- อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้แก่เกษตรกรปีละ 1 แสนล้านบาท แต่กระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อย ก่อให้เกิดฝุ่นละอองภาคเกษตร 23% และก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (GHG) เฉลี่ยปีละ 2.4 ล้านตันต่อปี
- รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการตัดอ้อยสดด้วยการให้เงินช่วยเหลือ และกำหนดปริมาณรับซื้ออ้อยเผา แต่ยังไม่สามารถลดอ้อยเผาให้เป็นศูนย์ได้
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 3 แนวทาง
1. ให้ลดการเผาแล้วขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยกำไรที่ลดลงจากการตัดอ้อยสด ซึ่งต้องกำหนดราคาคาร์บอนเครดิต ไม่น้อยกว่า 126 บาท ต่อ tCO2 คิดเป็นเงิน 271 ล้านบาทต่อปี
2. เพิ่มความเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิตในประเทศกับมาตรฐานในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงตลาดที่มีอุปสงค์มากขึ้น
3. ลดสัดส่วนการปลูกอ้อยหันมาปลูกไม้โตไว ซึ่งนอกจากตัดขายเป็นรายได้ ยังสามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้
- ควบคู่กับนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ ได้แก่
· ปรับปรุงเครื่องจักรเก็บเกี่ยวให้เหมาะสมกับพื้นที่
· จัดทำระบบคาดการณ์และจัดลำดับการเก็บเกี่ยวอ้อย
· สนับสนุนค่ารับรองคาร์บอนเครดิต
อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย แต่ก่อให้เกิดมลพิษ PM 2.5
อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้แก่ภาคเกษตรกรปีละ 1 แสนล้านบาท แต่กระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อยนั้นส่งผลส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศ โดย ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรมาจากการปลูกอ้อย 23%(รูปที่ 1) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อ
ปัจจัยเชิงโครงสร้างทำให้เกษตรกรยังไม่สามารถตัดอ้อยสดได้ทั้งหมด
· การตัดอ้อยด้วยรถต้องทำในพื้นที่มากกว่า 20 ไร่ ซึ่งค่าเฉลี่ยพื้นที่ปลูกอ้อยเท่ากับ 15.6 ไร่ต่อครัวเรือน โดยพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า 20 ไร่ (สีเหลือง) ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่มีพื้นที่มากกว่า 20 ไร่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางและตะวันออก (สีส้ม) (รูปที่ 3)
· ต้นทุนแรงงานเกี่ยวอ้อยสดสูงกว่าการเผาเกือบเท่าตัว และใช้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวมากกว่า โดยใน 1 วันการตัดอ้อยสดสามารถเก็บเกี่ยวได้ 1.8 ตัน ในขณะที่ถ้าใช้วิธีอ้อยเผาจะเก็บเกี่ยวได้ 5 ตัน ทำให้แรงงานเลือกตัดอ้อยด้วยวิธีการเผาเพราะได้รายได้มากกว่าและเหนื่อยน้อยกว่า (รูปที่ 4)
ที่มา: วิธีปลดล็อกข้อจำกัด และเพิ่มแรงจูงใจ เพื่อแก้ปัญหาเผาอ้อยอย่างยั่งยืน, FAQ Issue 188 June 2021
· ระยะเวลารับซื้อของโรงงานน้ำตาลมีจำกัด (วันปิดหีบเพื่อรับซื้ออ้อยปลายเดือนมี.ค. - เม.ย.) ส่งผลให้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวใกล้ระยะเวลาปิดหีบ จำเป็นต้องเก็บเกี่ยวด้วยการเผาเนื่องจากไม่มีทางเลือกเพื่อที่จะให้ทันเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการตัดอ้อยสด แต่ยังไม่สามารถลดอ้อยเผาให้เป็นศูนย์ได้
รัฐบาลเริ่มมีมาตรการกำหนดปริมาณรับซื้ออ้อยเผาเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองในภาคเกษตรตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณอ้อยเผาที่มีการรับซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลปรับลดสัดส่วนปริมาณรับซื้ออ้อยเผามาที่ 20% และเพิ่มเงินสนับสนุนเป็น 120 บาทต่อตันตั้งแต่ปี 2563 อย่างไรก็ดีปริมาณอ้อยเผาเฉลี่ยยังคงอยู่ที่เฉลี่ย 30% (รูปที่ 2) ซึ่งจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (GHG) เฉลี่ยปีละ 2.4 ล้านตันต่อปี หรือ 4% ของ GHG ในภาคเกษตรของประเทศไทย (รูปที่ 3)
ที่มา. ปริมาณอ้อยปิดหีบ,สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ที่มา. คำนวณโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
