ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 81-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (1 - 5 ก.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเผชิญหน้ากันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอเลาะห์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลที่ว่าสงครามอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นและขยายวงกว้างกลายเป็นสงครามในระดับภูมิภาค ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนก็รุนแรงขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากยูเครนใช้อาวุธจากการสนับสนุนโดยสหรัฐฯ โจมตีไปยังพื้นที่ไครเมีย อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากภาคเศรษฐกิจ จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ยังคงอ่อนแอ ประกอบตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงสูงกว่าเป้าหมาย
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดเพิ่มขึ้นเนื่องจากกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอเลาะห์มีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากันเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 จากการที่นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า สงครามในฉนวนกาซามีแนวโน้มที่จะผ่านระยะที่มีความรุนแรงที่สุดไปแล้ว และจะพุ่งเป้าหมายไปที่การป้องกันและตอบโต้การโจมตีจากกลุ่มฮิซบอเลาะห์แทน
ทั้งนี้หากความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มต้นขึ้น สถานการณ์การสู้รบมีแนวโน้มที่จะรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซาและอาจขยายวงกว้างเป็นสงครามในระดับภูมิภาคและส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มฮิซบอเลาะห์มีขีดความสามารถทางการทหารที่สูงกว่ากลุ่มฮามาส ประกอบกับคำกล่าวของนายเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ประธาธิบดีของตุรกี ซึ่งถือเป็นชาติอาหรับที่วางตัวเป็นกลางที่สุดในภูมิภาคดังกล่าวและเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกแหนือ (NATO) บ่งชี้ว่าตุรกีจะยืนเคียงข้างกับเลบานอนในความขัดแย้งดังกล่าวและเรียกร้องให้ชาติอาหรับต่างๆ ออกมาสนับสนุนด้วยเช่นกัน
? นอกจากนี้สถานการณ์การสู้รบในแนวรบฝั่งยุโรปตะวันออกก็มีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากรัฐบาลรัสเซียได้เรียกเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงมอสโกเข้าพบเพื่อที่จะประท้วงต่อเหตุการณ์โจมตีพื้นที่แหลมไครเมีย ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 150 ราย โดยจากรายงานของทางการรัสเซียบ่งชี้ว่าอาวุธที่ยูเครนใช้ดังกล่าวเป็นอาวุธที่สนับสนุนโดยสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังคงจับตาเหตุการณ์กราดยิงในรัสเซียซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 ราย ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีความเชื่อมโยงกับชาติตะวันตกหรือไม่ เนื่องจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในรัสเซียนั้นมีอัตราเกิดขึ้นค่อนข้างต่ำ
อย่างไรก็ตาม ราคายังคงมีแรงกดดันจากภาคเศรษฐกิจโลก โดยล่าสุดตัวเลขในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ยังคงไม่ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยตัวเลขการสร้างบ้านใหม่กลายมาเป็นการหดตัว 5.5% ในเดือน พ.ค. 67 จากการปรับเพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือนก่อนหน้า โดยตัวเลขดังกล่าวได้รับผลกระทบหลักจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% นานกว่าที่ตลาดคาดไว้ในตอนแรก ตัวเลขในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอย่อมสะท้อนถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อ่อนแอและกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นเดือน พ.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 2.5% YoY โดยอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้โดยธนาคารกลาง ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.1% โดยหากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยย่อมส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินต่างๆ ภายในประเทศปรับสูงขึ้นและกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันของประเทศ
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อันได้แก่ ตัวเลขอัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. 67 และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือน มิ.ย. 67 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป อันได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 67, ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน มิ.ย. 67 และตัวเลขอัตราการว่างงานเดือน พ.ค. 67
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 – 28 มิ.ย. 67)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 81.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 84.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 85.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดจับตาสถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จากที่ยูเครนส่งโดรนเข้าโจมตีโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันของรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นน้ำมัน 4 แห่ง ทางเขตตอนใต้ของรัสเซีย เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดัน ภายหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 21 มิ.ย. 67 เพิ่มขึ้น 3.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 460.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 2.9 ล้านบาร์เรล สะท้อนถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 100.4 ในเดือน มิ.ย. 67 จากระดับ 101.3 ในเดือน พ.ค. 67
ข่าวเด่น