เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4


 
กนง.มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ทำให้การสื่อสารในการประชุม กนง. ครั้งนี้มีท่าทีที่ Hawkish กว่าการประชุมครั้งก่อนในเดือนเมษายนซึ่งมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง โดยกรรมการเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวเข้าสู่ระดับศักยภาพและเหมาะสมกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ในขณะที่กรรมการเสียงส่วนน้อยเห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ลดลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างมากขึ้น และมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย กนง. คงประมาณการจากการประชุมครั้งก่อนที่ 2.6 % และ 3.0 % ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ตามแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว และภาครัฐบาลที่กลับมาเบิกจ่ายได้ โดย กนง. ประเมินว่าภาคการส่งออกและภาคการผลิตจะยังคงฟื้นตัวช้าจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อย่างไรก็ดี กนง. มีมุมมองว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว สำหรับด้านอัตราเงินเฟ้อ กนง. คงประมาณการเดิมเช่นกัน โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% และ 1.3% ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ตามราคาพลังงานและอาหารสดที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2024 และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย

IMPLICATIONS
 
SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นจังหวะเวลาที่ภาวะการเงินตึงตัวจะเริ่มส่งผลกดดันเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงเปราะบาง ประกอบกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะเริ่มปรับสูงขึ้น สำหรับในระยะสั้น SCB EIC มองว่าพัฒนาการเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงต้นปียังเป็นไปตามที่ กนง. ประเมินไว้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาสูงกว่ากรอบล่างของเป้าหมายในเดือนพฤษภาคมชั่วคราวโดยส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานราคาพลังงานที่รัฐอุดหนุนไว้ในปีก่อน อีกทั้ง ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย MRR เป็นพิเศษเป็นเวลา 6 เดือนสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาภาระหนี้ของกลุ่มครัวเรือนและธุรกิจเปราะบางได้บางส่วนแล้ว กนง. จึงจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่กลับมาปรับเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมไม่ได้สะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตดี เนื่องจากเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดพลังงานและอาหารเป็นสำคัญ หลังรัฐบาลทยอยลดการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมัน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด ยังทรงตัวต่ำที่ 0.39% (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 : อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบในเดือน พ.ค. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวต่ำ 
 
 
นอกจากนี้ SCB EIC ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางอยู่มาก โดยเฉพาะภาคครัวเรือน จากข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ล่าสุดในปี 2023 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนที่เป็นหนี้มีความเปราะบางมากขึ้น สาเหตุหลักจากปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย โดยกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำประสบปัญหารายได้หดตัว(เทียบปี 2021) ขณะที่กลุ่มครัวเรือนรายได้ปานกลางเริ่มมีรายได้ไม่พอการจ่ายหนี้ (รูปที่ 2)
 
รูปที่ 2 : ครัวเรือนที่เป็นหนี้เปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำจากรายได้ที่หดตัว ขณะที่กลุ่มรายได้ปานกลางเริ่มประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายมากขึ้น 
 
 
มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวเปราะบางในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สูง และคุณภาพสินเชื่อภาคครัวเรือนด้อยลง (รูปที่ 3) จึงทำให้สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อภาคครัวเรือน (รูปที่ 4) ส่งผลให้ภาวะการเงินโดยรวมจะยิ่งมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ยิ่งเพิ่มความเปราะบางของเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ภาคเศรษฐกิจบางส่วนยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง SCB EIC ประเมินว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยจะยังฟื้นตัวได้ช้าเนื่องจากยังมีแรงกดดันจากสินค้านำเข้าจากจีน และอุปสงค์ในประเทศต่อสินค้าคงทนที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงกดดันเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนขึ้นในระยะข้างหน้า ทำให้ความจำเป็นในการปรับลดดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะช่วงที่ภาคการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากเป็นพิเศษ ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะไม่มีผลกระตุ้นการก่อหนี้มากจนน่ากังวลเช่นในอดีต ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการลดหนี้ในระบบเศรษฐกิจ (Debt Deleveraging) นอกจากนี้ สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปีจะเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะปรับสูงขึ้นมากกว่าที่ กนง. ประเมินในปัจจุบัน ทั้งจากปัจจัยภายนอกที่ไทยอาจได้รับผลกระทบจากการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา การค้าโลกกระทบต่อการส่งออก และปัจจัยภายในจากอุปสงค์ในประเทศที่อาจอ่อนแอลง หากภาวะการเงินตึงตัวขึ้นส่งผลกระทบซ้ำเติมความเปราะบางภาคครัวเรือน

SCB EIC จึงประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปีนี้เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปีหน้า (2025) โดยมองว่าเป็นจังหวะเวลาที่ภาวะการเงินตึงตัวจะกดดันเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะยิ่งเปราะบางขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะเริ่มปรับสูงขึ้น 

รูปที่ 3 : คุณภาพสินเชื่อครัวเรือนปรับด้อยลงต่อเนื่อง
 



รูปที่ 4 : มาตรฐานการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะภาคครัวเรือน
 
 
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/policy-rate-120624
 
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค
 
 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 มิ.ย. 2567 เวลา : 14:44:16
26-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 26, 2024, 12:14 pm