เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คว้าโอกาสอุตสาหกรรมไทย ในวันที่โลกแบ่งขั้ว (Decoupling) รุนแรงขึ้น


 
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้น เร่งการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling)
 
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศรุนแรงขึ้นจากความไว้วางใจกันระหว่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มรับมือกับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ผ่านการพึ่งพาตนเองหรือประเทศพันธมิตรมากขึ้น และกีดกันไม่ให้ประเทศที่มองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงเอาเปรียบและแข่งขันทัดเทียมกันได้ นโยบายระหว่างประเทศในระยะข้างหน้าจึงหันมาเน้นการกีดกันการค้าการลงทุนเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศและเครือข่ายชาติพันธมิตรเพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศ นำไปสู่การชะลอกระแสโลกาภิวัตน์และทำให้โลกแบ่งขั้วมากขึ้น

รูปแบบการค้าโลกกำลังเปลี่ยนไป ประเทศเป็นกลางจะมีโอกาสได้ประโยชน์
 
SCB EIC ศึกษาผลกระทบจากแนวโน้มการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่จะรุนแรงขึ้นโดยแบ่งกลุ่มประเทศในโลกออกเป็น 3 กลุ่มตามความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และจีน ผ่านเกณฑ์การจัดกลุ่มประเทศจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ พบว่าหลังการแบ่งขั้วเศรษฐกิจ รูปแบบการค้าระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไป กลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกันจะพึ่งพาการค้าระหว่างกันลดลงและหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral stance) มากขึ้น ประเทศไทยซึ่งรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกจะได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน (Trade and investment diversion) จากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกันมากขึ้น 

ธุรกิจไทยแต่ละประเภทจะได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน
 
แม้ในภาพรวมการส่งออกไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์จากรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป แต่ภาคการผลิตของไทยจะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน SCB EIC ประเมินผลกระทบภาคอุตสาหกรรมไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม (1) กลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ โดยสินค้าที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ (2) กลุ่มที่มีความเสี่ยง ทั้งจากผลกระทบที่สหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งในภูมิภาคมากขึ้น หรือการแข่งขันรุนแรงกับประเทศที่เป็นกลางอื่น ๆ เช่น สิ่งทอ และอุปกรณ์ไฟฟ้า 

ไทยจะคว้าโอกาสนี้ได้ ต้องมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกและการปรับตัวธุรกิจเชิงรุก
 
บางอุตสาหกรรมอาจได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตโลก แต่อาจเผชิญความเสี่ยงและการแข่งขันสูง ทั้งนี้ไทยจะสามารถคว้าโอกาสจากโครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนไปได้นโยบายส่งเสริมการส่งออกและการปรับตัวของภาคธุรกิจเชิงรุกจะต้องสอดคล้องกับบริบทเฉพาะของสินค้าแต่ละประเภทที่อาจได้หรือเสียประโยชน์แตกต่างกัน แบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ
 
1) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถในการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวชูจุดแข็งของสินค้าและเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และปรับสินค้าให้ทันเทรนด์โลก
 
2) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และการแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง และยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวลดความเสี่ยงจาก Climate change และลงทุนพลังงานหมุนเวียน
 
3) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่การแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้ดำเนินธุรกิจเดิม แต่ลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งตลาดส่งออกที่มีอยู่ ขณะที่ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตและสร้างความเข้าใจในตลาดขั้วสหรัฐฯ และขั้วจีนเพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น 
 
4) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการเติบโตบนห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่และหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีสนับสนุน
 
ท่ามกลางความขัดแย้งยังมีโอกาสที่ไทยจะคว้าประโยชน์ได้ หากภาครัฐและภาคธุรกิจตระหนักถึงโลกที่กำลังเปลี่ยนไปรวดเร็วและปรับตัวเชิงรุก เพื่อให้การส่งออกไทยอยู่รอดได้ทั้งในสถานการณ์ “โลกรวมกันเราก็อยู่” หรือแม้ “โลกแยกหมู่ไทยก็ยังรอด”

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้น ยิ่งเร่งการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ 
 
นับวันปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยิ่งทวีความรุนแรง ความร่วมมือกันระหว่างประเทศที่ดำเนินมาในยุคโลกาภิวัตน์ถูกตั้งคำถาม ประเทศมหาอำนาจในโลกต่างหันกลับมามองว่า ความร่วมมือกันผ่านข้อตกลงการค้าเสรีที่ผ่านมากระจายประโยชน์ให้แต่ละประเทศได้ทั่วถึงและเท่าเทียมเพียงใด หากดูสัดส่วนการส่งออกของประเทศต่าง ๆ  ในตลาดโลกช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าทิศทางการกระจายประโยชน์แตกต่างกันอย่างชัดเจน (รูปที่ 1) บางประเทศได้รับประโยชน์มาก เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม แต่บางประเทศดูเหมือนจะได้ประโยชน์น้อยกว่า เช่น สหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ 
 
ความไว้วางใจในประเทศคู่ค้าสำคัญจึงเริ่มลดลง กลายเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และความร่วมมือกันระหว่างประเทศที่ลดลง สะท้อนได้จากการออกมาตรการกีดกันทางการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปี 2017 มาตรการกีดกันเหล่านี้ส่วนใหญ่ออกโดยประเทศมหาอำนาจและพันธมิตร เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยพบว่าเกือบ 70% ของมาตรการกีดกันที่ประกาศในปี 2023 อ้างเหตุผลเกี่ยวกับการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Economic decoupling) และมีเป้าหมายหลักคือประเทศจีน  (รูปที่ 2) 
 
รูปที่ 1 : ประเทศต่าง ๆ ได้ประโยชน์จาก Globalization ไม่เท่ากัน สะท้อนจากส่วนแบ่งในตลาดส่งออกโลก
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trademap

รูปที่ 2 : ทั่วโลกออกมาตรการกีดกันการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ขณะที่จีนและยุโรปเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหลัก
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Global Trade Alert, Bing, Australian Bureau of Statistics, GeoNames, Microsoft, Navinfo, Open Places, OpenStreetMap, TomTom และ Zenrin

เศรษฐกิจโลกจะยิ่งเผชิญกับความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายการเมืองระหว่างประเทศรุนแรงขึ้นอีก เนื่องจาก (1) ระเบียบโลกใหม่กำลังเปลี่ยนทิศจากมหาอำนาจขั้วเดียว (Unipolar) ที่นำโดยสหรัฐฯ มาเป็นมหาอำนาจหลายขั้ว (Multipolar) เช่น จีน อินเดีย หรือกลุ่ม BRICS  ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ กำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและระเบียบโลกใหม่ รวมถึงลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐในการชำระเงิน และสร้างกลไกทางการเงินเพื่อช่วยเหลือทางการเงินในยามวิกฤต (รูปที่ 3) นอกจากนี้ นโยบายการเมืองระหว่างประเทศและห่วงโซ่การผลิตโลก (Global supply chain) จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนจาก (2) ผลการเลือกตั้งใหญ่กว่า 60 ประเทศที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ ซึ่งผู้ชิงตำแหน่งหลายท่านได้กล่าวถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ไว้ โดยเฉพาะการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่าการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะมีผลกระทบอย่างมากต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการค้าโลก เพราะจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์จะยิ่งเน้นประโยชน์ของสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้คาดเดาทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น และสหรัฐฯ จะยิ่งมีท่าทีแข็งกร้าวกับจีนและกลุ่มพันธมิตรของจีนมากขึ้นอีก 
 
โลกข้างหน้าจะเห็นการชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) และโลกแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มรับมือกับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ผ่านการพึ่งพาตนเองหรือประเทศพันธมิตรมากขึ้น และออกมาตรการกีดกันต่าง ๆ เพื่อสกัดไม่ให้ประเทศที่มองว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติเอาเปรียบและแข่งขันทัดเทียมได้ โดยเฉพาะการเร่งสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ และการสร้างเครือข่ายชาติพันธมิตรเพื่อให้ระเบียบระหว่างประเทศเป็นไปในแบบที่ต้องการ 
 
