ธปท.เผยครัวเรือนอีสานช่วง 10 ปีที่ผ่านส่วนต่างรายได้กับรายจ่ายกว้างขึ้น เหตุหนี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าทุกภูมิภาค แต่รายได้โตต่ำ และกลุ่มมีรายได้น้อยหากจะเลื่อนชั้นให้มีรายดีขึ้นแตะ 10,000 บาทต่อเดือน ต้องใช้เวลานานถึง 32 ปี
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรื่อง “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2567 ว่า ธปท.มีหน้าที่ทั้งการดูแลเสถียรภาพการเงิน เสถียรภาพราคา และเสถียรภาพสถาบันการเงิน โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนโดยส่วนรวม “กินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน”
ในเรื่องความกินดีอยู่ดีของประชาชนในฝั่งการเงินนั้น ธปท.มองว่าหนีไม่พ้น 2 เรื่อง คือรายได้ของคนต้องเพียงพอกับรายจ่ายระยะยาว และหนี้สินต้องน้อยกว่าทรัพย์สิน
โดยด้าน “รายได้ต้องเพียงพอสำหรับรายจ่าย” หากดูภาพรวมประเทศในปัจจุบันพบว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เคยอยู่ 4-5% ในช่วงหลังลดลงมาอยู่ที่ 3% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงไม่พอที่จะทำให้มีรายได้เพียงพอสำหรับรายจ่าย และเศรษฐกิจไทยที่โตร้อยละ 3 ประโยชน์ที่ได้จากการเติบโตกระจุกตัวในบางกลุ่ม เพราะเป็นการโตแบบไม่ทั่วถึง เห็นได้จาก 40% ของการบริโภคที่โตในปี 2566 มาจากการบริโภคเพียง 10% ของกลุ่มคนรายได้สูง สะท้อนว่าการฟื้นตัวไม่ค่อยทั่วถึงทั้งในแง่ครัวเรือน และในแง่ของกลุ่มด้วย
เมื่อพิจารณาเฉพาะลดครัวเรือนอีสาน พบว่ามีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย 5,396 บาท สูงกว่าทุกภาค และพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากที่สุด 5,024 บาท ซึ่งสูงกว่าทุกภาค นอกจากนี้แรงงานกว่า 50% ของแรงงานภาคอีสานอยู่ในภาคเกษตร ทำให้การเติบโตของรายได้ไม่มากนัก เพราะพึ่งพารายได้เพียง 1 รอบต่อปี นอกจากนี้เกษตรกรอีสานอยู่ในเขตชลประทานเพียง 5% น้อยกว่าทุกภาค ที่สำคัญภาคเกษตรมีผลิตภาพต่ำ
เรื่องที่สองที่มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนคือ “หนี้สินต้องน้อยกว่าทรัพย์สิน” แต่ข้อมูลล่าสุดหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที 90.8% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าที่ ธปท.อยากเห็น
โดยสิ่งที่ธปท.เป็นห่วงและทำให้การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนของไทยยากกว่าประเทศอื่นที่มีหนี้สินครัวเรือนในระดับสูงเช่นกัน คือ หนี้สินครัวเรือนของไทยถึง 1 ใน 3 เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ หรือเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลค่อนข้างสูง ขณะที่ประเทศอื่นๆที่มีหนี้ครัวเรือนสูง ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้กู้มาซื้อบ้าน ซึ่งมีข้อดี คือ ถ้าราคาบ้านเพิ่มขึ้น ฐานะการเงินโดยรวมจะไม่แย่ลงมาก เพราะสินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับหนี้ที่มีอยู่
“บ้านเราหนี้ส่วนใหญ่ เป็นหนี้ที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง วิธีที่จะแก้จริงๆ จึงต้องทำให้รายได้เพิ่มขึ้น การแก้จึงยาก และต้องใช้เวลา ไม่มี magic solution ที่จะทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้เร็ว” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวและว่า
