ที่มา : ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
เศรษฐกิจไทยโตช้าลงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงก่อนปี 1997 เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวดีเฉลี่ยร้อยละ 7.5 แต่ช่วงหลังออกจากวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยก็ขยายตัวเหลือเฉลี่ยร้อยละ 5 และช่วงหลังเกิดปัญหาวิกฤตการเงินโลก (Global Financial Crisis) อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจก็เหลือเฉลี่ยราวร้อยละ 3 และในช่วงหลังโควิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ลดลงและมีแนวโน้มจะโตเฉลี่ยร้อยละ 1.5 เท่านั้น
นอกจากเศรษฐกิจจะโตต่ำแล้ว ยังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในอาเซียน จากข้อมูลรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ฉบับล่าสุด (3 ก.ค. 2567) โดยของธนาคารโลก พบว่า ค่าเฉลี่ยตั้งแต่หลังโควิดเมื่อปี 2019 จนถึงปี 2023 หรือหลังเกิดวิกฤตโควิดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 4 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
กล่าวคือ ถ้าดูระดับ GDP ของไทย โดยปักหมุดเริ่มต้นตอน covid (Q4 ปี 2019) ถึง Q4 2023 จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีระดับการฟื้นตัวช้ากว่าทั้ง 4 ประเทศถึงร้อยละ 9-15 ตัวอย่างเช่น เมื่อดูระดับการฟื้นตัว GDP ของไทยเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์ จะเห็นว่า GDP ของฟิลิปปินส์ฟื้นตัวเร็วกว่าไทยราวร้อยละ 9 และเวียดนามมีระดับการฟื้นตัวของ GDPสูงกว่าไทยถึงร้อยละ 15 เป็นต้น
“ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลกระบุว่าแม้ทุก ประเทศในอาเซียนจะเผชิญปัญหา (Shock) เช่นเดียวกัน แต่ไทยกลับได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่า เนื่องมาจากไทยมีเศรษฐกิจที่เปิดมากกว่าและพึ่งพาภาคต่างประเทศ (External Sector) เช่น ส่งออกและท่องเที่ยวอย่างมาก หรือกว่าร้อยละ 10 ของ GDP
ทั้งนี้ ธนาคารโลกประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP ไทยในปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากร้อยละ 2.8 (คาดการณ์เมื่อเม.ย.67) ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่า GDP มาเลเซียที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.7, อินโดนีเซีย ร้อยละ 5.0, ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 6.1, และเวียดนามร้อยละ 6.5
นอกจากนี้ ในรายงาน World Bank ยังประมาณการด้วยว่า ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (Potential Growth) ในระยะปานกลาง (ปี 2023-2030) การเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ลดลง จากศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่อช่วง 10 ปีก่อน (ปี 2011-2021) ที่ราวร้อยละ 3.2 และต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตโดยเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) ที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ในช่วงที่เหลือของทศวรรษ 2020 (หรือระหว่างปี 2020-2029)
สาเหตุหลักที่ศักยภาพเศรษฐกิจไทยลดลง เนื่องจากผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity) ที่ชะลอตัวและล้าสมัย (Aging) ดังนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงโดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง จะขัดขวางความก้าวหน้าในการลดความยากจน (Poverty) และความเหลื่อมล้ำ (Inequality)
อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกมองว่ามีโอกาสที่ไทยจะยกระดับศักยภาพการเติบโตขึ้นอีกกว่าร้อยละ 1 จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 2.7 ไปสู่ระดับราวร้อยละ 4 ผ่านการลงทุนที่เพิ่มขึ้น (Investment Surge), การปรับปรุงภาคการศึกษาและสาธารณสุข (Education and Health Improvement) ไปจนถึงการปฏิรูปทางสังคมและตลาดแรงงาน (Social and Labor Market Reforms)
สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งประเมินศักยภาพเศรษฐกิจไทยพบว่าลดลงเช่นกัน “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธปท.กล่าวในงาน ‘Meet the Press: ผู้ว่าการพบสื่อมวลชน’ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2567 ระบุว่า หากอิงจากแบบจำลองของ ธปท. พบว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยระยะปานกลาง(2566-2571) ลดลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 จากช่วง 10 ปีก่อนโควิด-19 เฉลี่ออยู่ที่ร้อยละ 3.0-3.5 และหากต้องการเพิ่มระดับศักยภาพให้เกินร้อยละ 3 จะต้องให้มีการลงทุนใหม่ ในโครงสร้างพื้นฐาน มีการวิจัยและพัฒนา (R&D) คุณภาพแรงงาน แต่หากไม่มีลงทุนใหม่ และดำเนินการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ เศรษฐกิจไทยก็ยากที่จะกลับไปโตได้สูงถึงร้อยละ 4-5