รูปที่ 3 : โลกกำลังเปลี่ยนจากมหาอำนาจขั้วเดียว (Unipolar) เป็นมหาอำนาจหลายขั้ว (Multipolar) ส่งผลให้ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายระหว่างประเทศปรับสูงขึ้น 
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ IMF
 
ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนว่า โอกาสของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ตรงไหนในสมการโลกแบ่งขั้วมากขึ้น
เช่นนี้ ? ในบทความนี้ SCB EIC วิเคราะห์และตอบโจทย์เรื่องนี้ใน 3 ประเด็น คือ (1) การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าโลกเปลี่ยนไปอย่างไร (2) ไทยได้หรือเสียประโยชน์จากการแบ่งขั้วอย่างไร และ (3) ภาครัฐและภาคเอกชนไทยจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้ไทยมีความพร้อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลกใหม่ที่กำลังแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยง ศักยภาพการผลิต และการแข่งขันที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม
 
I. เศรษฐกิจและการค้าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรหลังการแบ่งขั้วเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น 
 
ที่ผ่านมาการค้าระหว่างประเทศเชื่อมโยงภาคการผลิตทั่วโลกเป็นห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน แต่ละประเทศเลือกนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าที่เหมาะสมที่สุด โดยพิจารณาจากมิติต่าง ๆ เช่น ค่าจ้าง ผลิตภาพ และปัจจัยแวดล้อมอื่น อย่างไรก็ตาม การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นและกีดกันการค้าระหว่างขั้วกันรุนแรงขึ้นจะทำให้รูปแบบโครงสร้างการค้าโลกและห่วงโซ่การผลิตโลกเปลี่ยนแปลงไป เพราะประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์แตกต่างกันจะค้าขาย ลงทุน และถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันน้อยลง แต่ละประเทศจะหันมาค้าขายกับประเทศคู่ค้าที่เหมาะสมรองลงมา แต่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ขัดแย้งกันมากขึ้น 
 
SCB EIC แบ่งกลุ่มประเทศในโลกออกเป็น 3 กลุ่ม  ได้แก่ (1) สหรัฐฯ และประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ใกล้เคียงกัน (กลุ่มน้ำเงิน) เช่น เม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย (2) จีนและประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ใกล้เคียงกัน (กลุ่มสีแดง) เช่น ฮ่องกง รัสเซีย อิหร่าน สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และ (3) ประเทศที่มีบทบาทเป็นกลางในจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ (กลุ่มสีเขียว) เช่น อินเดีย อาเซียน-5 (สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย บราซิล แอฟริกาใต้ โมร็อกโก (รูปที่ 4) 
 
หากพิจารณาข้อมูลการค้าระหว่างกลุ่มประเทศปี 2017 เทียบกับปี 2023 พบว่า รูปแบบการพึ่งพาการค้าระหว่างกลุ่มเริ่มเปลี่ยนแปลงให้เห็นบ้างแล้ว โดยจะเห็นว่ากลุ่มประเทศสีน้ำเงินและกลุ่มสีแดงต่างลดการพึ่งพาการค้าระหว่างกัน และหันไปพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลางมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (รูปที่ 5) เช่นเดียวกับประเทศไทยที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ 
รูปที่ 4 : โลกแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ UNGA, IMF WEO April 2023, Trade Map, Statista, UN, CEIC และ World Bank Database

รูปที่ 5 : ประเทศที่เป็นกลาง (Neutral stance) ได้ประโยชน์จากการแบ่งขั้วเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trade Map โดยแบ่งประเทศเป็น 5 กลุ่ม คือ US, US Bloc, China, China Bloc และ Neutral

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร หากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจทวีความรุนแรงขึ้น? SCB EIC ศึกษาผลกระทบของฉากทัศน์นี้ โดยจำลองสถานการณ์ว่ากลุ่มสีน้ำเงินและกลุ่มสีแดงตั้งกำแพงภาษี (Tariff hike) ระหว่างกัน โดยตั้งอัตราภาษีศุลกากรไว้ที่ 40% ในทุกกลุ่มสินค้า (ไม่รวมบริการ) และใช้ Computable General Equilibrium Model ในการจำลองผลกระทบของการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจต่อเศรษฐกิจการค้าโลกและไทย โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล Global Trade Analysis Project (GTAP) ผลการศึกษาพบว่า 
 