เมื่อดูภาระหนี้สินของเกษตรกรไทยพบว่าค่าเฉลี่ยหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรเป็นหนี้ก้อนใหญ่เกือบ 5 แสนบาทต่อครัวเรือน มากกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่นซึ่งมีหนี้เฉลี่ย 345,000 บาทต่อครัวเรือน และพบว่าหนี้โตเร็วถึง 41% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ครัวเรือนกลุ่มอื่นโตใกล้เคียงเดิม แต่เมื่อเจาะดูเป็นรายภาคพบว่า เกษตรกรอีสานมีหนี้สินโตเร็วกว่าทุกภาค หรือโต 65% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา
ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า จากปัญหาภาพรวมดังกล่าวทำให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในครัวเรือนอีสานชัดเจนใน 3 ประเด็น 1. รายจ่ายพุ่งสูงกว่ารายได้มาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี โดยในช่วงปี 2556-2566 รายได้จากการทำงานเติบโต 0.87% ต่อปี ขณะที่รายจ่ายเติบโต 1.27% ต่อปี
2.ส่วนต่างรายได้กับรายจ่ายกว้างขึ้น โดยเมื่อ 10 ปีก่อน รายจ่ายครัวเรือนอีสานอยู่ที่ราว 15,092 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน และมีรายได้ 12,754 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน หรือมีส่วนต่างรายได้กับรายจ่ายกว่า 2,000 บาท แต่ปัจจุบันส่วนต่างดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5,000 บาท และ 3. จากปัญหาส่วนต่างรายได้กับรายจ่ายที่กว้างขึ้น ทำให้ครัวเรือนอีสานต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น
“การจะแก้หนี้ให้ยั่งยืน จะแก้เฉพาะหนี้เก่า หรือกรรมเก่าไม่ได้ ต้องแก้ที่รายได้ด้วย เพราะหากรายได้ยังไม่เพียงพอ ก็จะมีหนี้ใหม่เข้ามา ทำให้ปัญหาไม่จบ ต้องแก้ให้ครบวงจร เพื่อนำไปสู่การกินดีอยู่ดี” ผู้ว่าการธปท.กล่าวและว่าในส่วนที่ธปท. ที่สามารถทำได้มี 3 แนวทางสู่ความกินดีอยู่ดียั่งยืน
1. ดูแลรายจ่าย ซึ่งธปท. จะดูแลเสถียรภาพราคา ไม่ให้เงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงเกินไป เพราะหากเงินเฟ้อสูงจะกระทบครัวเรือนรากหญ้ามากที่สุด เนื่องจากครัวเรือนที่มีสินทรัพย์ เมื่อเงินเฟ้อสูงจะทำให้มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระค่าครองชีพที่สูงได้ แต่ครัวเรือนรากหญ้าไม่มีสินทรัพย์รองรับ
2. ดูแลให้รายได้โตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นวิธีเดียว คือ ต้องมาจากผลิตภาพและประสิทธิภาพของแรงงาน ซึ่งเรื่องนี้ธปท. อาจไม่ใช่บทบาทหลัก แต่ที่ธปท. ดำเนินการได้คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่มีต้นทุนที่ถูก และให้ทุกคนเข้าถึงสินเชื่อได้ รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและระบบการชำระเงินต่างๆ เช่น พร้อมเพย์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องการสร้างโอกาส อย่างเช่นเรื่องอี-เมิรซ์ เป็นต้น
และ3. แก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งปัญหาหนี้สินอยู่กับเรามานานมาก โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมานาน ซึ่งธปท.ได้เตือนเรื่องนี้มานาน แต่หนี้สินก็ยังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงโควิด หนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูงถึง 90% ต่อจีดีพี ซึ่งสูงกว่าระดับที่ควรมีอยู่สำหรับเสถียรภาพของประเทศ โดยเกณฑ์ตัวเลขที่ต่างประเทศใช้และอยากเห็น คือ 80% ต่อจีดีพี
“หากหนี้สินครัวเรือนยังเติบโตไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็จบไม่ดี อารมณ์เหมือนสไตล์ที่เราเห็นเมื่อปี 2540 ที่เราผ่านมาแล้ว เราอยากเห็นการเติบโตในระดับที่เหมาะสม ไม่เร็วเกินไป และไม่ช้าเกินไป เพราะถ้าเหยียบเบรก เร็วและแรงเกิน เศรษฐกิจจะสะดุด” ผู้ว่าการธปท.กล่าว
