทยในเมืองรองก็มีสัดส่วนเร่งตัวขึ้นเช่นกัน (รูปที่ 2)  
 

 

 

- อย่างไรก็ตาม ผลบวกจากมาตรการฯ อาจไม่ได้หนุนการเดินทางและรายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยให้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนัก เนื่องจาก 1. มาตรการฯ ครอบคลุมกรอบเวลาช่วงฤดูฝนเป็นส่วนใหญ่ และสภาพอากาศมีความไม่แน่นอนสูง โดยสถานที่ท่องเที่ยวอย่างอุทยานแห่งชาติบางแห่งปิดให้บริการในช่วงนี้ 2. ผู้ประกอบการในกลุ่มที่พักและบริษัทนำเที่ยวโดยเฉพาะขนาดเล็กอาจมีความไม่พร้อมของระบบในการรองรับ e-Tax Invoice & e-Receipt 3. การตัดสินใจเดินทางของคนไทยในช่วงมาตรการฯ อาจคึกคักน้อยกว่าหากเทียบกับช่วงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันที่มีวันหยุดยาวและเทศกาลสำคัญอย่างตรุษจีน สงกรานต์ เป็นต้น ขณะที่กำลังซื้อครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีความเปราะบาง และ 4. การเลือกที่พักของคนไทยและการจัดงานสัมมนาส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่เมืองท่องเที่ยวหลัก โดยมักแวะเที่ยวเมืองรองในรูปแบบของการทัศนาจร     

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศทั้งปี 2567 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 193.5 ล้านคน-ครั้ง หรือเติบโต 4.4% จากปีก่อน (รูปที่ 3) เทียบกับที่ขยายตัว 9.6% (YoY) ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันการท่องเที่ยวในประเทศยังสูง จากการที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในหลายจังหวัดให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว การสร้าง Landmark เพื่อเป็นทางเลือกที่หลากหลายให้กับนักท่องเที่ยว ดังนั้น การเติบโตของการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่จะยังมีความไม่เท่ากัน 
 

สำหรับรายได้ท่องเที่ยวจากคนไทยเที่ยวในประเทศปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 8.7 แสนล้านบาท ขยายตัว 7.8% จากปีก่อน (รูปที่ 2) เทียบกับที่ขยายตัว 12.9% (YoY)  ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ ทั้งนี้ แม้รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดในปี 2562 เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายระหว่างการเดินทาง จำนวนวันพักเฉลี่ยลดลงมาที่ 2.1 วัน (จาก 2.46 วันในปี 2562) และการพักค้างมีสัดส่วนน้อยลงมาที่ 51% (จากค่าเฉลี่ยราว 57% ในปี 2562) 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 มิ.ย. 2567 เวลา : 13:19:01
26-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 26, 2024, 12:57 pm