(1) การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลง
 
ผลการศึกษาพบว่าการตั้งกำแพงภาษีระหว่างขั้วสหรัฐฯ และจีนจะส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของโลกลดลง 10.5% จากกรณีฐานที่โลกยังค้าขายกันตามปกติ โดยส่วนใหญ่ลดลงจากการค้าระหว่างประเทศที่แบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ นำโดยการส่งออกของประเทศกลุ่มสีแดง (ไม่รวมจีน) ที่ลดลงถึง 31.5% ตามด้วยจีนลดลง 24.5% สหรัฐฯ ลดลง 20.6% และประเทศกลุ่มสีน้ำเงิน (ไม่รวมสหรัฐฯ) ลดลง 8.3% มูลค่าการส่งออกที่ลดลงนี้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจประเทศที่แบ่งขั้วจะหดตัวจากกรณีฐาน สำหรับเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะหดตัวลงประมาณ 0.6%  (รูป 6) จะเห็นได้ว่ากิจกรรมเศรษฐกิจของโลกหดตัวน้อยกว่ามูลค่าการส่งออกโลก สะท้อนว่าประเทศที่แบ่งขั้วมีการปรับตัวโดยหันไปค้าขายกับตลาดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยตรง ผลศึกษาในส่วนนี้พบว่า ผู้ส่งออกจากประเทศที่แบ่งขั้วจะปรับตัวโดย... 
 
(1.1) หันไปขายสินค้าให้ผู้ซื้อภายในประเทศแทน ซึ่งพบว่ามูลค่าการค้าภายในประเทศของกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วเพิ่มขึ้น 11.4% จากกรณีฐาน 
 
(1.2) หันไปขายสินค้าภายในกลุ่มประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์เหมือนกัน จากรูป 7 ในกรณีสหรัฐฯ และกลุ่มสีน้ำเงินที่ค้าขายกันเองมากขึ้นถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 28% ขณะที่จีนและกลุ่มสีแดงค้าขายกันมากขึ้นประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2.2 เท่า

รูปที่ 6 : หากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจและการค้าโลกจะปรับแย่ลง 
 
 
 
หมายเหตุ : ขนาดของวงกลมแสดง Real GDP เมื่อเกิดการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูล GTAP
 
(1.3) หันไปขายสินค้าให้ประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นกลาง โดยเฉพาะจีนที่ส่งออกไปยังประเทศที่เป็นกลางรวมถึงไทยเพิ่มขึ้นรวมกว่า 2.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 2 เท่าจากกรณีฐาน (รูป 7)
 
รูปที่ 7 : ไทยจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินค้าส่งออกสุทธิสูงขึ้นจากประเทศที่แบ่งขั้วกัน
 
 
หมายเหตุ : รูปแสดงผลของกลุ่มประเทศสีน้ำเงินและสีแดงปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันมาอยู่ที่ 40% ในทุกกลุ่มสินค้าส่งออก (ไม่รวมการส่งออกบริการ) 
สีในแต่ละช่อง สะท้อนมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนไปมากหรือน้อยเมื่อเทียบกับการส่งออกรวมของประเทศหรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกแต่ละแถว
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูล GTAP
 
(2) ประเทศที่เป็นกลาง (รวมไทย) จะได้อานิสงส์จากการเบี่ยงเบนทางการค้า
 
เมื่อประเทศที่แบ่งขั้วทางเศรษฐกิจตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายจะต้องหันมานำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ได้มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ขัดแย้งกันมากขึ้น รวมถึงประเทศที่เป็นกลางและไทยซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย การเบี่ยงเบนทางการค้าจะเป็นอานิสงส์สำหรับกลุ่มประเทศที่เป็นกลาง ผลศึกษาในรูป 7 ชี้ว่า ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปขายตลาดประเทศที่แบ่งขั้วรวมกันได้มากขึ้นถึง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 22% จากกรณีฐาน นอกจากประเทศที่เป็นกลางจะได้ประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะได้รับเงินลงทุนจากประเทศแบ่งขั้วที่ต้องการเข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อขายสินค้าภายในประเทศนั้น ๆ หรือส่งออกตลาดต่างประเทศ ผลการจำลองสถานการณ์พบว่า ไทยจะมีเม็ดเงินลงทุนรวม (มูลค่าที่แท้จริง) เพิ่มขึ้นถึง 27.3% ขณะที่การลงทุนจากเงินออมภายในประเทศจะเติบโตขึ้น 4.3%  
 
