อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนมิ.ย. 2567 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ โดยอยู่ที่ 0.62% YoY และพลิกกลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ -0.31% MoM โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
• ราคาหมวดค่าไฟฟ้าปรับลดลง หลังจากปัจจัยฐานต่ำในเดือนพ.ค. 2566 นั้นสิ้นสุดลง ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้ามีการตรึงที่ 4.18 บาท/ หน่วยอย่างต่อเนื่องในเดือนพ.ค.-ส.ค. 2567 ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อเดือนมิ.ย. 2567 ลดลง 0.19% YoY (รูปที่ 1)
• ราคาผักผลไม้สดปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า หลังผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากสิ้นสุดอากาศร้อนจัดและมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแรงส่งต่อเงินเฟ้อในภาพรวมลดลงมาอยู่ที่ 0.10% YoY จาก 0.46% YoY ในเดือนก่อนหน้า (รูปที่ 1)
• ราคาหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ -0.17% MoM แม้ยังคงเร่งขึ้นหากเทียบกับปีก่อนหน้าที่ 5.70% YoY จากปัจจัยฐานต่ำ โดยราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลในประเทศยังคงถูกตรึงไว้ที่ระดับไม่เกิน 33 บาท/ ลิตร หลังจากมีการปรับขึ้นเป็นขั้นบันไดจากระดับ 29.94 บาท/ ลิตร มาอยู่ที่ 32.94 บาท/ ลิตรในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมา
• หากหักราคาอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมิ.ย. 2567 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยโดยอยู่ที่ 0.36% YoY สะท้อนแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ยังคงอ่อนแรง
ในช่วงไตรมาส 2/2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยเร่งขึ้นจากในช่วงไตรมาสแรกมาอยู่ที่ 0.78% YoY ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในไตรมาส 2/2567 ทรงตัวอยู่ที่ 0.38% YoY ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 0.0% YoY และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 0.41% YoY
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งปีหลังของปีเร่งสูงขึ้นและกลับสู่กรอบเป้าหมายของกนง.ที่ 1-3% โดยยังคงประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2567 ที่ 0.8% โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ใกล้เคียง 1.0% ในไตรมาส 3/2567 และอาจเร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ราว 2.0% ในไตรมาส 4/2567 (รูปที่ 2) ตามปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า ประกอบกับภาครัฐอาจมีการทยอยลอยตัวราคาพลังงานในประเทศเพิ่มเติม หลังการตรึงราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศที่ 33 บาท/ ลิตร จะสิ้นสุดลงปลายเดือนก.ค. 2567 นี้ ท่ามกลางภาระหนี้กองทุนน้ำมันและกฟผ. ที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคาดว่าจะยังทรงตัวในระดับสูงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือนต.ค. 2567 ก็จะเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 4/2567
ข่าวเด่น