ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin Tilapia) เป็นชนิดพันธุ์ปลาต่างถิ่นรุกราน ที่สามารถปรับสภาพให้อาศัยอยู่ได้ใน 3 น้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม เป็นปลาที่มีความแข็งแรง สามารถอยู่ในสภาพน้ำที่ไม่สะอาดได้ ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดใน 14 จังหวัดติดชายฝั่งทะเล จนเกิดกิจกรรม “ไล่ล่า” ปลาตัวร้ายแห่งสายน้ำให้สิ้นซาก
ข้อมูลเว็บไซด์ของกรมประมง รายงานว่า ไทยมีการส่งออกปลาหมอสีคางดำ เป็นปลาสวยงามอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2556-2559 (ดังตารางแนบ) จำนวนรวมแล้วมากกว่า 320,000 ตัว มูลค่าส่งออกรวม 1,510,050 บาท ส่งออกไป 15 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา ซิมบับเว ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รัสเซีย มาเลเซีย อาเซอร์ไบจาน เลบานอน ปากีสถาน อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล อิหร่าน โปแลนด์ และตุรกี โดยมีปริมาณการส่งออกรวมเฉลี่ยในแต่ละปี ตั้งแต่ 10,000-100,000 ตัว
จึงเกิดการตั้งข้อสังเกตว่า กรมประมงมีการอนุญาตให้มีการนำปลาหมอสีคางดำเข้าในราชอาณาจักรเพียงรายเดียว เพื่อการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ตามเงื่อนไขของกฎหมาย แล้วพ่อแม่พันธุ์ที่ใช้เพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เพื่อการส่งออกมาจากที่ไหน? แล้วใครเป็นผู้นำเข้า?
อธิบดีกรมประมง บัญชา สุขแก้ว ยอมรับว่ามีสัตว์เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) หลายชนิด ระบาดในประเทศไทย ขณะที่ปลาหมอสีคางดำอาจมีที่มาได้ 2 สมมุติฐาน คือ 1. การลักลอบนำเข้ามาในประเทศ จากกรณีที่มีการจับการลักลอบนำเข้าซึ่งปลาปิรันยา ได้ที่ดอนเมือง 2. การขออนุญาตนำเข้าปี 2553 เพื่อทดลองวิจัยปรับปรุงพันธุ์ปลานิล ที่อาจมีการหลุดรอดได้
กรมประมง มีการรายงานว่า ในปี 2553 บริษัทเอกชนรายหนึ่งมีการนำเข้าปลาหมอสีคางดำจำนวน 2,000 ตัว ซึ่งพบว่าปลามีสุขภาพไม่แข็งแรงและมีการตายจำนวนมากในระหว่างขนส่ง ทำให้เหลือปลาที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแอเพียง 600 ตัว ซึ่งได้รับการตรวจสอบ ณ ด่านกักกันโดยกรมประมง และด้วยสภาพปลาที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงทยอยตายต่อเนื่อง จนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัย โดยมีการทำลายซากตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลาที่ดองในฟอร์มาลีนทั้งหมด 50 ตัวไปยังกรมประมง เรียกว่าพับแผนทุกอย่างและยกเลิกการทดลองวิจัยปรับปรุงพันธุ์ไปโดยสิ้นเชิง
และในปี 2560 ที่เริ่มพบว่ามีการระบาดของปลาหมอสีคางดำ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ได้เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของบริษัท ใน จ.สมุทรสงคราม เพื่อดูสภาพแวดล้อมและฟังบรรยายสรุปการดำเนินการทั้งหมด โดยนักวิจัยของภาคเอกชนยืนยันว่าบริษัท ไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาด เนื่องจากได้ทำลายปลาทั้งหมดตามหลักวิชาการเรียบร้อยแล้ว
จากนั้น ปี 2561 กรมประมงมีการแก้ไขประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้ามนำเข้าปลาหมอสีคางดำ ลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 หากแต่ช่วงก่อนหน้าออกประกาศฯฉบับนี้ เป็นช่วงที่มีผู้ประกอบการรายอื่นๆลักลอบนำเข้าปลาหมอสีคางดำมาเพาะพันธุ์เป็นปลาสวยงาม เพื่อการส่งออกอย่างต่อเนื่อง นี่คือ “ช่องว่าง” ของช่วงเวลานานเกือบ 10 ปี ที่ปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย อย่างที่จับมือใครดมไม่ได้ จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครสามารถตรวจสอบและยืนยันได้ว่า ปลาหมอสีคางดำ หรือ ปลาหมอคางดำ ยังมีการลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ เพราะมีเพียงรายเดียวที่นำเข้าและทำลายถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูตารางการส่งออก (ตารางแนบ) พบว่าระหว่างปี 2556 - 2559 มีการส่งออกปลาหมอสีคางดำแบบมีชีวิต ในกลุ่มปลาสวยงามอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าหลังจากบริษัททำลายปลาทั้งหมดแล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังมีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออก แต่ไม่ปรากฏการขออนุญาตนำเข้า เรื่องนี้กลายเป็นคำถามต่อไปว่า ในเมื่อทราบตัวเลขการส่งออกตลอดช่วง 4 ปี แล้วกรมฯไม่ได้ตรวจสอบหรือว่า “ใครเป็นผู้นำเข้ามาปลาชนิดนี้มาเพื่อขยายพันธุ์ จนสามารถทำการส่งออกได้” ซึ่งไม่น่าเป็นเรื่องยากหากทำการตรวจย้อนกลับจากผู้ส่งออกดังกล่าวตั้งแต่แรก ในฐานะสื่อรวมถึงผู้ติดตามเรื่องนี้ก็ต้องดูข้อมูลให้รอบด้าน
นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการให้ข้อมูลกับประชาชนน้อยมาก ในเรื่องของปลาชนิดสามารถบริโภคได้ ยิ่งได้นามสกุล “เอเลี่ยนสปีชีส์” ด้วยแล้ว คนก็ยิ่งกลัว ทั้งที่ควรให้ความรู้และบอกประชาชนว่า ปลาชนิดนี้เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปลานิล สามารถทำเมนูต่างๆ ได้เหมือนเนื้อปลาทั่วไป มีโปรตีนและมีคุณค่าทางโภชนาการ พร้อมส่งเสริมให้มีการจับและบริโภคเพิ่มขึ้น ก็อาจกลายเป็นปลาที่ได้รับความนิยมได้ ผลที่ตามมา คือปริมาณปลาจะลดลงตามลำดับ
วันนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ อย่างบูรณาการ ระดมกำลังกันเดินหน้าตามแนวทางของกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่ควบคุมและกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด พร้อมปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง กำจัดปลาออกจากระบบนิเวศนำไปใช้ประโยชน์ สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาในพื้นที่เขตกันชน ให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลา หาแนวทางป้องกันควบคู่กับการส่งเสริมและกระตุ้นให้จับปลานำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ รวมถึงการติดตาม ประเมินผล และบริหารโครงการ เพื่อกำจัดปลาหมอสีคางดำให้หมดไปจากประเทศในที่สุด./
ข่าวเด่น