อย่างไรก็ตาม การเบี่ยงเบนทางการค้าอาจไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะสินค้าส่งออกจากประเทศแบ่งขั้วอาจเข้ามาตีตลาดภายในประเทศที่เป็นกลางมากขึ้นและแย่งส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากจีนที่อาศัยความได้เปรียบในการผลิตขนาดใหญ่ (Economy of scale) ดังเช่นสถานการณ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศอาเซียนและไทยเริ่มมองเห็นปัจจัยเสี่ยงจากการระบายสินค้าส่งออกจากจีนที่เพิ่มขึ้นมากและการขาดดุลการค้ากับจีนสูงขึ้น
 
จะเห็นได้ว่าการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจมาพร้อมกับการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน ซึ่งมีทั้งประโยชน์และโทษ จากการจำลองสถานการณ์นี้พบว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวขึ้นประมาณ 0.5% จากกรณีฐาน สะท้อนว่าโดยรวมแล้วการเบี่ยงเบนการค้าและการลงทุนจะให้ผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าผลข้างเคียงจากสินค้านำเข้าราคาถูกที่จะเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจภายในประเทศ
 
II. โอกาสของไทยในวันที่โลกแบ่งขั้วมากขึ้น 
 
จากผลการศึกษาในส่วนแรกพบว่า ไทยมีโอกาสจะได้อานิสงส์หากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้นอีก โดยผลบวกต่อการส่งออกไทยจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการตั้งกำแพงภาษีของประเทศแบ่งขั้ว จากรูปที่ 8 ได้แสดงผลของการปรับอัตราภาษีนำเข้าของแต่ละขั้วประเทศต่อมูลค่าการส่งออกของไทย จะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้นอีก หากสองขั้วประเทศยิ่งปรับอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันเพิ่มเป็น 50% สะท้อนว่าหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น ผลบวกต่อการส่งออกไทยจากการเบี่ยงเบนการค้าและการลงทุนมาสู่ไทยจะมากกว่าผลลบจากความต้องการนำเข้าที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ที่ปรับแย่ลง โดยสุทธิแล้วมูลค่าการส่งออกของไทยจะยังคงเพิ่มขึ้น

รูปที่ 8 : มูลค่าการส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของกำแพงภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสองขั้ว 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูล GTAP
 
สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย ผลการศึกษาจากสถานการณ์จำลองชี้ว่าจะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน แบ่งได้ 2 กลุ่ม (รูป 9)
 
1) กลุ่มที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เคยมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทยตั้งแต่เริ่มสงครามการค้าในปี 2018 ก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้ไทยมีจุดแข็งด้านห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ เช่น คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ หรือเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยจะได้อุปสงค์สินค้าทดแทนเพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากข้อพิพาททางการค้า เช่น เครื่องดื่มและยาสูบ เนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์แปรรูป ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอยู่แล้วและโลกยังมีความต้องการสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น โดยผลการศึกษาพบว่า
 
• คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้อาจขยายตัวได้ถึง 6% จากกรณีฐาน โดยจะมีความต้องการนำเข้าที่เบี่ยงเบนมาจากกลุ่มที่แบ่งขั้วกันเป็นหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น 
 
• รถยนต์และส่วนประกอบ มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 8% และ 1.6% ตามลำดับ โดยมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากประเทศเป็นกลางด้วยกัน เช่น ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ รวมถึงประเทศขั้วสีแดง 
 
• เครื่องดื่มและยาสูบ มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% โดยจะมีความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นหลัก ๆ จากประเทศเป็นกลางในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย (รูปที่ 9) 

