ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดตามการเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 15 ปี และได้เผยแพร่บทความเพื่อให้ความรู้แก่นักลงทุนเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสุทธิและมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น จึงขอสรุปข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทย ดังนี้
· มูลค่าการซื้อขายสุทธิเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถสะท้อนถึงมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนหุ้นที่ นักลงทุนถือครอง อาทิ การเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ มูลค่าการซื้อขายสุทธิ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ผู้ถือหุ้นของนักลงทุนกลยุทธ์ การเข้าจดทะเบียนและการเพิกถอนการเป็นบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่อาจด่วนสรุปว่าการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศหมายถึงการถอนตัวจากตลาดหุ้นไทย
· มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงส่วนใหญ่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ที่ถือครองเป็นสำคัญ เนื่องจากผลศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ประมาณ 70% - 80% ของมูลค่าการถือครองหุ้นเป็นการถือครองหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของ SET50 Index
· ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยข้อมูลภาพรวมการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศปีละครั้ง เนื่องจากใช้ข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนเพื่อประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นที่บริษัทจดทะเบียนจะต้องมีการปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งข้อมูลการปิดสมุดนี้จะทำให้เห็นภาพรวมของการถือครองหุ้น และสามารถจำแนกเป็นรายสัญชาติได้
· ตลาดหลักทรัพย์พัฒนาโปรแกรมอัตโนมัติในการคำนวณมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศตั้งแต่ปี 2564 โดยใช้จากข้อมูล Big Data จากระบบต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง 1) ข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อในฐานข้อมูลนายทะเบียน 2) ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นเนื่องจากกิจกรรม Corporate Action ต่างๆ รวมทั้งงานเครดิตหุ้น และ 3) ข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งช่วยให้สามารถติดตามสถิติการถือครองหุ้นได้รวดเร็วขึ้น
· ข้อมูลการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศไม่สามารถสะท้อนถึงมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยได้อย่างครบถ้วนตามที่กล่าวมาแล้ว ในรายงานฉบับต่อไปจะเป็นการรายงานถึงความสัมพันธ์ระหว่างการซื้อขายหลักทรัพย์และมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศโดยใช้ข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นข้อเท็จจริง
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดตามการเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี และได้เผยแพร่บทความเพื่อให้ความรู้แก่นักลงทุนเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสุทธิและมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นรายงานฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน รวมถึงอธิบายวิธีการคำนวณมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทย เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันว่า “มูลค่าการซื้อขายสุทธิเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถสะท้อนถึงมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยได้อย่างครบถ้วน” เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อมูลค่าดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่อาจด่วนสรุปว่าการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศหมายถึงการถอนตัวจากตลาดหุ้นไทย แต่ควรพิจารณาข้อมูลและปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ตามรายละเอียดดังนี้
มูลค่าการซื้อขายสุทธิไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงปัจจัยเดียวที่สะท้อนถึงมูลค่าการถือครองหุ้น
ในปี 2564 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่รายงาน SET Note ฉบับที่ 4/2564 เรื่อง ส่องนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยในรอบ 10 ปี (2554 - 2563) ที่สรุปถึงปัจจัยที่มีผลต่อมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศและสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีหลายปัจจัย อาทิ การเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ มูลค่าการซื้อขายสุทธิ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของนักลงทุนกลยุทธ์ การเข้าจดทะเบียนและการเพิกถอนการเป็นบริษัทจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงราคาพาร์ เป็นต้น (ตามแสดงได้ตามภาพที่ 1)