“ถ้าอยากให้เศรษฐกิจโตมากกว่าร้อยละ 3 จะต้องแก้เชิงโครงสร้าง ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่หากจะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น สุดท้ายเศรษฐกิจก็จะกลับไปโตที่ราวร้อยละ 3 อยู่ดี” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
สำหรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในขณะนี้กำลังค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ โดยธปท.คาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.6 และร้อยละ 3.0 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ
“ตอนที่เราพูดว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ ผมต้องยืนยันว่า ไม่ได้หมายความว่าคนไม่ได้ลำบากนะ เราทราบดีว่าตัวเลขเหล่านั้นเป็นตัวเลขภาพรวม แต่ซ่อนความทุกข์และความลำบากของประชาชนไม่น้อย” ผู้ว่าการธปท. กล่าว
ผู้ว่าการธปท.ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพของประชาชน 2 กลุ่มคือ ลูกจ้างนอกภาคเกษตร (18 ล้านคน) และผู้ประกอบอาชีพอิสระ (10 ล้านคน) โดยหากปักหมุดระดับรายได้ก่อนโควิดของลูกจ้างทั้ง 2 กลุ่มที่ 100 พบว่าลูกจ้างนอกภาคเกษตรตอนนี้รายได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ108.9 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ9 ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระกลับมาอยู่ที่ระดับ 109.2 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ถึงแม้รายได้จะกลับมาในระดับที่สูงกว่าจุดเริ่ม แต่มี ‘หลุมรายได้’ มหาศาลที่เกิดขึ้นระหว่างทาง (หลุมรายได้ของอาชีพอิสระคือช่องว่างของกราฟเส้นปะสีแดง กับ กราฟเส้นสีเทาเส้นล่าง)
“พูดง่ายๆ คือ มีรายได้ที่หายไปผิดปกติ เหมือนเขามีหลุมรายได้ แต่ตัวเลขภาพรวม ไม่ได้สะท้อนความลำบากของประชาชนจากรายได้ต่างๆที่หายไปในขณะที่รายจ่ายที่วัดจากค่าครองชีพมีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะถ้าดูดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเห็นว่าจากเดิมที่อยู่ที่ 100 วิ่งมาที่ 107.2 “ ผู้ว่าการธปท. กล่าว
ดังนั้น แม้ระดับรายได้ของอาชีพอิสระจะฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว แต่หากดูดัชนีรายได้สะสมล่าสุด ณ ไตรมาส 1 ปี 2567 ผู้ว่าการธปท.ระบุว่าอาชีพอิสระมีดัชนีรายได้สะสมอยู่ที่ 4,383 ต่ำกว่าดัชนีรายจ่ายสะสมซึ่งอยู่ที่ 5,287 ขณะที่ ลูกจ้างนอกภาคเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนทำงานตามออฟฟิศหรือมีรายได้ประจำ กลุ่มนี้ยังพอมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย โดยดัชนีรายได้สะสมอยู่ที่ 5,296 สูงกว่าดัชนีรายจ่ายสะสมที่ 5,287
สะท้อนว่ากลุ่มอาชีพอิสระยังมีความลำบากรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย เนื่องจากมีหลุมรายได้ หรือรายได้หายไปเยอะในช่วงโควิดมากกว่ากลุ่มลูกจ้างนอกภาคเกษตร
นอกจากนี้ หากดูผู้ทำงานทั้งหมด 40 ล้านคน จะเห็นว่า หลายกลุ่มอาชีพการฟื้นตัวด้านรายได้ยังกลับมาไม่ครบเท่ากับช่วงก่อนโควิด โดยเฉพาะผู้ทำงานนอกภาคเกษตรในภาคการผลิตและท่องเที่ยว
โดยในส่วนของกลุ่ม “ผู้ประกอบอาชีพอิสระ” ที่รายได้ยังไม่ฟื้นกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด ได้แก่แรงงานในธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว 3 ล้านคน, อุตสาหกรรม 1 ล้านคน และถ้าเป็นกลุ่ม “ลูกจ้าง” ก็จะเป็นลูกจ้างที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว ได้แก่ บริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว 1.5 ล้านคน (1 ล้าน 5 แสนคน) และอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง 6 แสนคน
ทั้งนี้ เมื่อรวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ และกลุ่มลูกจ้าง ที่รายได้ยังไม่กลับมา จะเห็นได้ว่ามีแรงงานประมาณกว่า 6 ล้านคน ที่ประสบปัญหารายได้ยังไม่ฟื้นไม่ได้กลับมา
ขณะที่ภาคการค้า และบริการอื่นๆ ระดับรายได้ฟื้นตัวกลับมาใกล้ระดับก่อนช่วงโควิด รวมถึงผู้ทำงานในภาคเกษตรที่ระดับรายได้กลับมาอยู่ที่ 119 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากช่วงก่อนโควิด เป็นต้น
จากข้อมูลจะเห็นว่าเศรษฐกิจโตต่ำ และศักยภาพลดลง ขณะที่เงินเฟ้อก็อยู่ระดับต่ำ แล้วทำไมธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า เงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำนั้น ไม่ได้หมายความว่า ราคาของกลับมาถูกลง เพราะราคาของขึ้นไปแล้วไม่ลง
โดยเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นไม่น้อย เช่น กลุ่มพลังงาน น้ำมัน ชัดเจน อาทิ แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 หรือจากราคาลิตรละ 27.7 บาท เพิ่มขึ้นเป็นลิตรละ 38.8 บาท ขณะที่ไข่ไก่ เดิมฟองละ 4 บาท ตอนนี้ฟองละ 5 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 รวมถึงไก่สด หมู ก็ปรับเพิ่มขึ้นแล้วไม่ปรับลง
“เงินเฟ้อที่เราทุกคนประสบ ในแง่ของค่าครองชีพ ไม่มีใครจะมองว่าต่ำเกินไป เราจึงต้องใส่ใจเงินเฟ้อ เนื่องจากเมื่อเงินเฟ้อขึ้น ราคาของขึ้นไปแล้วมันจะไม่ลง” ผู้ว่าการธปท.กล่าว
ข่าวเด่น