2) กลุ่มที่มีโอกาสเสียประโยชน์จากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมไทยที่ผูกโยงกับห่วงโซ่การผลิตของจีนหรือพึ่งพาอุปสงค์จากตลาดจีนเยอะ เช่น ปิโตรเคมีและพลาสติก ยางพาราและไม้ยางพารา ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงวงจรพิมพ์ อาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็ง หรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรงภายในภูมิภาคเพื่อแย่งชิงอุปสงค์ทดแทนจีนจากสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ เซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของสินค้าจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ เหล็กและเหล็กกล้า ผักและผลไม้ เสื้อผ้า สิ่งทอ รวมไปถึงอาจมีผู้ผลิตจากขั้วประเทศสีแดงย้ายฐานการผลิตออกมาผลิตแข่งกับอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อลดการกีดกันการส่งออกสินค้าจากประเทศของตน โดยพบว่า
 
• เสื้อผ้าและสิ่งทอ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่ยังผูกโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลกเก่าและมีความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยมูลค่าการส่งออกสิ่งทอไทยจะลดลงมากถึง 24% จากกรณีฐาน 
 
• เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งสาขาการผลิตขนาดใหญ่ที่จะเสียประโยชน์ มูลค่าการส่งออกอาจลดลงราว 6% อย่างไรก็ดี แม้จะมีการแข่งขันสูงในการส่งออกสินค้าเหล่านี้ แต่ไทยยังพอมีตลาดส่งออกไปยังประเทศแบ่งขั้ว
ที่ต้องการสินค้านำเข้าทดแทนได้อยู่บ้าง (รูปที่ 9)

รูปที่ 9 : Trade diversion จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตไทยรายสินค้าและตลาดแตกต่างกัน 
 
 
หมายเหตุ : รูปแสดงผลของการที่กลุ่มประเทศสีน้ำเงินและสีแดงปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันมาอยู่ที่ 30% ในทุกกลุ่มสินค้า
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูล GTAP

III. ภาครัฐและภาคธุรกิจไทยจะต้องดำเนินการเชิงรุกอย่างไร 
 
ผลการศึกษาข้างต้นชี้ว่า หากการแบ่งขั้วในโลกรุนแรงขึ้นจะเป็นโอกาสของไทยได้ ถ้าไทยมีกลยุทธ์ในการปรับตัวเชิงรุก เพราะส่วนหนึ่งไทยต้องเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตที่เป็นปัญหาสะสมมานาน ในช่วงที่ผ่านมาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยยังมีจำกัด และมีศักยภาพการส่งออกต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง เพราะสินค้าส่งออกไทยส่วนใหญ่ยังผูกโยงกับห่วงโซ่การผลิตของโลกเก่า และปรับตัวได้ค่อนข้างช้าต่อความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จากข้อมูลเฉลี่ยปี 2018 - 2022 พบว่าสินค้าส่งออกไทย 23% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมดจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ความต้องการโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นไม่มากจากค่าเฉลี่ยช่วงปี 2013 – 2017 ที่ 16% แต่หากเทียบกับบางประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม กลับสามารถส่งออกสินค้าที่โลกต้องการเพิ่มขึ้นภายในช่วงเวลาเดียวกันนี้ได้เกือบเท่าตัว (รูปที่ 10) คำถามสำคัญคือ ไทยจะวางยุทธศาสตร์ในอนาคตอย่างไร เพื่อเร่งให้ภาคการผลิตไทยเข้าไปมีส่วนร่วมปรับห่วงโซ่การผลิตใหม่ของโลกได้เร็วขึ้น ? 
 
รูปที่ 10 : ภาคการส่งออกไทยยังปรับตัวช้าต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการสินค้าในตลาดโลก
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trademap
 
ภาครัฐและภาคธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญในการออกแบบและขับเคลื่อนกลยุทธ์การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยต้องวางกลยุทธ์ให้แตกต่างกันระหว่างกลุ่มสินค้าที่ไทยจะได้หรือเสียประโยชน์ในการผลิต/การส่งออกจากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตของโลก ซึ่งอาจเผชิญความเสี่ยงจากหลายปัจจัยและการแข่งขันสูงเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากประเทศคู่แข่งทางการค้าในภูมิภาค ดังนั้น การวางกลยุทธ์ต้องต่างกันไปตามประสิทธิภาพการผลิตและระดับการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้น ๆ 
 