ช่วงระยะเวลาใดก็ตามที่นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย (SET และ mai) มักมีการกล่าวกันว่า “นักลงทุนต่างประเทศออกจากตลาดหุ้นไทย” หรือ “ตลาดหุ้นไทยไม่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ” ซึ่งจากข้อเท็จจริงแล้ว การวัดความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศไม่สามารถชี้ชัดด้วย “มูลค่าการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ” เพียงปัจจัยเดียว เพราะมูลค่าและสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศเป็นผลจากหลายปัจจัย จึงจำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย จึงขอยกตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ (Price Effects) เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากประมาณ 70% ของมูลค่าการถือครองหุ้นฯ เป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 ดังนั้น มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศจึงเคลื่อนไหวไปในทิศทางและขนาดใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของ SET50 Index
การซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ (net trading position: net sold / net bought) หรือมูลค่าการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ สะท้อนเพียงการซื้อหรือขายหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ (flow) ไม่สามารถอธิบายสถานะความมั่งคั่ง (wealth) หรือมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ (portfolio) ในตลาด หุ้นไทยได้ เนื่องจากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ประมาณ 80% ของมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศเป็นการถือ Foreign shares เป็นการลงทุนระยะยาว นักลงทุนต่างประเทศแทบจะไม่นำหุ้นกลุ่มนี้มาซื้อขาย ยกเว้นการซื้อขายเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของกิจการ สังเกตได้จากแต่ละปีแทบจะไม่มีการซื้อขาย Foreign shares ดังนั้น การซื้อขายสุทธิที่เราเห็นเป็นกระแสเงินจากการทำกำไรในระยะกลางและระยะสั้นของนักลงทุนต่างประเทศ ขณะที่ความมั่งคั่งหรือมูลค่าถือครองหุ้นของนักลงทุนแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ
การเข้าจดทะเบียนใหม่ในตลาดหุ้นไทย (new listing companies) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีโอกาสทำให้มูลค่าการถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ในตลาดหุ้นไทยจากการที่บริษัทจดทะเบียนนั้นๆ มีธุรกิจที่น่าสนใจ มีขนาดใหญ่พอ มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือตามเงื่อนไขของนักลงทุนต่างประเทศกำหนด อาจส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนต่างประเทศต่อมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคารวมทั้งตลาดเพิ่มขึ้นได้ ในทางตรงข้าม หากบริษัทจดทะเบียนไทยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนต่างประเทศอาจไม่ซื้อขายหุ้นนั้นๆ เพื่อถือครองหุ้นก็ส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนต่างประเทศต่อมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมทั้งตลาดลดลง (decrease in percentage of foreign holding value) และในทางกลับกัน
การเพิกถอนบริษัทจดทะเบียนออกจากตลาด (delisted companies) เมื่อบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ เพิกถอนออกจากตลาด มูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนนั้น จะไม่ปรากฏในระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งผลให้มูลค่าการถือครองหุ้นโดยรวมของนักลงทุนต่างประเทศลดลง ดังนั้น หากบริษัทจดทะเบียนมีสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงและเพิกถอนออกจากตลาด จะส่งผลให้มูลค่าการถือครองหุ้นโดยรวมลดลง และสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนต่างประเทศลดลง
กิจกรรม Corporate Action / การใช้สิทธิ์ต่างๆ ส่งผลต่อจำนวนหุ้นจดทะเบียน อาทิ การเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงราคาพาร์ การให้สิทธิการซื้อขายหุ้น การแปลงสภาพจากใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นหุ้นสามัญ การให้หุ้นปันผล เป็นต้น ดังนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อจำนวนหุ้นในการถือครอง มูลค่าการถือครอง และสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศด้วย
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยข้อมูลภาพรวมการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศปีละครั้ง จากข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนเพื่อประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น
ในการศึกษาถึงมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ จะพิจารณาตั้งแต่ต้นทางที่หุ้นเข้ามาสู่กระบวนการซื้อขายหลักทรัพย์ นั่นก็คือ กระบวนการซื้อขายหลักทรัพย์ IPO ซึ่งจะเห็นได้ว่า นักลงทุนสามารถเลือกรับหุ้น IPO ได้หลายวิธี ทั้ง 1) การรับใบหลักทรัพย์ 2) การรับหุ้น IPO โดยฝากเข้าบัญชีของผู้ออกหลักทรัพย์หรือ Issuer Account และ 3) การรับหุ้น IPO เข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่นักลงทุนเปิดไว้ที่บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ซึ่งการบันทึกข้อมูลความเป็นเจ้าของหุ้นก็จะมีลักษณะแตกต่างกัน กล่าวคือ
