นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิอุทธรณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นจำนวนมากที่ไม่เข้าข่ายการอุทธรณ์ รวมถึงใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ) ซึ่งบางกรณีมีลักษณะเป็นการประวิงเวลา ก่อให้เกิดความล่าช้า ในการจัดซื้อจัดจ้าง ส่งผลกระทบให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามกำหนด ดังนั้น เพื่อมิให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐล่าช้าจนมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในภาพรวม คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์) จึงได้กำหนดแนวทางกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ต้องส่งเรื่องมายังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ดังนี้
1. กรณีดังต่อไปนี้ ไม่เข้าข่ายที่จะอุทธรณ์ ตามมาตรา 114 แห่ง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ โดยหน่วยงานของรัฐเป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์โดยตรง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
1.1 โครงการที่มีการอุทธรณ์ได้มียกเลิกแล้ว หรือมีการยกเลิกประกาศผู้ชนะแล้ว
1.2 อุทธรณ์ตามกฎหมายอื่นที่มิใช่ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ
1.3 ผู้อุทธรณ์ไม่ใช่ผู้ยื่นข้อเสนอ
1.4 ผู้อุทธรณ์เป็นผู้ชนะการเสนอราคาโครงการนี้
1.5 กรณีมีประกาศเปลี่ยนแปลงประกาศผู้ชนะการเสนอราคา เนื่องจากผู้ชนะการเสนอราคาไม่มาลงนามในสัญญา
1.6 แบบอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างลงนามโดยผู้ไม่มีอำนาจกระทำการแทน
2. กรณีใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ตามมาตรา 115 แห่ง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ
3. อุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลาตามที่กำหนดในมาตรา 117 แห่ง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ
กรณีข้างต้น เมื่อหน่วยงานของรัฐได้แจ้งการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ให้แจ้งผู้อุทธรณ์ด้วยว่า หากจะโต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าว ให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากหน่วยงานของรัฐ โดยสามารถศึกษารายละเอียดได้จากหนังสือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/ว 367 ลงวันที่ 25 มิ.ย. 67
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 0 2270 6400 กด 3 ในวัน เวลาราชการ
ข่าวเด่น