SCB EIC จัดกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อนำเสนอกลยุทธ์ในการปรับตัวของภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยประเมินจาก 1) ปัจจัยศักยภาพการผลิต จากความพร้อมหลายด้าน เช่น แรงงาน เทคโนโลยี การจัดหาวัตถุดิบในประเทศและห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจร ตลอดจนความเสี่ยงของอุตสาหกรรม เช่น การแข่งขันด้านราคา อุปทานล้นตลาด ต้นทุนการผลิตสูง การกีดกันทางการค้า สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน และ 2) ปัจจัยการแข่งขันในระดับอุตสาหกรรม 
 
จากการจัดกลุ่มพบว่า แม้บางอุตสาหกรรมอาจได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตโลก แต่อาจเผชิญความเสี่ยงและการแข่งขันที่สูงขึ้น (รูป 11) เช่น อุตฯ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ แม้ปัจจุบันจะยังขาดการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับต้นน้ำ แต่มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากการแบ่งขั้วที่ทำให้เกิดการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่อุตฯ รถยนต์และส่วนประกอบก็กำลังถูกท้าทายจากกระแสยานยนต์ไฟฟ้า โดยแม้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตของโลก แต่ความพร้อมยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มรถสันดาป ส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้ายังทำได้จำกัด โดยเฉพาะจากปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะเฉพาะทางและการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้เข้าไปมีส่วนร่วมใน EV global supply chain ในทางกลับกัน บางอุตสาหกรรมอาจได้ประโยชน์จากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น แต่ไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง เช่น ผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็ง ซึ่งไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ รวมทั้งยังมีชื่อเสียงและคุณภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังคือ ปัญหา Climate change ที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งคุณภาพและปริมาณผลผลิตผลไม้ของไทยในระยะต่อไป 
 
SCB EIC นำเสนอกลยุทธ์ส่งเสริมการส่งออกของไทยและการปรับตัวภาคธุรกิจเชิงรุก (รูป 12) ดังนี้
 
1) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง 
 
นโยบายภาครัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถในการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวชูจุดแข็งของสินค้าและเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และปรับสินค้าให้ทันเทรนด์โลก
 
- บทบาทภาครัฐ : (1) เน้นให้เงินสนับสนุนให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ เช่น อุดหนุนต้นทุนการผลิต หรืออุดหนุนการลงทุนด้านการตลาด เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และ (2) ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกหาพันธมิตรบนห่วงโซ่การผลิตอย่างมีกลยุทธ์ เช่น การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยเข้าถึงโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับคู่ค้าที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ หรือการควบรวม Supplier ที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Vertical integration)
 
- การปรับตัวของภาคธุรกิจ : (1) คัดกรองสินค้าและตลาดเป้าหมายที่สอดคล้องกับจุดแข็งของธุรกิจ และวางกลยุทธ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต โดยต่อยอดจากจุดแข็งที่มี (2) วางกลยุทธ์ในการรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดเดิม ๆ (3) พัฒนา High-value product และพัฒนาสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับเทรนด์ของโลกมากขึ้น (4) ปรับปรุงกระบวนการผลิต เน้นการวิจัยและพัฒนา
 
2) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และไม่ต้องแข่งขันสูง
 
นโยบายภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง และยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวลดความเสี่ยงจาก Climate change และลงทุนพลังงานหมุนเวียน
 
- บทบาทภาครัฐ : (1) สนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่ เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจและกระจายความเสี่ยง (2) สร้างแรงจูงใจให้ผู้ส่งออกยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 
 
-   การปรับตัวของภาคธุรกิจ : (1) ลดความเสี่ยง โดยลงทุนเพื่อคว้าโอกาส/ลดผลกระทบด้านต่าง ๆ 
เช่น Climate change (2) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ

3) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่ไม่ต้องแข่งขันสูง
 
นโยบายภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้ดำเนินธุรกิจเดิม แต่ลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งตลาดส่งออกที่มีอยู่ ขณะที่ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตและสร้างความเข้าใจประเทศแบ่งขั้วให้เข้าถึงความต้องการได้ดีขึ้น
 
