คาร์เทียร์ (Cartier) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการเพื่อสังคม ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ Cartier Women’s Initiative หรือ CWI ล่าสุด วินจี ซิน ผู้อำนวยการโครงการ Cartier Women’s Initiative ระดับโลก ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อตอกย้ำถึงบทบาทของโครงการ พร้อมแชร์ผลการดำเนินงานตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ที่โครงการได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมาแล้วในระดับนานาชาติ โดยมอบเงินทุนสนับสนุนให้แก่ผู้ประกอบเพื่อสังคมไปแล้วกว่า 330 ราย จาก 66 ประเทศทั่วโลก และบอกเล่าถึง แผนสำหรับโครงการในอนาคต รวมถึงโอกาสต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมชาวไทย โดยในครั้งนี้ มี จอย กรองกมล เดเลออน Vice President จาก Beacon Venture Capital ผู้ทรงคุณวุฒิ คนไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัล Cartier Women’s Initiative Award ประจำปี 2024 ร่วมให้ข้อมูล แชร์มุมมองคณะกรรมการในการตัดสินรางวัล
โดยไทยถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่โครงการ CWI มุ่งมั่นสร้างสรรค์อีโคซิสเต็มที่ดีเยี่ยมสำหรับการส่งเสริมนวัตกรรมและการเติบโตทางธุรกิจให้กับธุรกิจเพื่อสังคม
Cartier Women’s Initiative ริเริ่มขึ้นในปี 2006 โดยคาร์เทียร์ เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนิน ธุรกิจเพื่อสังคมทุกประเภท สามารถร่วมแข่งขันเพื่อรับการสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถสร้างการเติบโตและดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดงานประกาศรางวัลทุกปีเพื่อเชิดชูผู้ประกอบการที่มีความสามารถจากทั่วโลก โดยแบ่งรางวัลเป็น 11 ประเภท ประกอบด้วย รางวัลระดับภูมิภาค 9 รางวัล และรางวัลเฉพาะทาง หรือ Thematic Award 2 รางวัล ได้แก่ Science & Technology Pioneer Award และ Diversity, Equity & Inclusion Award (รางวัลล่าสุดที่ไม่จำกัดเพศผู้สมัคร) โดยผู้ชนะในแต่ละประเภทรางวัล 3 อันดับแรก จะได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุน การจัดอบรมทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ มอบคอมมูนิตี และการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่เข้ารอบการแข่งขัน Cartier Women’s Initiative Award ภายใต้เงื่อนไขหลักที่ว่า ธุรกิจดังกล่าวจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ สร้างความยั่งยืนและแข็งแกร่งให้แก่ชุมชนและสังคม และสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาด้านความยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างน้อยหนึ่งด้าน
พันธกิจและวิสัยทัศน์
พันธกิจของ Cartier Women’s Initiative คือ การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโดยการสนับสนุนและเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม วิสัยทัศน์ของ CWI คือการสร้างคอมมูนิตีผู้ประกอบการที่เข้มแข็งและมีความสามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและมีความหมายในทุกมุมโลก โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงและให้การสนับสนุนด้านการเงิน สังคม และทุนมนุษย์ที่จำเป็นเพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตและพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ เพราะคาร์เทียร์มองเห็นโลกที่ผู้ประกอบการทุกท่านสามารถตระหนักถึงและบรรลุศักยภาพได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเพศ เนื่องจากคาร์เทียร์สนับสนุนความเสมอภาค และยังคงมองหาโอกาสที่จะได้สนับสนุนความหลากหลายที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากนี้ต่อไป
Cartier Women’s Initiative ในประเทศไทย และโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย
ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีความเคลื่อนไหวและอีโคซิสเต็มที่พร้อมสร้างการเติบโตให้แก่ภาคธุรกิจ ทำให้เป็นประเทศที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการส่งเสริมนวัตกรรมและการเติบโต การเยือนประเทศไทยครั้งนี้ของ วินจี ซิน ผู้อำนวยการโครงการ Cartier Women’s Initiative ระดับโลก มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มการรับรู้ของ Cartier Women’s Initiative ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่มีการจัดงาน CWI Speaker Series ในประเทศไทย นำโดย สาลินี ถาวรนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซันสว่าง และผู้ได้รับรางวัล โครงการ Cartier Women’s Initiative ปี 2014 จากประเทศไทย มินท์ ลิม ผู้ก่อตั้ง School of Concepts และผู้ได้รับรางวัล โครงการ Cartier Women’s Initiative ปี 2023 จากประเทศสิงคโปร์ และเชอรี่ – เข็มอัปสร ตัวแทนผู้ประกอบการหญิงที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม Cartier Women’s Initiative เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการ เดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม
ในปี 2024 Cartier Women’s Initiative จัดขึ้นภายใต้ธีม “Forces for Good” ซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจของคาร์เทียร์ในการขยายขอบเขตการเข้าถึงโครงการฯ ให้ครอบคลุมกลุ่มคนหลากหลาย ตลอดจนเสริมสร้างโลกที่มีความยุติธรรมและเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ธีมนี้เน้นย้ำการผนึกกำลังระหว่างโครงการฯ และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและสร้างสังคมที่ดียิ่งขึ้น ในปีนี้ประเทศไทยได้มีคนไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัล Cartier Women’s Initiative Award คือ จอย กรองกมล เดอเลออน Vice President จาก Beacon Venture Capital ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนธุรกิจเพื่อสังคม โดยงานจัดขึ้น ณ เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน
การจัดงาน Cartier Women’s Initiative ประจำปี 2025 จะจัดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ Women’s Pavilion ในงาน World Expo ที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น งานพิเศษนี้จะเชิดชูผู้ประกอบการที่มีโครงการที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและสามารถวัดได้ในสาขาของตน คาร์เทียร์ตั้งใจที่จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้าง การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่หลากหลายในระยะยาวอย่างยั่งยืน ผ่านงานนี้
มุมมองต่อผู้ประกอบการไทยในฐานะกรรมการตัดสินรางวัล Cartier Women’s Initiative Award
ในฐานะคณะกรรมการตัดสินรางวัล Cartier Women’s Initiative Award ประจำปี 2024 จอย-กรองกมล เดอเลออน มีมุมมองที่ชัดเจนเกี่ยวกับศักยภาพของผู้ประกอบการไทย โดยเห็นว่าผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการดำเนินธุรกิจที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม การที่จะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ชนะรางวัล Cartier Women’s Initiative ผู้เข้าร่วมต้องมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ ผู้เข้าร่วมต้องมีความเข้าใจต่อธุรกิจของตนอย่างแท้จริงและมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน รู้ความได้เปรียบของธุรกิจว่าเหนือหรือก้าวข้ามคู่แข่งได้อย่างไร มีแผนการลงทุนที่เป็นไปได้และมีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว หากเป็นไปได้คือสามารถต่อยอดได้มากกว่าในระดับประเทศ และธุรกิจที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลกในด้านใดด้านหนึ่ง
เมื่อผ่านเข้าโครงการแล้ว ผู้เข้าร่วมจะได้รับการสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์ รุ่นพี่ผู้ชนะโครงการ และคอมมูนิตี ที่สามารถแชทและขอคำแนะนำในการต่อยอดธุรกิจของตนได้
เป้าหมายและทิศทางในอนาคต
Cartier Women’s Initiative ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 17 ปี และสนับสนุนผู้ประกอบการทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ในอีก 5 ปีข้างหน้า CWI มีแผนจะเพิ่มรางวัลในโครงการ รวมถึงการสนับสนุนด้านการเงินเพิ่มเติมผ่าน CWI Loan Fund ที่มีมูลค่ากว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยและทั่วโลกได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น
วินจี ซิน มองเห็นโอกาสในการต่อยอดในภูมิภาคนี้อย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศจีน ญี่ปุ่น และไทย ยกตัวอย่างจากโมเดลในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน คาร์เทียร์ได้เห็นอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งและผู้ประกอบการที่มีความสามารถมากมาย การเข้าไปในจีน ทำให้โครงการฯ มีพาร์ทเนอร์เพิ่มขึ้นและสามารถสร้างโครงการระดับท้องถิ่นได้ หากมีกำแพงทางด้านภาษา CWI ก็จะสร้างโครงการที่เป็นภาษาจีน เพื่อพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการจากจุดเริ่มต้นสู่ระดับโลก โดยร่วมมือกับ Business School โรงเรียนที่เกี่ยวกับด้านธุรกิจโดยตรง และในอนาคต CWI มีแผนที่จะขยายโมเดลนี้มายังเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย
CWI ยังคงเดินหน้าขยายโครงการต่อไปเพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยก้าวสู่เวทีระดับโลกกับ Cartier Women’s Initiative เวทีที่มุ่งเน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั่วโลกโดยไม่จำกัดเพศ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าจากการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และฉายแสงให้พวกเขาเป็นแบบอย่างสำหรับคนรุ่นต่อไป
ข่าวเด่น