สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
· เงินบาทแกว่งตัวผันผวน แต่แข็งค่ากลับมาท้ายสัปดาห์
เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่ตลาดในประเทศรอติดตามประเด็นทางการเมืองภายในประเทศ นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยลบจากแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน
เงินบาททยอยแข็งค่ากลับมาช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลงหลังตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด โดยเงินบาทมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมในช่วงท้ายสัปดาห์จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ค. ของไทยที่ขยายตัว 7.2% YoY สูงกว่าตลาดคาดที่ 2.0% YoY และสูงกว่า 6.8% YoY ในเดือนเม.ย.
· ในวันศุกร์ที่ 21 มิ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.77 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 มิ.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 17-21 มิ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 10,680.29 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 8,609 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 3,499 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 5,110 ล้านบาท)
· สัปดาห์ถัดไป (24-28 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.30-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนพ.ค. ของธปท. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนพ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. จีดีพีไตรมาส 1/2567 รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ของจีนเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
· ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวน แต่ฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง
หุ้นไทยร่วงลงหลุดแนว 1,300 จุดตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ และแตะจุดต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบกว่า 3 ปี 7 เดือนที่ 1,281.87 จุดในระหว่างสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการเมืองในประเทศซึ่งส่งผลให้เกิดแรงเทขายทำกำไรในหุ้นทุกอุตสาหกรรม นำโดย กลุ่มแบงก์ซึ่งมีประเด็นกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มผลประกอบการ อย่างไรก็ดี SET Index ขยับขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนหลักจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานรับอานิสงส์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น และกลุ่มเทคโนโลยีตามทิศทางหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ
หุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,300 จุดได้อีกครั้งช่วงท้ายสัปดาห์ โดยมีปัจจัยบวกจากตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค. ของไทยที่ขยายตัวดีกว่าคาด อานิสงส์จากรายงานข่าวว่ารัฐบาลเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วๆ นี้ รวมถึงแรงซื้อคืนหุ้นก่อนที่มาตรการ Uptick Rule จะมีผลวันที่ 1 ก.ค. 2567 อนึ่งนักลงทุนต่างชาติยังคงมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องในสัปดาห์นี้
· ในวันศุกร์ที่ 21 มิ.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,306.41 จุด ลดลง 0.01% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,258.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.99% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.93% มาปิดที่ระดับ 352.60 จุด
· สัปดาห์ถัดไป (24-28 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,295 และ 1,280 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,315 และ 1,330 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุนของภาครัฐ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นการเมืองในประเทศและทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนพ.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.ของจีน ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ของญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนมิ.ย.ของยูโรโซน
ข่าวเด่น