- บทบาทภาครัฐ : (1) ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี / ให้เงินอุดหนุนสำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีการผลิต (2) สร้างเครือข่ายระหว่างผู้ส่งออก มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน
 
- การปรับตัวของภาคธุรกิจ : (1) เพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีการผลิตและองค์ความรู้ (2) เพิ่มความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และจีน โดยผลักดันการเป็นฐานการผลิต เช่น ใช้เทคโนโลยีของจีนในการผลิตและส่งออกไปยังสหรัฐฯ
 
4) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง
 
นโยบายภาครัฐควรช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการเติบโตบนห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่และหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยี
 
- บทบาทภาครัฐ : (1) ชี้เป้าหมายสาขาการผลิตที่มีศักยภาพดีกว่า และช่วยให้ผู้ส่งออกมีความได้เปรียบในการปรับตัวไปสู่ภาคการผลิตดังกล่าว (2) ให้เงินอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ผู้ส่งออกย้ายภาคการผลิต (3) ปรับปรุงโครงสร้างเชิงสถาบัน เช่น กฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจที่ล้มเหลวกลับเข้าดำเนินการได้ในภาคการผลิตที่มีศักยภาพมากกว่า
 
- การปรับตัวของภาคธุรกิจ : (1) ลงทุนสร้างห่วงโซ่มูลค่าในสินค้าอื่น ๆ เช่น สินค้าเกษตรมูลค่าสูงอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร (2) หาพันธมิตรที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่

รูปที่ 11 : แม้บางอุตสาหกรรมอาจได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิต แต่อาจเผชิญ
ความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นและการแข่งขันสูง 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB 

รูปที่ 12 : กลยุทธ์เชิงรุกของภาคส่งออกและการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับประเภทธุรกิจ
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB 

โลกที่แบ่งขั้วไปแล้วคงยากจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ไทยสามารถคว้าโอกาสจากความขัดแย้งนี้ และเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์กับประเทศได้ โดยอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ผ่านการออกแบบนโยบายเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสม พอดีตัว กับประเภทธุรกิจที่มีปัญหาแตกต่างกัน และผลักดันเชิงรุกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคการส่งออก รวมถึงภาคธุรกิจเองที่ต้องตระหนักถึงโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยต้องเร่งทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นจากภายนอกสู่ภายในธุรกิจของตนเอง เพื่อให้การส่งออกไทยอยู่รอดได้ทั้งในสถานการณ์ “โลกรวมกันเราก็อยู่” หรือแม้ “โลกแยกหมู่ไทยก็ยังรอด”
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/decoupling-130624
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) 
 
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC)  และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) MACROECONOMICS RESEARCH
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
 
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
นนท์ พฤกษ์ศิริ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
วิชาญ กุลาตี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักเศรษฐศาสตร์
ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์  นักเศรษฐศาสตร์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักเศรษฐศาสตร์
ณัฐณิชา สุขประวิทย์ นักเศรษฐศาสตร์ INDUSTRY ANALYSIS
ปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis โชติกา ชุ่มมี
 
ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต
ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม นักวิเคราะห์อาวุโส
กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส
ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส
ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส
ณัฐนันท์ อภินันท์วัฒนกูล นักวิเคราะห์อาวุโส
จิรวุฒิ อิ่มรัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโส
เชษฐวัฒก์ ทรงประเสริฐ นักวิเคราะห์อาวุโส
ปุญญภพ ตันติปิฎก นักวิเคราะห์อาวุโส
กีรติญา ครองแก้ว นักวิเคราะห์
จิรภา บุญพาสุข นักวิเคราะห์
ชญานิศ สมสุข นักวิเคราะห์
วรรณโกมล สุภาชาติ นักวิเคราะห์
สริยา พันธุหงส์ นักวิเคราะห์

หน่วยงานบริหารยุทธศาสตร์
ก้องภพ วงศ์แก้ว  AVP, Strategic Management Division
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มิ.ย. 2567 เวลา : 14:41:42
26-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 26, 2024, 12:22 pm