แก้ปัญหาการเผาอ้อยและลด GHG ด้วยคาร์บอนเครดิต
คาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยส่งเสริมให้มีการทำโครงการลด GHG โดย GHG ที่สามารถลดได้นำมาขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตและซื้อขายได้ ประเทศไทยมีคาร์บอนเครดิตตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO)
ปัจจุบันมีโครงการขึ้นทะเบียน T-VER แล้วจำนวน 429 โครงการ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บ 12.9 ล้าน tCO2-e เป็นโครงการประเภทเกษตร 9 โครงการ ปริมาณ GHG ที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ 343,195 tCO2-e หรือ 3% ของโครงการที่ขึ้นทะเบียน (รูป5) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำสวนยาง
การเก็บเกี่ยวอ้อยสดทดแทนการเผาสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 4.9 tCO2 ต่อไร่1 อย่างไรก็ดี การเก็บเกี่ยวอ้อยสดมีต้นทุนที่สูงกว่าการเก็บเกี่ยวด้วยการเผา ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวอ้อยสดมีกำไรน้อยกว่าอ้อยเผา 519 บาทต่อไร่ (รูปที่ 6)
อย่างไรก็ดีคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการหยุดเผาเศษวัสดุทางการเกษตรยังไม่มีมาตรฐานคาร์บอนเครดิตรองรับ จะต้องมีการออกมาตรฐานมารับรองคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมดังกล่าวด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเสนอแนวทางสนับสนุนเพื่อลดการเผาอ้อย 3 แนวทาง
1. เพิ่มแรงจูงใจการตัดอ้อยสดด้วยคาร์บอนเครดิตและมาตรการส่งเสริมจากหน่วยงานกำกับดูแล
เพื่อให้เกิดแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการเก็บเกี่ยวอ้อยจากการเผาเป็นอ้อยสด โดยเพิ่มรายได้เกษตรกรที่ตัดอ้อยสดด้วยการขายคาร์บอนเครดิตให้มีกำไรเพิ่มขึ้นเท่ากับเกษตรกรตัดอ้อยเผา (519 บาทต่อไร่) และครอบคลุมค่าใช้จ่ายรับรองคาร์บอนเครดิต (100 บาทต่อไร่) ซึ่งสามารถลด GHG ได้ 4.9 tCO2 ต่อไร่ ทำให้ราคาคาร์บอนเครดิตจะต้องไม่น้อยกว่า 126 บาทต่อ tCO2-e (รูปที่ 7) หรือคิดเป็นเงิน 271 ล้านบาทต่อปี
2. เพิ่มความเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิตในประเทศกับมาตรฐานในต่างประเทศ
ปัจจุบันมีโครงการลด GHG ในประเทศกว่า 51% ที่ขึ้นทะเบียนกับมาตรฐานต่างประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตให้เชื่อมโยงกับต่างประเทศได้ จะเพิ่มความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตจากต่างประเทศที่มีความต้องการลด GHG อีกเป็นจำนวนมาก
ที่มา: อบก., Berkeley Carbon Trading Project รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
3. ส่งเสริมให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกอ้อยและหันมาปลูกป่าเพื่อสร้างรายได้ระยะยาว
เกษตรกรสามารถปลูกไม้โตเร็วซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่า เช่น ยูคาลิปตัส มะฮอกกานี สนประดิพัทธ์ ไผ่ เป็นต้น ซึ่งนอกจากสามารถตัดขายเพื่อเป็นรายได้แล้ว ยังสามารถนำมาขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้2รวมถึงคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกป่าจะมีราคาสูง เฉลี่ย 290 บาทต่อตัน CO2-e
นอกจากการส่งเสริมด้วยคาร์บอนเครดิต หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องดำเนินมาตรการควบคู่ด้วย ได้แก่
· ปรับปรุงเครื่องจักรเกี่ยวอ้อยสดให้เหมาะสมกับพื้นที่ขนาดเล็ก
· จัดทำระบบคาดการณ์และจัดลำดับการเก็บเกี่ยวอ้อยเพื่อให้ทันกับช่วงระยะเวลารับซื้อของโรงงาน
· สนับสนุนค่ารับรองคาร์บอนเครดิต
· สนับสนุนค่าใช้จ่ายของเอกชนจากการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อใช้บรรลุเป้าหมาย Net Zero
เพื่อให้การแก้ปัญหาการเผาอ้อยจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนับให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ทั้งเกษตรกร โรงงานน้ำตาล ภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล และภาคเอกชน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น