บันเทิงไทย-เทศ
Scoop : กระแส "T-Pop" กับการปลุกความเป็นชาตินิยมของคนไทย


หากพูดถึงอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีอิทธิพลทางฝั่งเอเชียอย่างมาก ก็คงจะหนีไม่พ้น K-Pop หรือ Korean Pop ที่เข้ามารุกหนักในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000 และได้วางรากฐานที่ทำให้เราเกิดความคุ้นชิน ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม อาหารการกิน การแต่งตัว ไปจนถึงค่านิยมของฝั่งเกาหลีนับจากนั้นเป็นต้นมา แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของ T-Pop ก็ได้ปลุกความชาตินิยม และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของคนไทยด้วยกันเอง จากที่ไม่ได้เป็นที่พูดถึงมากนัก และโดนหักล้างจากวัฒนธรรมที่ได้รับเข้ามาเกือบ 20 ปี
 
จริง ๆ แล้ว T-pop นั้น มีต้นกำเนิดและพัฒนามาพร้อม ๆ กับ K-pop แต่การที่ K-Pop มีชื่อเสี่ยงและมีอิทธิพลถึงขนาดเข้ามากินส่วนแบ่งในตลาดอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยได้ มีที่มาจากการที่รัฐบาลของเกาหลีใต้ มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงของตัวเองอย่างจริงจัง เพื่อเป็นสินค้าหลักในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐที่เอื้ออำนวยให้ผลงานบันเทิงของเกาหลีมีคุณภาพสูง และบริษัทสื่อของเกาหลีที่ผลิต K-Pop ต่าง ๆ ก็มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะทำการตลาดและการโปรโมทได้อย่างเต็มศักยภาพไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงช่วงเวลาที่รุกตลาดต่างประเทศในต้นปี 2000 ก็เริ่มมีการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย มีโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นมากมาย ทำให้แฟนคลับสามารถติดตามข่าวสารและผลงานของศิลปิน K-pop ได้อย่างรวดเร็วและสะดวก นอกจากนี้ ยังมีการสร้างชุมชนแฟนคลับออนไลน์ที่ช่วยโปรโมทและสนับสนุนศิลปิน K-pop อย่างเข้มแข็ง
 
กลับมายังที่ประเทศไทยของเรา ในช่วงการเริ่มเข้ามาของ K-Pop ก็นับว่าอุตสาหกรรมบันเทิงของเรายังได้รับความนิยมในประเทศตัวเองอยู่ แต่ด้วยปัจจัยทั้งการผลิตสื่อที่บ้านเราไม่ได้จริงจังเหมือนกับทางเกาหลีใต้ที่มีรัฐบาลสนับสนุน จึงไม่ได้มีพื้นที่และโอกาสในการแสดงฝีมือมากนัก ประกอบกับด้วยประเทศไทยเองนั้น มีประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ทำให้การรับรู้เรื่องชาตินิยมอาจไม่เข้มข้นเท่ากับประเทศที่เคยเผชิญการคุกคามจากภายนอก และทำให้คนไทยมีความยืดหยุ่นและเปิดกว้างต่อการรับวัฒนธรรมต่างชาติ เช่น การรับวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมเกาหลีเข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการเสพสื่อ และนโยบายการส่งเสริมวัฒนธรรมของไทยที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีความเข้มข้นมากพอ หากเทียบกับฝั่งของเกาหลีใต้ที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานในการปกป้องอธิปไตยของตนจากการรุกรานภายนอก
 
แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่กี่ปีมานี้ กระแสของ T-Pop ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมามากเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญ จากที่ตอนนี้ได้มีพื้นที่รองรับในการแสดงผลงานมากขึ้น เช่น รายการ Survival เพื่อค้นหาศิลปินไอดอลไทย พื้นที่ใจกลางเมืองที่เอื้ออำนวยให้เด็กรุ่นใหม่ได้มาโชว์ฝีมือ เช่นที่สยาม รวมถึงการเพิ่มขึ้นของโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เช่น YouTube และ Spotify ทำให้ศิลปิน T-pop มีช่องทางในการเผยแพร่ผลงานของตนเองได้กว้างขึ้นและเข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น
 
เหตุผลข้างต้นนี้ก็มีที่มาจากการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการโปรโมทศิลปิน T-pop ทั้งในและต่างประเทศ “อย่างจริงจัง” เมื่อผนวกเข้ากับสื่อออนไลน์แล้ว จึงทำให้วงการ T-pop เติบโตอย่างรวดเร็ว และเกิดเป็นกระแสความนิยมเข้ามา ซึ่งเมื่อกระแสได้รับการจุดติดแล้ว ผนวกกับการที่ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนต้องการได้รับการยอมรับเป็นทุนเดิม ทำให้การนำเสนอสไตล์และเนื้อหาที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมไทยที่มักสอดแทรกใน T-Pop จึงเป็นเอกลักษณ์เด่นที่ปลุกความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของคนไทยขึ้นมา ซึ่งทรงพลังไปถึงการสั่นคลอนค่านิยมที่เราเคยรับมาจากทางสื่อ K-Pop เช่น เรื่องสีผิว ที่ไทยมีค่านิยมผิวขาว “แบบสาวเกาหลี” มายาวนาน แต่หลังจากที่สื่อบันเทิงไทย มีศิลปินที่มีผิวแทนโด่งดังระดับโลก หรือในเอ็มวีเพลง Rock Star ของลิซ่า ศิลปินชาวไทย อดีตสมาชิกวง Black Pink ที่สลัดผิวขาวจากค่านิยมเกาหลี และกลับมาโปรโมทเพลงด้วยสีผิวแบบไทย รวมถึงการให้พื้นที่ LGBTQ สังคมหลากหลายทางเพศในไทย ก็นับเป็นการชูเอกลักษณ์ของไทย และปลุกความชาตินิยมของคนไทยเพิ่มมากขึ้น
 
นอกจากที่คนไทยจะหันกลับมานิยมความเป็นไทยผ่าน T-Pop แลัว เอกลักษณ์ที่ถูกชูขึ้นมาผ่านผลงานของไทยยังสามารถเรียกฐานแฟนคลับจากต่างประเทศ ให้รู้จักและชื่นชอบวัฒนธรรมไทยมากขึ้นอีกด้วย T-Pop ในตอนนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยพัฒนาประเทศไทยให้ไปได้ไกลขึ้นนับจากนี้

LastUpdate 30/06/2567 22:19:38 โดย : Admin
08-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 8, 2024, 6:19 am