ดังนั้น ธปท.จึงต้องดูแลหนี้ใหม่ ให้โตในระดับที่เหมาะสม ที่สำคัญต้องแก้กรรมเก่า หรือหนี้เก่าที่มีอยู่ ซึ่งธปท.ดำเนินการมาตลอด และตอนนี้มีมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินอย่างเป็นระบบและครบวงจรตั้งแต่เริ่มต้นก่อหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ และแก้หนี้
ด้าน ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานว่า หลังวิกฤติโควิดเศรษฐกิจอีสานโตต่ำกว่าเศรษฐกิจประเทศ และธปท.คาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า (2566-2568) ยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ช้าหรือโตเฉลี่ยประมาณ 1% ต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศที่คาดว่าจะโต 3.0%
จะเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศว่าโตต่ำแล้ว แต่เศรษฐกิจอีสานต่ำกว่าประเทศอีก และหากดูอัตราการขยายตัวเฉลี่ย (GRP) ของภาคอีสานในภาพรวมอาจแตกต่างจากความเป็นอยู่จริงของคนอีสาน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก่อนช่วงโควิดเศรษฐกิจอีสานขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4 แต่รายได้ครัวเรือนอีสานโตเพียง 1% และการกระจายรายได้ไม่ดี
โดยในปี 2556 หรือ 10 ปีที่แล้วค่าเฉลี่ยของรายได้ครัวเรือนอีสานต่อปีอยู่ที่ 164,000 บาท หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 13,000 บาท แต่ที่น่าสนใจคือมีครัวเรือนอีสานถึง 69% ที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย หรือมีรายได้ไม่ถึง 13,000 บาทต่อเดือนต่อครอบครัว
ต่อมาอีก 10 ปี หรือในปี 2566 ค่าเฉลี่ยของรายได้ครัวเรือนอีสานต่อปีต่อครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 181,000 บาท เฉลี่ยประมาณเดือนละ 15,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นราว 10% หรือเฉลี่ยปีละ 1% แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือยังมีครัวเรือนอีสานร้อย 67% ที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยใกล้เคียงเดิม
สะท้อนว่ารายได้ครัวเรือนอีสานโดยรวมที่เติบโต 1% ยังกระจุก ไม่กระจายทั่วถึง หรือครัวเรือน 67% ยังไม่ได้ผลตอบแทนที่เป็นสัดส่วนที่เหมาะสม
“ถ้าโครงสร้างเป็นแบบนี้ และรายได้เพิ่มขึ้นแค่นี้ ตกถึงมือครัวเรือนแค่นี้ แถมยังกระจายตัวไม่ดี จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง” ดร.ทรงธรรมกล่าวและว่า
จากโครงสร้างดังกล่าวธปท.คำนวณพบว่า ถ้าแบ่งรายได้ของครัวเรือนอีสานเป็นเหมือนขนมชั้น ชั้นล่างสุดเป็นเป็นคนมีรายได้น้อย 40,500 บาทต่อปีต่อครัวเรือน หรือเฉลี่ยเดือนละกว่า 3,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน การที่คนรายได้ชั้นล่างหรือกลุ่มที่มีรายได้น้อยจะเลื่อนชั้นให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่ากับกลุ่มคนชั้นบน หรือขนมชั้นชั้นที่สอง ที่มีรายได้ 114,000 บาทต่อปีต่อครัวเรือน หรือประมาณเกือบ 10,000 บาทต่อเดือน ถ้าเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ โครงสร้างยังเป็นแบบนี้ ต้องใช้เวลานานทั้งสิ้นถึง 32 ปีกว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าคนอีสานส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
“คนมีรายได้น้อยจะเลื่อนชั้นรายได้จากกกว่า 3,000 บาทต่อเดือนเป็นเกือบ 10,000 บาทต่อเดือน ต้องใช้เวลานานถึง 32 ปี นี่คือความเรื้อรังของชาวอีสาน” ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าว
ข่าวเด่น