ผู้ว่าแบงก์ชาติระบุ เศรษฐกิจไทย ถ้าจะให้เติบโตอย่างยั่งยืน ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ และลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งยกระดับประสิทธิภาพแรงงานอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโต ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้แค่ 3% ไม่สามารถเติบโตได้มากกว่านี้
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งยกระดับประสิทธิภาพแรงงานอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะหากไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเติบโตได้แค่ 3% เท่านั้น โดยไม่สามารถเติบโตไปได้มากกว่านี้
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวย้ำว่า การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่านี้ จะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ปรับโครงสร้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพ มีการลงทุนมากขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย ซึ่งคงไม่ใช่เพียงแค่การใช้มาตรการกระตุ้นแต่เพียงเท่านั้น เพราะหากไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการยกระดับประสิทธิภาพแรงงานอย่างจริงจัง ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็จะเติบโตอยู่ได้ในระดับที่ 3% ไม่สามารถเติบโตได้มากกว่านี้
“การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน เป็นแต่เพียงการกระตุ้นชั่วคราว สักพักก็จะกลับมาเหมือนเดิม แต่หากจะให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้มีศักยภาพกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการยกระดับศักยภาพที่แท้จริงให้กับประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเรากระตุ้นกันมาเยอะแล้ว ซึ่งก็ไม่ยั่งยืน ฉะนั้นตราบใดที่เราไม่ปรับโครงสร้างใหม่ครั้งใหญ่ ยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน เพิ่มคุณภาพแรงงานด้าน R&D ซึ่งจะนำมาซึ่งการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ GDP ก็จะโตได้แค่ 3% เพราะศักยภาพมีเท่านี้” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวถึงแบบจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้ทำแบบจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจ บนเงื่อนไขศักยภาพของประเทศในปัจจุบันที่ยังไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เห็นได้ว่าในช่วงปี 2566-2571 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 3% และเป็นการยากอย่างมากที่จะกลับไปเติบโตได้สูงถึง 4-5% เหมือนในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน เพราะเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และไม่มีการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเหมือนประเทศอื่น ขณะที่ภาคประชาชนเอง ทั้งลูกจ้างนอกภาคเกษตร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีความยากลำบากในการดำรงชีพ รายได้น้อย ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีหนี้สินเยอะ จึงก่อให้เกิดภาวะ ”หลุมรายได้” ที่เกิดจากรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นไปตามกาลเวลา แต่กลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ผู้ว่าการธปท. ยังฉายภาพเศรษฐกิจไทยรายไตรมาสของปี 2567 ว่า ไตรมาส 1/2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.5% ส่วนไตรมาส 2 คาดจะเติบโตใกล้เคียง 2% และไตรมาส 3 คาดเติบโตใกล้เคียง 3% ไตรมาส 4 คาดเติบโตใกล้เคียง 4% ส่วนปี 2568 คาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปีจะเติบโตได้เพียง 3% เท่านั้น ถ้าประเทศไทยยังไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดังที่กล่าวมา
ข่าวเด่น