เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยร่วงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 ท่ามกลางแรงขายของต่างชาติ


 สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท


· เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 36.94 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ตามภาพรวมของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียที่อ่อนค่าลงท่ามกลางแรงหนุนต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ฯ จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจทำให้จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดเลื่อนออกไป อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในระหว่างสัปดาห์ หลังจากเงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงขายตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ทั้งในช่วงก่อนและหลังการประชุมเฟด ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดด้วยเช่นกัน

เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางเงินเยน ซึ่งอ่อนค่าลงหลัง BOJ มีมติคงดอกเบี้ยและปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่ระดับเดิม ขณะที่แผนการลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น แม้ BOJ จะมีการส่งสัญญาณเตรียมดำเนินการ แต่ก็จะเปิดเผยรายละเอียดในการประชุมเดือนก.ค. อีกครั้ง

 
ทั้งนี้ การประชุมนโยบายการเงินของไทยและสหรัฐฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ ออกมาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมตามที่ตลาดคาด โดย กนง. มีมติ 6:1 เสียงให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ขณะที่เฟดมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่กรอบ 5.25-5.50% และมีการปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายผ่าน dot plot มาสะท้อนโอกาสการลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้

· ในวันศุกร์ที่ 14 มิ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 มิ.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 10-14 มิ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 9,376 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 3,661 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 3,358 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 303 ล้านบาท)

· สัปดาห์ถัดไป (17-21 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ปัจจัยทางการเมืองของไทย และสัญญาณเกี่ยวกับดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนมิ.ย. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค. รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. และผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพ.ค. และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ของจีน รวมถึงดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนมิ.ย. ของญี่ปุ่น อังกฤษ ยูโรโซนและสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

· ดัชนีหุ้นไทยแตะจุดต่ำสุดใหม่ในรอบกว่า 3 ปี 7 เดือน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง

หุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าตลาดคาด ประกอบกับนักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการเมืองในประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นแรงเทขายทำกำไรในหุ้นหลายกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดย ไฟแนนซ์ อสังหาริมทรัพย์และพลังงาน

หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบในเวลาต่อมาก่อนจะทยอยปรับตัวลงอีกครั้งหลังการประชุมเฟด เนื่องจากเฟดส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ประกอบกับนักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนระหว่างรอติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ โดยหุ้นไทยแตะจุดต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 3 ปี 7 เดือนที่ 1,304.31 จุดในช่วงปลายสัปดาห์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง (17 วันทำการ) อนึ่ง สัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มแบงก์ (มีแรงหนุนจากประเด็นกนง.มีมติคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบล่าสุด) และเทคโนโลยี (มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว) ปรับตัวขึ้นสวนทางหุ้นในกลุ่มอื่นๆ

 
ในวันศุกร์ที่ 14 มิ.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,306.56 จุด ลดลง 1.96% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41,458.19 ล้านบาท ลดลง 2.77% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.31% มาปิดที่ระดับ 355.91 จุด

· สัปดาห์ถัดไป (17-21 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,300 และ 1,285 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,315 และ 1,325 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นการเมืองในประเทศและทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค. ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมิ.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมิ.ย. ของยูโรโซน อังกฤษและญี่ปุ่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนมิ.ย. และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มิ.ย. 2567 เวลา : 19:45:58
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:28 pm