เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ การเมืองยุโรปมีผลต่อไทยจำกัด แต่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะส่งผลให้เกิดความปั่นป่วน


 
การเลือกตั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ในปีนี้ เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลกให้สูงขึ้นในระยะข้างหน้า 
 
ผลการเลือกตั้งทั้งในสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสสะท้อนการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองไปเป็นฝ่ายซ้ายมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้นโยบายทางการคลังมีทิศทางเพิ่มรายจ่ายภาครัฐบาลเพื่อสนับสนุนค่าครองชีพของครัวเรือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรายได้น้อย ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังในระยะข้างหน้าได้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
• สหราชอาณาจักร: ผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา พรรคแรงงาน (Labour Party) ภายใต้การนำของ เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer)ชนะแลนด์สไลด์ ถือเป็นการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองจากพรรคอนุรักษนิยม (Conservative) ครั้งแรกในรอบ 14 ปี ซึ่งพรรคแรงงานมีจุดยืนทางการเมืองไปทาง “ซ้ายกลาง” และไม่สนับสนุนแผนการปรับลดรายจ่ายภาครัฐที่รัฐบาลเดิมเสนอไว้ โดยสรุปสาระสำคัญของนโยบายของพรรคแรงงาน ดังนี้ 

 
อย่างไรก็ดี การปรับลดการขาดดุลการคลังโดยการมุ่งเน้นเพิ่มรายได้ภาครัฐจากการเลิกยกเว้นภาษีให้กับผู้มีถิ่นพำนักที่ไม่มีภูมิลำเนาในสหราชอาณาจักร ลดการเลี่ยงภาษี รวมถึงเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมโรงเรียนเอกชนและบริษัทพลังงาน มีแนวโน้มที่จะเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) ได้เพียงในระยะสั้นเท่านั้น แต่คงไม่สอดคล้องต่อแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลในระยะยาว ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังในระยะข้างหน้า
 
• ฝรั่งเศส: ผลการเลือกตั้งรัฐสภารอบที่ 2 ในวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ฝรั่งเศสเผชิญกับสภาวะ “รัฐสภาผสม” (Hung parliament) ขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลฝรั่งเศสยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากผลการเลือกตั้งที่ออกมาไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลผสม ท่ามกลางแนวนโยบายของแต่ละพรรคที่แตกต่างกัน อาจส่งผลให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพและยากที่จะออกนโยบาย ขณะที่นโยบายทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่อาจนำมาซึ่งการขาดดุลงบประมาณที่มากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ การใช้จ่ายทางการคลังที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้กลุ่มพันธมิตรพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ได้ที่นั่งในสภาสูงสุดมีแผนเก็บภาษีในกลุ่มคนรวยมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนและภาคธุรกิจในฝรั่งเศสได้

 
ขณะที่ ฝั่งสหรัฐฯ หลังการดีเบตรอบแรกผ่านไป ได้เกิดกระแสเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถอนตัวจากการเป็นตัวแทนพรรคเดโมเครต ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันยังคงมีคะแนนนิยมนำอยู่จากโพลล่าสุด (รูปที่ 1) 

ทั้งนี้ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครตจะได้เสียงข้างมากในสภา ทั้งสองพรรคล้วนมีนโยบายกีดกันการค้ากับจีน อย่างไรก็ดี หากโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี มีความเสี่ยงที่ภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนถูกขึ้นเป็น 60% รวมถึงการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ เป็น 10% นอกจากนี้ โดนัลด์ ทรัมป์มีจุดยืนไม่สนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ในด้านทางการทหาร โดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบายไม่สนับสนุนนาโต (NATO) และมีแนวโน้มตัดความช่วยเหลือทางการทหารต่อยูเครน ซึ่งอาจทำให้ประเด็นด้านสงครามคลี่คลายลง 
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ก.ค. 2567 เวลา : 15:58:52
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 12:51 pm