1) ข้อมูลการถือครองหุ้นของนักลงทุนผู้ถือใบหลักทรัพย์ โดยปกตินายทะเบียนหลักทรัพย์ หรือในที่นี่ก็คือ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 224 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ดูแลบัญชีผู้ถือหุ้น
2) ข้อมูลการถือครองหุ้นของนักลงทุนที่ฝากไว้ในระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (scripless) ภายใต้บัญชีผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer Account) จะบันทึกอยู่ระบบรับฝากหลักทรัพย์ซึ่งเป็นอีกระบบหนึ่งของ TSD ซึ่งแยกกันเด็ดขาดจากระบบของนายทะเบียนหลักทรัพย์ และ
3) ข้อมูลการถือครองของนักลงทุนที่ฝากไว้ในระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (scripless) โดยฝากหุ้นเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่นักลงทุนเปิดไว้ที่บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ข้อมูลการถือครองหุ้นของนักลงทุนแต่ละรายจะบันทึกในระบบของบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่ง ซึ่ง TSD ในฐานะศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ดูแลระบบจะเห็นข้อมูลเพียง 1) บัญชีการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ และ 2) บัญชีของบริษัทหลักทรัพย์ที่แยกออกจากบัญชีของลูกค้า
ดังนั้น ณ จุดเวลาใดๆ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าเป็นระบบซื้อขายหลักทรัพย์ ระบบนายทะเบียน หรือระบบรับฝากหลักทรัพย์จะไม่สามารถเรียกดูข้อมูลการถือครองหุ้นในระดับบัญชีของนักลงทุนได้ จนกระทั่ง
1) บริษัทจดทะเบียนแต่ละบริษัท (ที่ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนมีหุ้นในการครอบครอง) จะแจ้งข่าวปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นเข้ามาในระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ
2) ข่าวการปิดสมุดทะเบียนจากระบบของตลาดหลักทรัพย์จะส่งยังระบบงานนายทะเบียนหลักทรัพย์และระบบงานของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้น
3) TSD ในฐานะศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ จะแจ้งข่าวไปยังสมาชิกที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ให้บริการรับฝากหลักทรัพย์ (ผู้ดูแลรักษาทรัพย์สิน / ผู้ดูแลผลประโยชน์) ให้นำส่งรายชื่อนักลงทุนและการถือครองหุ้น ณ วันปิดสมุดทะเบียนมายังระบบศูนย์รับฝากหลักทรัพย์
4) สมาชิกศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ นำส่งรายชื่อนักลงทุนและการถือครองหุ้นในระบบไร้ใบหลักทรัพย์ในส่วนของลูกค้ามายัง TSD ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์
5) TSD ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ นำส่งรายชื่อนักลงทุนและการถือครองหุ้นในระบบไร้ใบหลักทรัพย์ทั้งหมด ทั้งที่ได้รับจากสมาชิกและบัญชี Issuer Account ให้ TSD ในฐานะนายทะเบียนหลักทรัพย์
6) TSD ในฐานะนายทะเบียนหลักทรัพย์รวบรวมรายชื่อนักลงทุนและการถือครองหุ้นที่ได้รับจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ข้อมูลจากระบบไร้ใบหลักทรัพย์) กับรายชื่อนักลงทุนและการถือครองหุ้นที่ถือเป็นใบหลักทรัพย์ (ข้อมูลจากระบบใบหลักทรัพย์) ซึ่งจะได้ภาพรวมทั้งหมดของการถือครองหุ้นของนักลงทุนทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ แลนำส่งให้บริษัทจดทะเบียนตามการร้องขอเข้ามาในระบบของตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ กระบวนการนำส่งข้อมูลรายชื่อนักลงทุนและการถือครองหุ้นตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ดังแสดง ตามภาพที่ 2 โดยกระบวนการทำงานต่างๆ เป็นไปตามมาตรา 225 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ดังนั้น เพื่อศึกษาและดูแลการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ศึกษาถึงข้อมูลการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศทุกปี โดยใช้ข้อมูลการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศของแต่ละบริษัทจากข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนหลังจากบริษัทจดทะเบียนมีการปิดสมุดทะเบียนเพื่อประชุมสามัญประจำปีของผู้ถือหุ้น ซึ่งบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทจำเป็นต้องรวบรวมรายชื่อเพื่อจัดประชุมประจำปี ตามมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น ภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชีของบริษัทจดทะเบียนของแต่ละบริษัท
จากภาพรวมการถือครองหุ้นของบริษัทจดทะเบียนแต่ละบริษัทที่สามารถจำแนกเป็นนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยฝ่ายวิจัย จะคำนวณมูลค่าการถือครองหุ้นก็ต่อเมื่อมีบริษัทจดทะเบียนมากพอที่อธิบายภาพรวมของถือครองหุ้นของทั้งตลาด โดยพิจารณาจาก
1) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่ปิดสมุดทะเบียนมีมูลค่ารวมกันแล้วมากกว่า 95% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมทั้งตลาด (Total Market Capitalization) ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวสามารถอธิบายภาพรวมของการถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทยได้
2) จำนวนหุ้นรวมจากการปิดสมุดทะเบียนของแต่ละบริษัทจดทะเบียนต้องมีความแตกต่างจากจำนวนหุ้นจดทะเบียนของหลักทรัพย์นั้นๆ ณ วันคำนวณไม่เกิน 3% (เนื่องจากการปิดสมุดทะเบียนของแต่ละบริษัทจดทะเบียนไม่ได้เกิดขึ้น พร้อมกันในวันเดียวกัน หรือไม่ได้พร้อมกันในวันคำนวณ อาจทำให้จำนวนหุ้นที่รวมได้จากข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนของบริษัทจดทะเบียนแต่ละบริษัทอาจแตกต่างจากจำนวนหุ้น ณ วันที่คำนวณ ทำให้ต้องมีการปรับข้อมูลด้วยกิจกรรม Corporate Action ต่างๆ ที่มีผลต่อจำนวนหุ้น อาทิ ข้อมูลเพิ่มทุน ลดทุน แตกพาร์ แจกหุ้นปันผล เป็นต้น เพื่อให้จำนวนหุ้นจากการปิดสมุดทะเบียนเท่ากับหรือใกล้เคียงกับจำนวนหุ้นจดทะเบียน ณ วันคำนวณ
และเมื่อได้จำนวนหุ้นในการถือครองแล้วจะคำนวณมูลค่าจากราคาปิด (Closing Price) ณ วันที่คำนวณ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบถึงมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนของต่างประเทศ และจากข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนชุดนี้จะให้ทราบถึงสัญชาติและประเภทหลักทรัพย์ตามสิทธิการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเปิดเผยข้อมูลนี้ปีละครั้ง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ติดตามการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาโปรแกรมคำนวณมูลค่าการถือครองหุ้นอัตโนมัติจากข้อมูล Big Data เพื่อให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงรายวันได้
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ติดตามการเคลื่อนไหวของการถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทยได้อย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาโปรแกรมอัตโนมัติในการคำนวณมูลค่าการถือครองหุ้น โดยใช้จากข้อมูล Big Data จากระบบต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตามภาพที่ 3) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้น ได้แก่ 1) ข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อในฐานข้อมูลนายทะเบียน 2) ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นเนื่องจากกิจกรรม Corporate Action ต่างๆ รวมทั้งงานเครดิตหุ้นในระบบนายทะเบียนหลักทรัพย์ และ 3) ข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งช่วยให้สามารถติดตามสถิติการถือครองหุ้นได้รวดเร็วขึ้น ลดจำนวนคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องและลดข้อผิดพลาดจากการทำงานของผู้วิจัย (Human Error) ซึ่งได้ทดสอบระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2564 และพบว่าได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับมูลค่าการถือครองหุ้นที่คำนวณจากข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนที่เปิดเผยปีละครั้งตามที่กล่าวแล้วมาข้างต้น
ในการจำลองพอร์ตการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ จะคำนวณจากจำนวนหุ้นรายวัน โดยพิจารณาตั้งแต่วันที่นักลงทุนมีการถือครองหุ้นของบริษัทจดทะเบียนแต่ละบริษัท โดยข้อมูล “จำนวนหุ้น ณ ต้นวัน” อาจเป็นจำนวนหุ้นการได้มาการจองหุ้น IPO หรือ จำนวนหุ้นที่ปรากฏตามข้อมูลการปิดสมุดทะเบียน หรือจำนวนหุ้นในการถือครอง กระทบยอดด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่ผลต่อยอดหุ้น และสุดท้ายจะได้ “จำนวนหุ้น ณ สิ้นวัน” ตามและ “จำนวนหุ้น ณ สิ้นวัน” จะกลายเป็นข้อมูลตั้งต้น หรือ จำนวนหุ้น ณ ต้นวัน ของวันถัดไป ตามรายละเอียดข้างล่างนี้
(หมายเหตุ: ตัว x เป็นตัวเลขแทนจำนวนหุ้น ซึ่งแต่ละกิจกรรมไม่ได้เป็นจำนวนเดียวกัน)
สำหรับมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ ณ สิ้นวัน ของทั้งตลาด จะได้จากผลรวมของการคูณจำนวนหุ้นในการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศของแต่ละหลักทรัพย์ (Holding Shares) ณ สิ้นวัน กับราคาหลักทรัพย์นั้นๆ ณ สิ้นวัน (Closing Price) อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่บริษัทจดทะเบียนปิดสมุดทะเบียน ข้อมูลการถือครองหุ้นจากการปิดสมุดทะเบียนนั้นๆ จะถูกนำมาเป็นข้อมูลตั้งต้นในการคำนวณใหม่เพื่อลดความคลาดเคลื่อนของมูลค่าการถือครองหุ้น
ดังนั้น จากการจำลองพอร์ตการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่สามารถใช้เพียงข้อมูลการซื้อขายสุทธิเป็นเพียงปัจจัยเดียวในการอธิบายได้
ดังนั้น ในบางช่วงเวลาที่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของข้อเท็จจริง ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเผยแพร่มูลค่าการถือครองหุ้นที่เป็นผลจากการคำนวณของโปรแกรมอัตโนมัติเพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริง และในฉบับต่อไปจะมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการซื้อขายหลักทรัพย์และการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศจากข้อมูลตัวเลขสถิติต่อไป
ข่าวเด่น